เกิดอะไรขึ้น กับคะแนนนิยมของ “บิ๊กตู่” ถ้าพูดกันโดยไม่มีอคติ ถือว่า “บิ๊กตู่” เป็นนายกฯ ที่โชคร้าย เพราะเข้ามาบริหารประเทศในช่วงวิกฤติหลายด้าน อย่างโควิดที่ทำให้เศรษฐกิจไทยพินาศไปเยอะ ปีนี้ก็มาเจอวิกฤติราคาพลังงาน ศึกรอบด้าน อารมณ์ประมาณ “บิ๊กจิ๋ว” พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นนายกฯ ที่โดนโจมตีค่าเงินบาทตอนปี 2540

ประกอบกับตัว “บิ๊กตู่” เอง มีปัญหาในการสั่งงาน ที่ความเป็นทหารมาก่อน ทำให้อาจมองเรื่อง “ต้องใช้คนที่อยู่ในสายความมั่นคง” อยู่ตลอด ตั้งแต่เรื่องโควิด ที่สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เข้ามามีบทบาทต่อสถานการณ์เยอะมาก และมาเรื่องราคาพลังงาน ก็เห็นมอบหมายให้ สมช. วางแผนตั้งรับดูแลราคาพลังงานอีก

มันเหมือนใช้คนไม่ตรงงาน สมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ นักข่าวมักจะได้รับคำตอบเวลาสอบถามนายกฯ ถึงเรื่องปัญหาต่างๆ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ก็มักจะตอบว่า งานนี้ได้มอบหมายคนนั้นคนนี้ดู ซึ่งเมื่อก่อนคนอาจงงว่านายกฯ ทำอะไรบ้าง แต่ตอนนี้หลายคนคงเปลี่ยนความคิดไปแล้วว่า “เขามอบหมายคนที่เหมาะกับการดูแลงานนั้นๆ”

การใช้คนของ “บิ๊กตู่” ก็ยังถูกครหาเรื่องพวกพ้อง ส.ว. ที่ก็เหมือนสภาทหารแก่ แบบบางคนบอกว่า อารมณ์ประมาณตั้งพรรคพวกเกษียณมากินเงินหลวงต่อ มี “คนดีที่ไม่เคยเลือกตั้งชนะ” บางส่วนมาทำงานเป็นองค์ประชุมคอยอภิปรายบ้าง ได้ข่าวแว่วว่า ไม่เปิดเผยข้อมูลกับองค์กรเอกชนด้วยว่า สถิติการเข้าประชุมของ ส.ว. ยุคหลังๆ เป็นอย่างไร

อย่างปฏิเสธว่า “นายกฯ ไม่เกี่ยวกับ ส.ว.” เพราะ ส.ว.ชุดนี้ เป็นชุดเฉพาะกาลที่ 200 คนมาจาก คสช. เลือก แล้วกางบัญชีดูรายชื่อ ส.ว. ก็นับเอาแล้วกันว่า นายพล นายพัน กี่คน ขณะที่กับฝั่ง ส.ส. “บิ๊กตู่” ก็ดูจะไม่มีเสน่ห์นัก ในศึกซักฟอกปีที่ผ่านมา ส.ส. ออกฤทธิ์อยู่หลายคนว่า นายกฯ เข้าถึงยาก จนข่าวว่า ต้องมีการเคลียร์ใจกัน

กระแสของ “อุ๊งอิ๊ง” มาจากความอยากได้คนรุ่นใหม่ ซึ่งอานิสงส์ส่วนหนึ่งก็มาจาก “อาจารย์ทริป” นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. ที่ทำงานแบบไลฟ์ให้เห็น ใช้ซอฟต์เพาเวอร์ความบันเทิง เช่น การจัดคอนเสิร์ตตามสวน และกิจกรรมอื่นๆ ตามที่เคยประกาศ 12 เดือน 12 เทศกาล ทำให้กรุงเทพฯ ดูเป็นเมืองน่าอยู่ขึ้นเยอะ ลดอุณหภูมิทางการเมือง

ที่สำคัญคือ “อาจารย์ทริป” สื่อสารเป็น ในการแสดงภาพผู้ว่าฯ พลังล้นเหลือในการทำงาน มีปัญหาไปที่เกิดเหตุเร็ว แก้ไขอะไรเร็ว ทำให้คนอยากให้ความร่วมมือ ซึ่งการให้ความร่วมมือของประชาชนนี่เป็นตัวแปรสำคัญแล้ว สำหรับความนิยมทางการเมือง “อาจารย์ทริป” กับ “อุ๊งอิ๊ง” ก็มีภาพร่วมกันคือเป็นคนรุ่นใหม่ และมาจากสายเพื่อไทย

การสร้างการมีส่วนร่วมทางการเมืองนั้นสำคัญ สมัยรัฐบาลแม้วเขาทำมาตลอด ตั้งแต่การเชิญตัวแทนคนจนภาคส่วนต่างๆ เข้าหารือกับนายกฯ เท่าที่จำได้ อาทิ เปิดตึกสันติไมตรีรับพวกขับรถรับจ้างไปสะท้อนปัญหา หรือที่ถ่ายทอดสดมาก่อนอาจารย์ทริป คือการ ทำเรียลิตี้โชว์แก้จนที่ อ.อาจสามารถ จ.ร้อยเอ็ด จนเป็นที่ฮือฮาว่านายกฯ ติดดิน

คนชอบ ก็จะให้การสนับสนุนรัฐบาล ไม่ด้อยค่าเวลามีนโยบายอะไรออกมา ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ นั้น ชินกับวิธีการสั่งแบบทหารมากกว่าการให้ประชาชนมีส่วนร่วม เสนอความเห็น ไปจนถึงสั่งทำนอง “เชื่อผู้นำชาติพ้นภัยนะ” ซึ่งมันใช้ไม่ได้กับคนรุ่นใหม่ กลางเก่ากลางใหม่ ที่เขาก็มีความคิดของตัวเอง มีการตั้งคำถามถึงความชอบธรรมหลายเรื่อง

ถ้าจะเป็นแคนดิเดตนายกฯ อีก “บิ๊กตู่” ก็ต้องไปเรียนเรื่องการสื่อสารโน้มน้าวใจมากๆ.