เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. ที่ตึกไทยซัมมิท ถนนเพชรบุรี นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ผู้จัดการการสื่อสารและการรณรงค์นโยบายของพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ให้สัมภาษณ์ถึงการกิจกรรม “Hackathon รัฐธรรมนูญฉบับก้าวไกล” ว่ากิจกรรมวันนี้เป็นการระดมความคิด และตนอยากพยายามฉายภาพให้เห็นถึงทางออกในการมีรัฐธรรมนูญ ที่เป็นประชาธิปไตย เป้าหมายปลายทางร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ประชาชนมีส่วนร่วมในการร่างอย่างแท้จริงเป็นอย่างไร แต่กว่าจะไปถึงตรงนั้นได้ยอมรับว่าต้องใช้เวลา เพราะหากเดินตามทางรัฐธรรมนูญฉบับปี 60 ต้องเข้าคูหาทั้งหมด 3 รอบ รอบแรกคือโหวตเห็นชอบให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) รอบสองคือเข้าไปกาว่าอยากให้ใครเป็นตัวแทนของประชาชนใน ส.ส.ร.นั้น รอบที่สามคือรับรอง ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ฉะนั้นหนทางที่ตนอยากเสนอคือ 3 ก้าว การนำไปสู่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ ก้าวแรก ปิดสวิตช์สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) หรือยกเลิกมาตรา 272 ในบทเฉพาะกาลที่ให้อำนาจ ส.ว.ในการเลือกนายกรัฐมนตรี เพราะการที่ ส.ว. 250 คน มาร่วมเลือกนายกฯ กับ ส.ส. 500 คน ทำให้ ส.ว.มีค่าเสียงเทียบเท่ากับประชาชน 7.6 หมื่นคน ส.ว. 250 เสียง ร่วมกันมีค่าเสียงเท่ากับประชาชนประมาณ 69 ล้านคน นี้เป็นสิ่งที่ขัดกับหนึ่งสิทธิหนึ่งเสียง ที่เป็นหลักพื้นฐานของประชาธิปไตยอย่างยิ่ง ก้าวแรกของการปิดสวิตช์ ส.ว.นั้น มีร่างของของภาคประชาชนที่ให้ยกเลิกมาตรา 272 และคาดว่าจะเข้าสภาใน 1-2 เดือนข้างหน้านี้

ก้าวสองเมื่อปิดสวิตช์ ส.ว.ไปแล้ว ยังมีอีกหลายมาตราที่จะต้องแก้ไข เช่น อำนาจของวุฒิสภาที่มาของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระที่ยังไม่เป็นกลาง ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี สุดท้ายก้าวสามร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้มีการตั้ง ส.ส.ร. ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนทั้งหมด และมีอำนาจในการแก้ไขทุกหมวดทุกมาตรา ตนเชื่อว่าการสร้างพื้นที่ปลอดภัยผ่าน ส.ส.ร.ให้ทุกคนที่มีความเห็นแตกต่างกันสามารถถกเถียงร่วมกันได้ หาฉันทามติให้กับสังคมได้ เป็นวิธีการที่ดีที่สุด นี่คือทั้ง 3 ก้าวในการไปสู่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่

เมื่อถามว่ารายมาตราที่พรรคก้าวไกลต้องการที่จะแก้ไขมีเรื่องใดบ้าง นายพริษฐ์ กล่าวว่า ตอนนี้อยู่ในกระบวนการที่จะตกผลึกว่ามีประเด็นอะไรบ้าง และกิจกรรมในวันนี้ เป็นส่วนหนึ่งในการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ตนคิดว่าหากพรรคเป็นรัฐบาลในการเลือกตั้งครั้งหน้าเรื่องการแก้ไขรายมาตรา และผู้บริหารสูงสุดต้องมาจากการเลือกตั้ง ไม่ใช่ผู้ว่าราชการจังหวัดที่มาจากการแต่งตั้งของกระทรวงมหาดไทยหรือราชการส่วนกลาง

เมื่อถามว่าที่ผ่านมาร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่พรรคกสนับสนุน เมื่อเสนออะไรไปก็ถูกปัดตก อย่างนี้จะแก้ไขอย่างไร นายพริษฐ์ กล่าวว่า ตนมองว่าท่าทีของสมาชิกรัฐสภาได้รับผลกระทบจากเสียงของประชาชน ยิ่งเสียงของภาคประชาชนดังเท่าไหร่ ท่าทีของสมาชิกรัฐสภาเปลี่ยนไปอย่างแน่นอน ดังนั้นยิ่งประชาชนส่งเสียงดังเท่าไหร่ส่งผลต่อท่าทีของสมาชิกรัฐสภาอย่างแน่นอน อีกเรื่องคือเราต้องใช้เวทีเลือกตั้งเป็นเวทีที่พรรคการเมืองไปขอฉันทานุมัติจากประชาชนว่าต้องการจะแก้รัฐธรรมนูญในประเด็นนี้ในมาตรานี้

“ผมคิดว่าการเปลี่ยนรัฐบาล เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งไม่ใช่แค่ในมิติของรัฐธรรมนูญ หากเปลี่ยนรัฐบาลได้ความรวดเร็วและหนทางในการแก้รัฐธรรมนูญจะสดใสขึ้นอย่างแน่นอน ที่ผ่านมาแม้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เคยประกาศในสภาภายหลังการเลือกตั้งเมื่อปี 62 ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นหนึ่งใน 12 นโยบายเร่งด่วนแต่ผ่านมา 3 ปี ผ่านมา 21 ร่างเสนอเข้าสภา ก็เห็นว่าความคืบหน้าในการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็น้อยนิด ผ่านแค่ร่างเดียวคือเรื่องระบบเลือกตั้ง ยังไม่ได้แตะหัวใจของรัฐธรรมนูญปี 60 ซึ่งอยากจะเห็นถึงความกระตือรือร้นและท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่สนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ที่พยายามจะลอยตัวเหนือปัญหาและบอกว่าเป็นเรื่องของรัฐสภา” นายพริษฐ์ กล่าว.