เมื่อเวลา 10.20 น. วันที่ 29 มิ.ย. ที่รัฐสภา ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา หัวหน้าพรรคเศรษฐกิจไทย (ศท.) กล่าวถึงทิศทางโหวตในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ของพรรคเศรษฐกิจไทย ว่าตนได้ตัดสินใจไปแล้ว และสมาชิกพรรคตนก็ตามตน แต่ไม่ใช่ตามเพราะคำสั่ง ตามเพราะเหตุผล ตนเห็นหลักฐานหลายอย่างในการทุจริตของรัฐบาล ถ้าหากพรรคเศรษฐกิจไทยยังไปสนับสนุนรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตเหล่านี้ สมัยหน้าประชาชนเขาไม่เลือกเราหรอก เสียงสะท้อนจากประชาชนที่ตนไปหาเสียง จ.ลำปาง เขารับไม่ได้จากพฤติกรรมการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐมนตรีหลายคน

เมื่อถามถึง กรณีการโหวตไว้วางใจให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า พล.อ.ประวิตร ไม่ได้กำกับดูแลกระทรวงไหนเลย เป็นรองนายกฯ คนเดียวที่ไม่มีกระทรวง หรือหน่วยงานราชการเป็นของตัวเองเลย ลองหลับตาดูรองนายกฯ ทั้งหมดล้วนแล้วแต่บริหารกระทรวงในกำกับ แต่ พล.อ.ประวิตร ไม่มีซักกระทรวงเลย ดังนั้นจะไปอภิปราย พล.อ.ประวิตร เรื่องอะไร ถ้าจะเอาเรื่องเก่ามาพูด ตนไม่เห็นด้วย เพราะโดนอภิปรายมาทุกสมัยแล้ว

เมื่อถามว่าฝ่ายค้านจะอภิปรายประเด็นการบริหารจัดการน้ำของ พล.อ.ประวิตร หัวหน้าพรรคเศรษฐกิจไทย กล่าวว่า ในฐานะที่ตนทำเรื่องบริหารจัดการน้ำมาตลอดตั้งแต่เป็นรัฐมนตรี ตนติดตาม พล.อ.ประวิตร มาตลอด ไม่ได้ชม พล.อ.ประวิตร เพราะผูกพันส่วนตัว แต่ พล.อ.ประวิตร ใส่ใจเรื่องน้ำ เวลาเราลงพื้นที่ก็รับตอบสนองอย่างดีจากประชาชน ส่วนกรณีนายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย (พท.) ยังยืนยันว่ามีการทุจริตในกรมน้ำนั้น กรมดังกล่าวเป็นของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) สิ่งแรกเจ้ากระทรวงต้องรับผิดชอบ ขณะที่ พล.อ.ประวิตร เป็นรองนายกฯ ไม่ได้กำกับดูแล ตนไม่ได้เข้าข้าง พล.อ.ประวิตร แต่พูดถึงเนื้อหาสาระ

ผู้สื่อข่าวถามถึงการโหวตให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พรรคเศรษฐกิจไทยตัดสินใจได้หรือยัง ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า ในส่วนของนายกรัฐมนตรีขณะนี้ยังไม่เห็นสาระในการอภิปราย พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้ารัฐบาล “หากรัฐมนตรีหลายรายโดนสอย หรือเสียงส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย แม้นายกรัฐมนตรีจะยังอยู่ในหน้าที่ ในฐานะหัวหน้ารัฐบาลก็ต้องรับผิดชอบ”

เมื่อถามย้ำว่า หมายความว่าหากรัฐมนตรีหลายรายถูกโหวตไม่ไว้วางใจ ก็มีความเป็นไปได้ที่จะโหวตไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีด้วยใช่หรือไม่ ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า “รัฐบาลอาจมีความมั่นใจว่าเสียงส่วนใหญ่ยังสนับสนุนในสภาผู้แทนราษฎร แต่การบริหารราชการแผ่นดิน ที่สภาฯสะท้อนให้เห็นว่าล้มเหลว หากได้รับเสียงสนับสนุนในสภาฯ น้อย มันก็ควรที่จะต้องพิจารณาตัวเอง”

