เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ได้อกแถลงการณ์ 90 ปี ประชาธิปไตยไทย โดยมีใจความสรุปว่า ในโอกาสครบรอบ 90 ปี การเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาเมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2475 และวันประกาศใช้บังคับพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามฉบับแรกของไทยภายหลังการเปลี่ยนแปลง เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. 2475 ครบรอบ 90 ปีที่ผ่านมา ถือว่าประเทศไทยเดินทางมาไกลมากแล้ว เหลือเพียงแต่หล่มอำนาจที่ประเทศไทยติดอยู่ไม่กี่ประการ โดยในยุคสมัย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และคณะ พยายามจะปกครองประเทศด้วยระบอบอำนาจนิยม โดยอาศัยกลุ่มพรรคพวกตนเองสร้างระบอบคณาธิปไตยในยุคใหม่ขึ้น โดยไม่ใส่ใจและเรียนรู้ประวัติศาสตร์ชาติไทยและความเป็นมาที่ประชาชนไทยต่อสู้เพื่อความเป็นไท มาอย่างยาวนาน

ดังนั้น เพื่อให้สังคมประชาธิปไตยของไทยพัฒนาต่อเนื่องต่อไปสู่สังคมแห่งภราดรภาพและสมานฉันท์ บ้านเมืองร่มเย็นเป็นสุขและเกิดความเป็นธรรมในศตวรรษที่ 21 ประเทศไทยจึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนระบอบอำนาจนิยมไปสู่สังคมประชาธิปไตยที่ยั่งยืนโดยการกระจายอำนาจทั้งทางสังคม การเมือง เศรษฐกิจ การเงินการคลัง โดยมีระบบเศรษฐกิจที่เป็นธรรม มีการแบ่งปันเพื่อสังคมและใส่ใจในสิ่งแวดล้อม จึงต้องแก้ไขความขัดแย้งโดยรวม ดังนี้ 1.ต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ไม่ชอบด้วยหลักการประชาธิปไตย ยกร่างใหม่ทั้งฉบับ โดยการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) จากประชาชน เพื่อสร้างกติกาประชาธิปไตยที่ประชาชนมีส่วนร่วมในการออกแบบความสัมพันธ์ทางอำนาจอย่างแท้จริง ขอให้ดำเนินการโดยเร็ว หลังจากประชาชนหลายหมื่นคนลงชื่อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ยกเลิกอำนาจ ส.ว. ในการเลือกนายกฯ ซึ่งจะเข้าสู่การพิจารณาในสภา เร็วๆ นี้

2.ต้องมีการกระจายอำนาจทางการเมือง การปกครองออกไปสู่ท้องที่ ยกเลิกการรวมศูนย์อำนาจและการบริหารราชการส่วนภูมิภาค จัดตั้งประชาธิปไตยทางตรงและสภาพลเมืองในแต่ละท้องถิ่น เพื่อตรวจสอบถ่วงดุลฝ่ายบริหาร โดยให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดในทุกจังหวัด หรือยุบเลิก โดยให้นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดที่มาจากการเลือกตั้งทำหน้าที่และมีอำนาจทั้งหมดแทนผู้ว่าราชการจังหวัด

3.ต้องมีการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจ หยุดการผูกขาดของกลุ่มทุนใหญ่และสร้างประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และต้องประยุกต์ ทบทวนองค์ความรู้การจัดการระบบเศรษฐกิจอื่นๆ เช่น แบบสังคมรัฐสวัสดิการ การบริการสาธารณะโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะด้านการศึกษา สาธารณสุข ขนส่งสาธารณะ การติดต่อสื่อสาร การประกันสังคม การประกันการว่างงานและการสนับสนุนระบบสหกรณ์ โดยทุกคนมีสิทธิที่จะเข้าถึงโดยเสมอภาค รวมถึงรัฐบาลต้องใส่ใจในการส่งเสริม ปกป้องและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน อำนวยให้เกิดความยุติธรรมในทุกมิติ.