เหลือเวลาอีกไม่กี่วัน เชื่อได้ว่าความรู้สึกคนไทยทั้งประเทศกำลังจะเป็นไท หลัง นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ออกมาเปิดเผยว่า วันที่ 1 ก.ค.65 ที่จะถึงนี้โรคโควิด-19 ในประเทศไทย จะเปลี่ยนสถานะมาใช้คำว่า ระยะหลังการระบาดใหญ่ (Post-Pandemic) คือการระบาดลดความรุนแรงลง ระบบสาธารณสุขรองรับได้ ส่วนการจะเป็นโรคประจำถิ่น ทางองค์การอนามัยโลกจะเป็นผู้ประกาศ อย่างไรก็ตามยังต้องมีการรณรงค์ฉีดวัคซีนต่อเนื่อง โดย 4 เดือนให้มาฉีดซ้ำ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง 608 ตามที่ได้มีการนำเสนอข่าวไปก่อนหน้านี้แล้วนั้น

สธ.คอนเฟิร์ม 1 ก.ค.ไทยพ้นโควิดระบาดใหญ่ตามแผน!

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ทาง เดลินิวส์ออนไลน์ ยังมีความเป็นห่วงต่อการวิถีความเป็นอยู่ของพี่น้องชาวไทย ที่อาจอยากกลับไปใช้ชีวิตตามปกติ ซึ่งต่างเข้าใจความรู้สึกกันดี แต่อย่างไรก็ตามก็ไม่อยากให้กลับไปใช้ชีวิตตามปกติแบบประมาท เนื่องจากถึงแม้โควิดจะกลายเป็นโรคประจำ แต่ก็ยังคงมาผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตอย่างต่อเนื่อง จึงหยิบยกข้อมูลของทาง โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร มานำเสนอ เพื่อเป็นอาวุธประจำบ้านไว้คอยต่อกรกับโควิด ในชีวิตประจำวัน โดยเป็นข้อมูล 5 สมุนไพรที่ช่วยเหลือผู้ป่วยติดเชื้อโควิด ที่สามารถเลือกใช้ยาสมุนไพร หรือยารักษาตามอาการได้ โดยการดูแลรักษา จะใช้ยาตามอาการเหมือนการรักษาหวัด หรือใช้สมุนไพรทางเลือกเพื่อบรรเทาอาการ ดังนี้

1.ฟ้าทะลายโจร เป็นยาสมุนไพรพื้นฐาน ที่ใช้ในการรักษาไข้ และอาการของหวัด จากการศึกษาข้อมูล พบว่า ฟ้าทะลายโจร ออกฤทธิ์ต่อเอนไซม์หลายชนิด ที่มีผลต่อการเพิ่มจำนวนของไวรัสโควิด-19 ช่วยป้องกันไม่ให้ไวรัสจับกับเซลล์ปอดได้ และฟ้าทะลายโจร ยังมีประโยชน์ในหลายกลไก

สำหรับผู้ติดเชื้อโควิด ควรได้รับฟ้าทะลายโจร หรือเปรียบเทียบปริมาณสารสำคัญ แอนโดรกราโฟไลด์ อยู่ที่ 120-180 มิลลิกรัม ต่อวัน ใช้ยารักษาต่อเนื่องกัน 5 วัน และควรใช้ทันทีที่มีอาการแสดงของหวัด เช่น ไข้ เจ็บคอ ไอ จะให้ผลการรักษาบรรเทาอาการที่ดีกว่า แต่ห้ามใช้กับผู้ที่ตั้งครรภ์ ให้นมบุตร มีประวัติแพ้ฟ้าทะลายโจร กินยาวาร์ฟาริน หรือ ท่านที่มีโรคไต และตับผิดปกติ ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญก่อนใช้ยา ในกรณีหญิงให้นมบุตร หากติดเชื้อและต้องการใช้ยาฟ้าทะลายโจร ให้หยุดการให้นมระหว่างที่ใช้ยา และหลังจากหยุดใช้ยาแล้ว 2-3 วัน จึงกลับมาให้นมบุตรได้ตามปกติ

