เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. โลกออนไลน์ได้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ภายหลังจากที่ เภสัชกรรมสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ออกแถลงการณ์ แสดงจุดยืนไม่สนับสนุนการใช้กัญชาด้วยวัตถุประสงค์อื่น นอกจากวัตถุประสงค์ทางการแพทย์

โดยในแถลงข่าวระบุว่า “สืบเนื่องจากประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องระบุชื่อยาเสพติดให้โทษประเภท 5 พ.ศ.2565 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2565 ที่ยกเว้น พืชกัญชา เป็นยาเสพติดให้โทษนั้น”

เพื่อเป็นการสร้างความสมดุลในการใช้ประโยชน์จากพืชกัญชาทางการแพทย์ และการป้องกันปัญหาอันอาจเกิดจากการเสพ พืชกัญชา ในรูปแบบต่างๆ อย่างเสรีโดยไม่มีกฎหมายควบคุม ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อประเทศในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสุขภาพของประชาชนทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เภสัชกรรมสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ มีข้อกังวล และข้อเสนอแนะในเรื่องนี้ดังต่อไปนี้

  1. ไม่ควรใช้ กัญชา ในเด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี สตรีมีครรภ์ และให้นมบุตร ผู้ที่มีประวัติแพ้กัญชา ผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด, ผู้ป่วยจิตเวช, ผู้ที่มีอาการตับและไตบกพร่อง และผู้ป่วยที่ใช้ยาบางชนิดที่อาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยา (ยาตีกัน) กับ กัญชา อาทิ ยาละลายลิ่มเลือด, ยาฆ่าเชื้อ, ยาลดความดันโลหิต, แอลกอฮอล์ และยาที่มีผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง เช่น ยานอนหลับ, ยาคลายเครียด, ยาต้านอาการซึมเศร้า,ยากันชักฯลฯ

เนื่องจาก กัญชา อาจส่งผลกระทบต่อการออกฤทธิ์ของยาอื่นๆ ทำให้มีอาการไม่พึงประสงค์รุนแรงจนเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ อีกทั้งยังส่งผลต่อพัฒนาการทางสมอง ร่างกาย ควรตรวจสอบ และปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้เสมอ

  1. ไม่แนะนำให้ใช้ กัญชาเพื่อสันทนาการ หรือวัตถุประสงค์อื่นๆ นอกเหนือจากเหตุผลทางการแพทย์ เนื่องจากต้องมีการควบคุมการใช้ให้เหมาะสมภายใต้การดูแลของแพทย์, เภสัชกร, บุคลากรทางการแพทย์ หรือผู้เชี่ยวชาญ
  2. ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดให้มีการติดตามผลกระทบของ กัญชา ในทุกมิติอย่างต่อเนื่อง และจริงจัง หลังจากประกาศใช้กฎหมายกัญชาเสรี จากต้นน้ำถึงปลายน้ำ ตลอดสายห่วงโซ่คุณค่าของทุกผลิตภัณฑ์ที่มีกัญชาเป็นส่วนประกอบ ตั้งแต่การปลูก แปรรูป ผลิต และจำหน่าย ที่ต้องควบคุมตามประกาศกระทรวงฯ ต้องควบคุมการโฆษณาประชาสัมพันธ์สินค้า หรือผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกัญชา เพื่อป้องกันการจูงใจในกลุ่มเด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี ที่อาจกลายเป็นผู้เสพด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือนำไปใช้ในทางที่ผิด

เร่งประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับโทษของการใช้ กัญชา ที่มีฤทธิ์เสพติด และอาการข้างเคียง อาจเกิดผลเสียต่อสุขภาพกายและใจในระยะสั้นและระยะยาว อีกทั้งต้องทำให้ประชาชนตระหนักว่า การแพ้กัญชาสามารถเกิดขึ้นได้โดยไม่ขึ้นกับปริมาณการใช้ บางกรณีอาจเกิดแบบเฉียบพลัน และรุนแรงถึงกับชีวิต อีกทั้งในปัจจุบันยังไม่มียาต้านพิษกัญชาโดยตรง