เมื่อถามว่า อาจจะไม่ต้องรอผลโหวต แต่ควรพิจารณาตัวเองเลย ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า ถ้าเป็นตน ถ้าได้ที่โหล่อย่างนั้น ก็คงจะไป เมื่อถามย้ำว่าไปหมายถึงลาออกใช่หรือไม่ ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า ต้องดูว่าขณะนี้บ้านเมืองเป็นอย่างไร ถามว่าประชาชนมีความสุขหรือไม่ ประชาชนเดือดร้อนหรือไม่ ธุรกิจระดับตั้งแต่ฐานรากจนถึงระดับกลางมีความสุขหรือไม่ ข้าวยากหมากแพงหรือไม่ ชาวบ้านบ่นทั้งเมืองแก๊สถังละ 400 บาท ตนไปหาเสียงแล้วเจอทุกหลังคาเรือนมีควันไฟหมด เขาหันไปใช้เตาอั้งโล่ เพราะมีความจำเป็นเนื่องจากค่าครองชีพสูง ไม่ใช่ทำตามนโยบายรัฐบาล บ้านเมืองลำบาก อาหารการกินแพง ซบเซา ไม่มีผู้จับจ่าย

“รัฐมนตรีอาจมองว่าทำผลงานสำเร็จ ทำโน่นทำนี่ทำเยอะแยะ แต่ผลของการกระทำของพวกคุณ ประชาชนเขาได้ประโยชน์อะไรบ้าง เขาเดือดร้อนทุกหย่อมหญ้า ดังนั้นอย่างนั่งในห้องแอร์แล้วมโนเองว่าบริหารบ้านเมืองสำเร็จ ทำอะไรเยอะแยะมันไม่ใช่ มันต้องดูว่าผลของการกระทำเกิดประโยชน์กับชาติบ้านเมือง และประชาชนหรือไม่ ผมไม่ต้องการมานั่งด่าใคร แต่มันเป็นเสียงที่ประชาชนสะท้อนออกมาให้ ส.ส.ตั้งกระทู้ถามในสภาฯ หน่อย”

เมื่อถามว่า พล.อ.ประยุทธ์ กำชับ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล อย่าแตกแถวในการโหวต ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า ตนพูดเสมอว่า ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลต้องสำนึกว่าเรากำลังใช้อำนาจประชาชนที่เลือกมาเป็นตันแทน จะทำอะไรครั้งสุดท้าย จะกลับมานั่งในสภาอีกครั้งหรือจะไม่มีโอกาสเลย

“การอภิปรายจะทำให้รัฐมนตรีหลุดจากตำแหน่งหรือไม่ ขึ้นอยู่กับเสียงโหวตในสภา ซึ่งพรรคเศรษฐกิจไทยยืนยันมาตลอดว่า หากหลักฐานชัดเจน เราไม่เห็นด้วยแน่นอน ดูแล้วน่าเป็นห่วง ว่าแต่ละท่านจะมีเหตุผลอย่างไรมาชี้แจง บางท่านจะตอบโต้อย่างไรก็ลำบาก เพราะเรื่องทุจริต การบริหารราชการแผนดินบกพร่องจนประเทศเสียหาย และประเด็นจริยธรรม ทุกเรื่องมีความสำคัญมาก ถ้าพรรคเศรษฐกิจไทย ยังสนับสนุนคนเหล่านี้ เชื่อว่าสมัยหน้าประชาชนจะไม่เลือก ผมยืนยันว่าการเป็น ส.ส. คือตัวแทนประชาชนผู้เสียผลประโยชน์ ดังนั้นท่านจะกดให้ผ่านหรือไม่ผ่าน อย่าฝืนความรู้สึกประชาชน ซึ่งพรรคเศรษฐกิจไทย ไม่ฝืนแน่นอน” ร.อ.ธรรมนัส กล่าว