2.มะขามป้อม มีรสเปรี้ยวฝาด ช่วยบรรเทาอาการไอ มีเสมหะ ทำให้ชุ่มคอ สามารถใช้รูปแบบยาแก้ไอ หรือเม็ดอมแก้ไอได้บ่อยครั้งตามต้องการ นอกจากนี้ยังมีการศึกษาพบว่า การชงผลมะขามป้อม เพียง 1 กรัม หรือประมาณ 3 ผลมะขามป้อมไทย สามารถช่วยเสริมการทำงานของภูมิคุ้มกันได้ สามารถใช้ได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่เพื่อบรรเทาอาการ

3.ขิง เสริมภูมิคุ้มกัน สร้างความอบอุ่น ช่วยย่อย ขับลม และช่วยบรรเทาอาการไอ ลดเสมหะ พื้นบ้านนิยมใช้เมื่อเป็นหวัดเพื่อช่วยให้ปอดอุ่น สามารถรับประทานในรูปแบบน้ำขิง หรือยาขิงแคปซูลได้เมื่อมีอาการ ระวังการใช้ขิงปริมาณสูงในผู้ที่มีไข้ตัวร้อนสูง เนื่องจากขิงมีฤทธิ์ร้อน

4.กระชาย โดยสารสกัดสามารถแสดงฤทธิ์ในการต้านไวรัสซาร์ส ในระยะหลังการติดเชื้อและยังพบว่าสาร panduratin (แพนดูราทิน) ของกระชายขาวมีฤทธิ์ในการต้านไวรัสทั้งในระยะก่อนและหลังการติดเชื้อ และยังมีฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเชื้อเอดส์ ต้านไวรัสไข้เลือดออกในกลุ่ม Flaviviridae family และยับยั้งเชื้อไวรัส picornavirus ซึ่งก่อโรคมือเท้าปาก นอกจากนี้ยังพบว่า ช่วยยับยั้งการแบ่งตัวของเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่ยังต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมในสัตว์ทดลองและในคนต่อไป ในสถานการณ์โควิด-19 สามารถใช้กระชายในรูปแบบของอาหาร และเครื่องดื่มเพื่อเสริมภูมิคุ้มกันได้

ในช่วงที่มีการระบาดของโควิด มีการใช้กระชายในผู้ป่วย ที่ไม่มีอาการไข้ตัวร้อนสูง โดยรับประทานรูปแบบแคปซูลผงกระชาย ขนาด 500 มิลลิกรัม ครั้งละ 4 แคปซูล วันละสามเวลา เป็นเวลา 5 วัน สามารถกินร่วมกับฟ้าทะลายโจรได้ แต่อาจทำให้เรอหรือผายลม การใช้ให้ได้ประโยชน์จำเป็นต้องกินทั้งเนื้อกระชายเนื่องจากตัวสารสำคัญไม่ละลายน้ำหรือละลายน้ำได้น้อย หรือ ตุ๋นกระชายกับเนื้อสัตว์อะไรก็ได้ แล้วกินทั้งน้ำและเนื้อ หรือกินกระชายเป็นผักในปริมาณมากๆ ซึ่งเป็นวิธีการใช้กระชายเป็นยาที่ดีที่สุด

เนื่องจากกระชายมีฤทธิ์ร้อน ไม่ควรรับประทานเมื่อมีไข้ หรือรับประทานขนาดสูงในผู้ที่มีภาวะกรดไหลย้อน แผลในกระเพาะอาหาร อาจทำให้ระคายเคือง และผู้ที่มีความผิดปกติของตับไต ควรปรึกษาก่อนรับประทาน การรับประทานร่วมกับยาละลายลิ่มเลือดวาร์ฟาริน (Warfarin) อาจเสริมฤทธิ์ยาได้

5.หอมแดง มีสารเควอซิทิน (quercetin) ซึ่งมีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบ ต้านการแพ้ คนไทยนิยมใช้หอมแดงช่วยบรรเทาอาการหวัด คัดจมูก ลดน้ำมูก ช่วยให้จมูกโล่งขึ้น โดยใช้หอมแดงทุบพอบุบให้เกิดกลิ่น ห่อผ้าขาวบางวางไว้ใกล้หมอนเพื่อสูดดมกลิ่น เป็นตัวช่วยแก้หวัดคัดจมูกสำหรับเด็ก ในผู้ใหญ่ สามารถรับประทานหอมแดงเป็นประจำได้ในรูปแบบของอาหาร หรือต้มเพื่อสูดดมไอน้ำ ครั้งละ 15-30 นาที หรือจนหมดกลิ่นหอม ทำได้เรื่อยๆ จนกว่าอาการจะดีขึ้น