เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. ที่พระอุโบสถวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์ ในการบำเพ็ญพระกุศลฉลองพระชันษา 95 ปี สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันประสูติ 26 มิ.ย. 2565 โอกาสนี้ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย (มท. พร้อมด้วย นางวันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย นำคณะผู้บริหารระดับสูงของ มท. อธิบดี หัวหน้าหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ อุปนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย และผู้บริหารสำนักงานปลัด มท. ร่วมในพิธี 

การนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ ประธานองคมนตรี เชิญเครื่องสักการะพระราชทานประกอบด้วย ธูปเทียนแพ น้ำสรง พานพุ่มดอกบัว และผ้าไตร ไปถวายแด่สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันประสูติ 26 มิ.ย. 2565 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และพระบรมวงศานุวงศ์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมและโปรดให้เชิญแจกันดอกไม้ไปถวายสักการะแด่สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกด้วย

ในการนี้ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงจุดธูปเทียนบูชาพระพุทธอังคีรส พระประธานพระอุโบสถ ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยบูชาพระอัฐิ, อัฐิพระบุพการีและบูรพาจารย์ แล้วประทับพระเก้าอี้ โดยเมื่อพระราชาคณะ จำนวน 20 รูป สวดมาติกาจบ ทรงพระดำเนิน ไปทรงทอดผ้าไตร พระสงฆ์สดับปกรณ์ ทรงหลั่งทักษิโณทก พระสงฆ์ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก โดย พล.อ.ม.จ.เฉลิมศึก ยุคล พล.อ.ม.จ.จุลเจิม ยุคล พันโท หม่อมเจ้านวพรรษ์ ยุคล นายสุทธิพงษ์ นายอัศวิน เตชะเจริญวิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) ร่วมถวายเครื่องไทยธรรมในการบำเพ็ญกุศลครั้งนี้ด้วย 

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก มีพระนามเดิมว่า “อัมพร ประสัตถพงศ์” ประสูติเมื่อวันที่ 26 มิ.ย. 2470 ที่จ.ราชบุรี พระชนก ชื่อนายนับ ประสัตถพงศ์ และพระชนนี ชื่อนางตาล ประสัตถพงศ์ โดยทรงบรรพชา เมื่อปี 2483 ที่วัดสัตตนารถปริวัตรวรวิหาร จ.ราชบุรี และทรงอุปสมบท เมื่อวันที่ 9 พ.ค. 2491 ที่วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม มีพระสมณฉายาว่า “อมฺพโร” โดยมีสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวราลงกรณ ขณะทรงสมณศักดิ์ที่พระเทพโมลี ทรงเป็นพระอุปัชฌาย์ และสมเด็จพระพุทธปาพจนบดี (ทองเจือ จินตากโร) ครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่พระจินดากรมุนี เป็นพระกรรมวาจาจารย์ โดยได้ทรงศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลีในสำนักเรียนวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ทรงสอบได้เปรียญธรรม 6 ประโยค 

ต่อมา ทรงสำเร็จการศึกษาศาสนศาสตร์บัณฑิต จากมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย และทรงสำเร็จการศึกษามหาบัณฑิต ด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี จากมหาวิทยาลัยพาราณสีสาธารณรัฐอินเดีย ในด้านการเผยแผ่พระพุทธศาสนา อาทิ เมื่อปี 2516 ทรงเป็นหัวหน้าพระธรรมทูต ไปทรงเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่นครซิดนีย์ เครือรัฐออสเตรเลีย ทำให้พระพุทธศาสนามีความมั่นคงและมีการขยายไปอีกหลายเมือง เช่น กรุงแคนเบอร์รา นครเมลเบิร์น และเมืองดาร์วิน เป็นต้น นอกจากนี้ ยังทรงเป็นอาจารย์สอนธรรมวินัยแก่พระภิกษุและสามเณร ทั้งได้ประทานทุนสงเคราะห์แก่ผู้เรียนดี แต่ขาดแคลนทุนทรัพย์และได้ประทานความช่วยเหลือเมื่อมีภัยพิบัติต่างๆ เพื่อสงเคราะห์ผู้ประสบภัยนั้นๆ ตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ได้รับพระมหากรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานสมณศักดิ์จากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยลำดับ ดังนี้ ปี 2514 เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระปริยัติกวี ปี 2524 เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ พระราชสารสุธี ศรีปริยัติวราทร ยติคณิสสรบวรสังฆาราม คามวาสี ปี 2533 เป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ พระเทพเมธาภรณ์ สุนทรธรรมานุนายก วิสุทธิสาธกสาธุกิจ ยติคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี ปี 2538 เป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่ พระธรรมเมธาภรณ์ สุนทรวาสนวงศวิวัฒ ศรีปริยัติกิจจานุกิจ ปาพจนวิภูษิตคุณาลงกรณ์ยติคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี ปี 2543 เป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรองที่ พระสาสนโสภณวิมลญาณอดุลสุนทรนายก ตรีปิฎกธรรมาลังการภูษิต ธรรมนิตยสาทร ศาสนกิจจานุกร ธรรมยุติกคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี ปี 2552 เป็นสมเด็จพระราชาคณะที่ สมเด็จพระมหามุนีวงศ์พิพัฒนพงศ์วิสุต พุทธปาพจนานุศาสน์ วาสนวรางกูร วิบูลศีลสมาจารวัตรสุนทร ตรีปิฎกธรรมวราลงกรณวิภูษิต ธรรมยุตติกคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี อรัณยวาสี 

และเมื่อวันที่ 12 ก.พ. 2560 ได้รับพระมหากรุณาจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก พระองค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สุขุมธรรมวิธานธำรง สกลมหาสงฆปริณายก ตรีปิฎกธราจารย อัมพราภิธานสังฆวิสุต ปาพจนุตตมสาสนโสภณ กิตตินิรมลคุรุฐานียบัณฑิต วชิราลงกรณนริศรปสันนาภิสิตประกาศ วิสารทนาถธรรมทูตาภิวุฒ ทศมินทรสมมุติปฐมสกลคณาธิเบศร ปวิธเนตโยภาสวาสนวงศวิวัฒ พุทธบริษัทคารวสถาน วิบูลสีลสมาจารวัตรวิปัสสนสุนทร ชินวรมหามุนีวงศานุศิษฏ บวรธรรมบพิตร สมเด็จพระสังฆราช.