เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. ที่รัฐสภา ผู้สื่อข่าวรายงานว่ารัฐสภาจัดเสวนาทางวิชาการ เนื่องในโอกาสครบรอบ 90 ปี รัฐสภา หัวข้อ “90 ปีรัฐสภา การเดินทางและความหวัง” โดยมีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา อดีตประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร นายโภคิน พลกุล อดีตประธานรัฐสภาและประธานสภาฯ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และอดีตผู้นำฝ่ายค้านในสภา ร่วมเสวนา

นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวตอนหนึ่งว่า ตนคิดว่าเรายังเดินทางไม่ถึงเป้าหมายไม่ถึงความฝัน และรู้สึกผิดหวังลึกๆ ในบทบาทของรัฐสภา ที่ควรจะเป็นสภาของประชาชน และเป็นประชาธิปไตยมากกว่านี้ ต้องเป็นสภาที่ได้เลือกผู้บริหารประเทศอย่างแท้จริง และทำเรื่องที่เป็นประโยชน์มากกว่านี้ รวมทั้งต้องไม่มีการซื้อเสียง งูเห่า และการแจกกล้วย ส่วนปัจจัยการทำงานของรัฐสภานั้น เราถูกเตะตัดขาจากการปฏิวัติรัฐประหาร เพราะมีขุนศึก บวกนายทุน และอำนาจนิยมที่ชอบในอำนาจ วันนี้เราก็ยังไม่พ้นวังวนนี้ จนเราได้รัฐบาลที่มาจากการก่อเหตุนี้ ที่ต้องมาคอยดูแลขุนศึก และนายทุน

นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า เราต้องสร้างจิตสำนึกประชาธิปไตยให้ประชาชน รู้สึกนึกคิดว่า การปฏิวัติเป็นสิ่งชั่วร้าย เพราะประชาธิปไตยที่กินได้ ไม่ได้เกิดจากรัฐประหาร ตนอยากถามว่า เวลาละเมิดอำนาจศาล ทำไมถึงติดคุก แต่เวลาที่มีปฏิวัติละเมิดอำนาจประชาชนทั้งประเทศ และฉีกรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ศาลกลับวินิจฉัยว่าเป็นอำนาจรัฏฐาธิปัตย์ จึงอยากฝากให้ศาลทบทวนแนวทางวินิจฉัยนี้ เพราะจะเป็นเรื่องที่ทำให้เราเดินต่อไปไม่ได้ ไม่เช่นนั้นจะเจอการรัฐประหารอีกหลายรอบ

นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวต่อว่า ส่วนเรื่องกระทู้ถามสดมีขึ้นเพื่อเป็นการวัดกึ๋นการทำงานของรัฐบาล ถ้าทำงานไม่เก่งจะมาตอบไม่ได้ เพราะเป็นการถามเดี๋ยวนั้น ตอบเดี๋ยวนั้น และต้องไม่ใช่การมอบให้รัฐมนตรีมาตอบแทน นายกฯ ต้องฟังและเข้าใจเอง อย่าบอกว่างานเยอะ เพราะมีการกำหนดแล้วว่า วันพุธ และวันพฤหัสบดี มีการประชุมสภา รัฐบาลต้องว่าง และที่รัฐสภามีห้องมากมายรองรับการทำงานของรัฐบาล ดังนั้นรัฐบาลต้องมาสภา คุณมาจากสภา เบอร์หนึ่งคือประธานรัฐสภา และสภาคือฝ่ายที่ให้เงินรัฐบาลไปบริหารประเทศ ส่วนนายกฯ คือเบอร์สอง