  1. มีมาตรการควบคุมการผลิต ขายอาหาร หรือผลิตภัณฑ์ที่มี กัญชา เป็นส่วนประกอบ กำหนดให้มีการระบุหรือแสดงให้ผู้บริโภคทราบว่ามีกัญชาเป็นส่วนประกอบในอาหารหรือเครื่องดื่ม มีคำเตือนสำหรับกลุ่มเสี่ยงไม่ควรบริโภค อาการ และข้อปฏิบัติหากเกิดพิษ หรืออันตราย โดยแสดงสัญลักษณ์ เครื่องหมาย หรือคำเตือนอย่างชัดเจน
  2. ประชาชนต้องมีความตระหนัก และรับผิดชอบทั้งต่อตนเอง และส่วนรวม ไม่ควรขับรถหรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักร หลังการใช้กัญชา เพราะอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ และควรหลีกเลี่ยงการใช้กัญชาเพื่อวัตถุประสงค์อื่น นอกเหนือจากวัตถุประสงค์ทางการแพทย์ ภายใต้การดูแลของแพทย์, เภสัชกร, บุคลากรทางการแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ
  3. หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนทั้งฝ่ายปกครอง, สาธารณสุข, สังคม และสถาบันการศึกษาควรเร่งให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับกัญชา และความตระหนักรู้รับผิดชอบต่อสังคม รณรงค์ไม่บริโภคหรือใช้ “ช่อดอกกัญชา” ผสมในอาหารหรือเครื่องดื่ม
  4. รัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องให้ความมั่นใจ และสร้างความเชื่อมั่นกับประชาชนได้ว่าจะสามารถดูแลให้มีการบังคับใช้กฎหมายได้อย่างเคร่งครัด คุ้มครองความปลอดภัยไม่ให้ได้รับผลกระทบเชิงลบ เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของการประกาศใช้กฎหมายฉบับนี้

โดยต้องประเมินความเสี่ยง และติดตามสถานการณ์ที่ไม่พึงประสงค์อย่างต่อเนื่อง หากปรากฎว่าภายใน 30 วัน ภายหลังการประกาศใช้กฎหมายกัญชาเสรี พบว่า มีการนำกัญชาไปใช้ในทางที่ไม่เหมาะสม หรือเสี่ยงต่ออันตรายตามที่หลายฝ่ายกังวล ยากต่อการควบคุมให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ในระหว่างที่กฎหมายประกอบ หรือกฎหมายลูกยังไม่ได้ประกาศใช้อย่างเป็นทางการ รัฐบาลควรรีบดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใด เพื่อทบทวน หรือปรับแก้ไขข้อกฎหมาย เพื่อป้องกันความสูญเสีย หรือผลกระทบระยะยาวที่อาจเกิดขึ้นได้

  1. หลักฐานเชิงประจักษ์ที่ยอมรับกันทั่วโลกในด้านประโยชน์ของ กัญชาทางการแพทย์ มีเพียงไม่กี่ข้อบ่งใช้ ที่อาจจะช่วยรักษาหรือบรรเทาอาการเจ็บป่วย หากเปรียบเทียบกับผลเสียที่ร้ายแรงต่อสุขภาพนั้น กลับมีมากกว่าอย่างมีนัยสำคัญ ด้วยเหตุนี้ นานาอารยประเทศส่วนใหญ่ จึงจัดกัญชาให้อยู่ในกลุ่มยาเสพติดให้โทษ มีการควบคุมการใช้อย่างเข้มงวด

การดำเนินนโยบายปลดล็อกกัญชาจากพืชเสพติด จะทำให้ประชาชนทั่วไปเข้าถึงกัญชาได้ง่าย อีกทั้งการปลูกกัญชาตามบ้านเรือนทั่วไป ยังไม่สามารถทำให้ผลผลิตที่ได้มีคุณสมบัติเป็นกัญชาทางการแพทย์ได้ ตามข้อกำหนดคุณภาพมาตรฐานด้านการปนเปื้อน คุณภาพ และปริมาณของสาระสำคัญ จึงย้อนแย้งกับเจตนารมณ์ของกฎหมายฉบับนี้

  1. เภสัชกรรมสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ขอแสดงจุดยืนไม่สนับสนุนการใช้กัญชาด้วยวัตถุประสงค์อื่น นอกเหนือวัตถุประสงค์ทางการแพทย์ และเภสัชกรทุกคน มีความยินดีที่จะให้คำปรึกษา แนะนำเกี่ยวกับข้อมูลยา และการใช้กัญชาทางการแพทย์อย่างเหมาะสมแก่บุคลากรทางการแพทย์ และประชาชน
  2. ขอเสนอให้รัฐบาลพิจารณาใช้คำว่า “กัญชาทางการแพทย์” แทนคำว่า “กัญชา” เพื่อสื่อสารให้ประชาชน หรือผู้ใช้ มีความเข้าใจตรงกับวัตถุประสงค์ของการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการนำไปใช้ในทางที่ผิด หรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ โดยเฉพาะในผู้ป่วยกลุ่มเปราะบางและเยาวชน

เภสัชกรรมสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายประสานความร่วมมืออย่างจริงจัง เพื่อเฝ้าระวังและควบคุมมิให้มีการนำกัญชาไปใช้ในทางที่ผิด อันจะส่งผลกระทบต่อสังคมในระยะสั้นและระยะยาว..

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก @เภสัชกรรมสมาคมแห่งประเทศไทย – PAT