เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จำนวน 2,390 คน ผ่านระบบออนไลน์ระหว่างวันที่ 20-23 มิ.ย.65 พบว่าหลังจากมีการปลดล็อกกัญชาตั้งแต่วันที่ 9 มิ.ย.65 ประชาชนรู้สึกค่อนข้างวิตกกังวล ร้อยละ 37.78 วิตกกังวลมาก ร้อยละ 32.85 โดยมองว่าการปลดล็อกกัญชามีผลเสียมากกว่า ร้อยละ 52.76 มองว่ามีผลดีและผลเสียพอ ๆ กัน ร้อยละ 30.17 ซึ่งผลดี คือใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ร้อยละ 74.96 สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ ร้อยละ 46.46 ส่วนความกังวล คือ ประชาชนขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้ที่เหมาะสม ร้อยละ 84.58 เด็กและเยาวชนเข้าถึงได้ง่าย อยากรู้อยากลอง ร้อยละ 82.16 ดังนั้นสิ่งที่ควรดำเนินการวันนี้คือจำกัดการใช้โดยเฉพาะเยาวชน สถานศึกษาควรเป็นแหล่งปลอดกัญชา ร้อยละ 88.38 มีมาตรการเฝ้าระวัง ให้ข้อมูลที่ถูกต้อง โดยเฉพาะการใช้ในอาหาร ร้อยละ 82.26 ทั้งนี้ประชาชนร้อยละ 69.54 คิดว่าการปลดล็อกกัญชาเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับการเมืองแน่นอน

น.ส.พรพรรณ บัวทอง นักวิจัยสวนดุสิตโพล กล่าวว่าจากผลโพลประชาชนมีความกังวลใจต่อการปลดล็อกกัญชาและมองว่ามีผลเสียมากกว่าถึงแม้จะเป็นประโยชน์ทางการแพทย์หรือช่วยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ ในช่วงเดือนแรกของการปลดล็อกกัญชาจึงเห็นสีสันของกัญชาในรูปแบบต่างๆมากขึ้น แต่ผลที่ตามมากลับไม่เป็นตามคาด การตลาดเกี่ยวกับกัญชามีสะดุดเพราะความไม่พร้อมของแนวทางมาตรการรองรับ กอปรกับข่าวรายวันจึงทำให้หลายฝ่ายกังวลต่อผลเชิงลบมากกว่า ดังนั้นจึงไม่แปลกใจที่หลายฝ่ายจะมองว่าการปลดล็อกกัญชา ครั้งนี้อาจเป็นส่วนหนึ่งของการหาเสียงหรือหวังผลทางการเมือง

ทางด้าน ผศ.ณัฐพร บู๊ฮวด อาจารย์ประจำหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์เครื่องสำอาง คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสวนดุสิต กล่าวว่า นอกจากการใช้ส่วนต่างๆ ของกัญชามาพัฒนาและแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหาร เครื่องสำอาง สมุนไพร และการใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้ ยังพบว่ามีการนำมาใช้สันทนาการ โดยมีกลุ่มเด็กและเยาวชน ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงอันตรายเนื่องจากไม่มีวุฒิภาวะเพียงพอ ขาดคนดูแล จะเข้าสู่วงจรยาเสพติดได้ง่าย ส่งผลต่อพัฒนาการทางสมอง

ดังนั้นมาตรการเร่งด่วนที่ต้องทำคือจำกัดการเข้าถึงของเด็ก เยาวชน สถานศึกษารวมถึงพื้นที่โดยรอบ ต้องเป็นเขตปลอดกัญชา ภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องโดยตรงหรือจะทำเพื่อ CSR ต้องให้ความรู้อย่างครบถ้วนด้วยภาษาและสื่อที่เหมาะสมกับคนแต่ละกลุ่ม ต้องมีการทุ่มเทจริงจังที่จะเสริมสร้างพื้นฐานการรับรู้ด้วยสติสัมปชัญญะของผู้คนอย่างต่อเนื่อง พร้อมด้วยมาตรฐานสินค้าและบริการที่ใช้ได้จริงไม่ยุ่งยาก ตอบสนองกับความท้าทายในการใช้กัญชาและนำไปสู่การเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่ทรงคุณค่าทั้งด้านนวัตกรรมการผลิตและด้านอรรถประโยชน์ในการบริโภค.