นายโภคิน กล่าวว่า 90 ปีรัฐสภา คือ 90 ปีประชาชนบนเส้นทางประชาธิปไตย ตนผิดหวังพอสมควร เพราะคิดว่ารัฐธรรมนูญปี 40 ตกผลึกที่สุด เชื่อว่าประเทศยังมีโอกาส อีก 10 ปี ก่อนจะครบ 100 ปีรัฐสภา เพื่อหามาตรการทางกฎหมายป้องกันการทำรัฐประหาร ตนอยากให้ผู้ที่มาจากประชาชนทุกคนลุกขึ้นสู้กดดันศาล อย่าให้คนทำลายประชาธิปไตยกลับมาสร้างประชาธิปไตยใหม่เพื่อให้เส้นทางรัฐสภามีความสง่างาม ทั้งนี้ ตนเห็นด้วยกับการตั้งกระทู้ถาม เพราะคำถามเหล่านั้นสะท้อนความทุกข์ยากประชาชน ตนอยากให้สภารับฟังเสียงประชาชน จากนั้นจัดทำรายงานเสนอเพื่อนำไปแก้ไขปัญหากันต่อไป ผู้แทนต้องสะท้อนปัญหาพื้นที่ สะท้อนปัญหาโครงสร้าง กดดันรัฐบาลและคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมช่วยกันผลักดัน

ขณะที่นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เรายังไม่มีวัฒนธรรมเหมือนกับประเทศประชาธิปไตย ที่มีระบบรัฐสภาที่ทำให้ฝ่ายบริหารเคารพฝ่ายนิติบัญญัติ เมื่อสัปดาห์ที่แล้วเกิดวิวาทะ นายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภา ตำหนิ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรมว.กลาโหม ไม่มาตอบกระทู้ นายกฯ บอกว่าแรงไปหรือไม่ ตนขอบอกว่า รองประธานสภาพูดเบาเกินไป และอยากให้นายกฯ ตระหนัก ถ้าไปดูประเทศที่ใช้การปกครองระบบรัฐสภา ผู้นำประเทศต้องถืองานสภาโดยเฉพาะตอบกระทู้เป็นอันดับหนึ่ง ซึ่งใช้เวลาประมาณชั่วโมงถึงสองชั่วโมงเท่านั้นไม่มีข้ออ้างที่จะมาตอบกระทู้ไม่ได้ เพราะทราบอยู่แล้วว่า กระทู้ถามสดเกิดขึ้นวันไหนเวลาใด ถ้าบริหารจัดเวลา 1-2 ชั่วโมงไม่ได้ จะบริหารประเทศอย่างไร การมาตอบกระทู้ไม่ใช่เป็นเรื่องเทคนิค เหมือนที่นายกฯ กล่าวไว้ แต่การมาตอบเพื่อให้เจ้าของประเทศรับทราบถึงหลักคิดบริหารประเทศ

“นักการเมือง ต้องมีความรับผิดชอบทางการเมืองสูงกว่ากฎหมาย ถ้าปล่อยให้เกิดเรื่องอื้อฉาว ไม่มีความรับผิดชอบ เราจะไม่พ้นภาพลักษณ์แย่ๆ ของนักการเมือง ความรับผิดชอบลาออกจากตำแหน่งไม่ได้แปลว่าผิด แต่เป็นการรักษากระบวนการทางการเมืองให้เดินต่อได้และรักษาศรัทธา แต่ของเรามีแต่บอกว่าให้ดำเนินการตามกระบวนการทางกฎหมาย หลงทางกระทั่งให้ศาลวินิจฉัยจริยธรรม ไม่มีที่ไหนในโลกเขาทำ อีกเรื่องคือประมวลกฎหมายจริยธรรม เมื่อไหร่ถึงจะศักดิ์สิทธิ์ นักการเมืองญี่ปุ่นลาออกจากรัฐมนตรี เนื่องจากนั่งหลับตอนแถลงข่าวช่วงบ่าย เพราะกินเหล้าตอนกลางวัน เวลาใกล้เคียงกันกับรัฐสภาเรา มี ส.ส. ดื่มจนอาละวาด ใช้เวลาสอบ 2 ปียังบอกไม่ได้ว่าเมาหรือไม่ ถ้าเป็นแบบนี้รักษาศรัทธาไม่ได้” นายอภิสิทธิ์ กล่าว.