เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. ที่ห้องคอนเวนชัน เซ็นเตอร์ A1 รร.เซ็นทาราแกรนด์ เซ็นทรัลเวิลด์ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย (มท.) พร้อมด้วยนางวันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ร่วมกับภาคีเครือข่ายผู้นำสตรีของประเทศไทย อาทิ นายสุริยน ศรีอรทัยกุล รองประธานมูลนิธิเซฟการ์ดคิดส์ น.ส.ณัฐธ์ภัสส์ ยงใจยุทธ ผู้ช่วยรัฐมนตรีมนตรีประจำกระทรวงยุติธรรม น.ส.แรมรุ้ง วรวัธ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ น.ส.นันทิดา แก้วบัวสาย นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) สมุทรปราการนางสาวสุกัญญา ประจวบเหมาะ ประธานสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ จัดกิจกรรมพิเศษ หัวข้อ Stop Global Trafficking of Children and Women ในพิธีปิดการประชุมสุดยอดผู้นำสตรีโลก (Global Summit of Women) ประจำปี 2565 ซึ่งมีผู้นำสตรีจาก 52 ประเทศ ร่วมพิธี โดยมีนางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร ประธานกรรมการธนาคารกสิกรไทย และประธานกรรมการบริหาร บริษัทโตชิบา ไทยแลนด์ จำกัด เป็นประธานกรรมการจัดงานของประเทศไทยและไอรีน นาทิแดท เป็นประธานจัดการประชุมสุดยอดสตรีโลก

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า การค้ามนุษย์เป็นอาชญากรรมที่มีความซับซ้อน และละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง เป็นภัยคุกคามที่ส่งผลต่อความมั่นคงของโลก โดยรัฐบาลไทย ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ได้ให้ความสำคัญและสร้างความตระหนักถึงภัยอันตรายของการค้ามนุษย์ โดยได้ประกาศให้การป้องกันและการปราบปรามการค้ามนุษย์เป็นวาระแห่งชาติ ตั้งแต่ปี 2558 และมีการดำเนินงานที่ความสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี ด้านความมั่นคง ที่มีเป้าหมายให้ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข โดยมีกลไกในการบริหารจัดการภัยคุกคามทุกรูปแบบในทุกมิติแบบองค์รวม ทั้งในระดับจังหวัดและระดับประเทศ 

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า รวมทั้งมีการจัดทำแผนปฏิบัติการด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ ระยะ 20 ปี ครอบคลุมทั้ง 1.ด้านพัฒนากลไกเชิงนโยบายและการขับเคลื่อน 2.ด้านการดำเนินคดี 3.ด้านคุ้มครองช่วยเหลือ ผ่านกลไกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสหวิชาชีพ 4.ด้านป้องกัน ลดปัจจัยเสี่ยง สร้างความรับรู้เข้าใจกับกลุ่มเป้าหมายที่อาจตกเป็นเหยื่อ และ 5.ด้านพัฒนาความร่วมมือกับภาคีเครือข่าย ทั้งภายในและต่างประเทศ นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้ขับเคลื่อนนโยบาย แผนงาน และกลไกในการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก สตรีและบุคคลในครอบครัว ด้วยการบูรณาการการทำงานร่วมกับทุกภาคีเครือข่าย เพื่อให้ครอบคลุมการดำเนินงานทั้งมิติด้านการป้องกัน การช่วยเหลือ และการคุ้มครอง พร้อมทั้งเสริมสร้างระบบพัฒนาศักยภาพและความเข้มแข็งของครอบครัวและชุมชนร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในทุกระดับ

ด้านนางวันดี กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 3 วันที่ผู้นำสตรีทั่วโลก และภาคีเครือข่ายผู้นำสตรีไทยได้ร่วมกันระดมความคิดเห็นในหัวข้อต่างๆ ได้ใช้เวลาร่วมกัน เป็นเหมือนครอบครัวสตรีโลกทำให้ผู้เข้าร่วมงานการประชุมสุดยอดผู้นำสตรีโลก (Global Summit of Women) ประจำปี 2565 ได้เรียนรู้มากมายจากสิ่งเหล่านี้ ทั้งการแบ่งปันความรัก แบ่งปันประสบการณ์และความสำเร็จในการขับเคลื่อนงานในฐานะผู้นำสตรีของแต่ละประเทศ ซึ่งในช่วงท้ายของการประชุมครั้งนี้ ภาคีเครือข่ายผู้นำสตรีไทย ได้เล็งเห็นว่า “ปัญหาการค้ามนุษย์และการยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี” โดยประเทศไทยได้ดำเนินการขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วยกลไก 5P ได้แก่ 1 นโยบาย (Policy) 2 การป้องกัน (Prosecution) 3 การดำเนินคดี (Prevention) 4 การคุ้มครอง (Protection) และ 5 เครือข่ายและพันธมิตร (Partnerships) 

“เรื่องนี้ถือเป็นประเด็นปัญหาสำคัญที่ผู้นำสตรีทุกคนต้องประสานพลัง เชื่อมต่อความสัมพันธ์ทุกคนด้วยมือและหัวใจ และทำทุกอย่างที่ทำได้ เพื่อช่วยหยุดการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการค้าเด็ก รวมถึงความรุนแรงทุกรูปแบบในทั่วโลกเพราะพวกเขาคือ อนาคตของเรา และพวกเราทุกคนขอร่วมให้คำมั่นสัญญาว่าจะป้องกันปกป้องลูกหลานของเราและหยุดความรุนแรงและการค้าเด็กและสตรีให้หมดไปจากโลกของเราอย่างยั่งยืนในเร็ววัน” นางวันดี กล่าว

อย่างไรก็ตาม ภายในงานได้มีการประกาศเจตนารมณ์ในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์และความรุนแรงต่อเด็กและสตรี และร่วมนำผู้นำสตรีทั่วโลก ร่วมขับร้องบทเพลง I Am Woman เพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งการประกาศความร่วมมือของผู้นำสตรีในการร่วมเป็นภาคีเครือข่ายในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ การค้าเด็กและสตรี และความรุนแรงต่อเด็กและสตรีทั่วโลกอย่างยั่งยืน.