นายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสประจำประเทศไทย ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) เปิดเผยว่า เวิลด์แบงก์ออกรายงานตามติดเศรษฐกิจไทยฉบับใหม่ โดยคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปีนี้ไว้ที่ 2.9% ซึ่งปรับลดลง 1% จากคาดเดิมเมื่อเดือนเดือน ธ.ค.64 โดยไทยได้รับผลกระทบจากสงครามรัสเซียและยูเครน ทำให้ราคาพลังงานสูงและราคาสินค้าแพง กดดันเงินเฟ้อให้เพิ่มขึ้นมาก และยังมีความเสี่ยงจากเศรษฐกิจจีนไม่ฟื้นตัวจาการปิดเมือง รวมทั้งความเสี่ยงจากโควิดที่อาจกลับมาระบาดได้อีกครั้ง ส่วนปัจจัยสนับสนุนเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะกลับเข้ามาได้ 6 ล้านคนในปีนี้

ทั้งนี้เศรษฐกิจไทยได้พึ่งพาน้ำมันจากต่างประเทศ ทำให้ราคาน้ำมันพุ่งจึงกระทบต่อไทย แต่คาดว่าเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปีจะได้รับแรงกระตุ้น และกลับไปสู่ระดับก่อนการระบาดโควิดในไตรมาสที่ 4 ของปี 65 จากจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ลดลงและการผ่อนคลายมาตรการจำกัดการเดินทางข้ามพรมแดนของประเทศไทยและประเทศต่าง ๆ โดยคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้นเป็น 6 ล้านคนในปี 65 เพิ่มขึ้นจาก 4 แสนคนในปี 64 และเพิ่มขึ้นเป็น 24 ล้านคน หรือ 60% ของระดับก่อนการระบาดภายในปี 67 จึงคาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัว 4.3% ในปี 66 และขยายตัว 3.9% ในปี 67

ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าจะอยู่ที่ 5.2% ในปีนี้ ซึ่งเป็นระดับที่สูงสุดในรอบ 14 ปี ตลอดปี 65 และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 2.3 การส่งออกสินค้าคาดว่าจะขยายตัว 4.1% ในปี 65 ชะลอตัวลงจากผลของปี 64 ซึ่งอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งที่ 18.8% สะท้อนให้เห็นถึงอุปสงค์โลกที่ลดลง และปัญหาการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานโลกที่ยืดเยื้อ

“ผลกระทบสงครามรัสเซียและยูเครน ได้กระทบต่อไทยที่ทำให้ราคาน้ำมันค่อนข้างสูง มีการนำเข้าสูงสุดในอาเซียน ทำให้อ่อนไหวต่อราคาน้ำมันได้ง่าย และเงินเฟ้อไทยได้พุ่งกว่า 7% แต่ยังกระจุกตัวราคาสินค้าและพลังงาน แต่มีหลายหมวดที่ยังไม่ได้ปรับขึ้น ซึ่งต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง แม้เงินเฟ้อเป็นความเสี่ยง แต่มองว่าอยู่ในระดับที่รับมือได้ เครื่องมือทางการคลังและการเงินมีเพียงพอ โดยต้องให้ความสำคัญกับพื้นที่ทางการคลังหลังหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น ทำให้ต้องเพิ่มรายได้ทางการคลัง เช่น เก็บภาษีเพิ่มเติม”

นายเกียรติพงศ์ กล่าวว่า สงครามในยูเครนอาจทำให้ปัญหาความยากจนในประเทศไทยมีความรุนแรงขึ้น จากราคาอาหารและพลังงานที่สูงขึ้น โดยราคาอาหารโลกที่เพิ่มขึ้น 10% จะทำให้อัตราความยากจนเพิ่มขึ้น 1.4% และราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้น 10% จะทำให้อัตราความยากจนเพิ่มขึ้น 0.2% ดังนั้นนโยบายการคลังจะช่วยคนที่ได้รับผลกระทบได้แบบเฉพาะเจาะจง เช่น คนจน สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง จะต้องได้รับการคุ้มครองทางสังคมมากขึ้น

นอกจากนี้คาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องคำนึงถึงการทำนโยบายที่ไม่กระทบต่อเศรษฐกิจ ดังนั้นควรทยอยขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป สอดคล้องกับการฟื้นของเศรษฐกิจ ที่มีสัญญาณชัดขึ้น ไปสู่ระดับเดิมช่วงก่อนโควิดปลายปีนี้ คาดว่าจะปรับขึ้นเร็วๆ นี้ ในทุกรอบการประชุม และกลับสู่ระดับก่อนโควิดในปี 66 ในช่วงที่เศรษฐกิจฟื้นตัวแล้ว

นายไฆเม ฟรีอัส นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลก กล่าวว่า เวิลด์แบงก์ สนับสนุนแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในประเทศไทย ซึ่งการเร่งเปลี่ยนผ่านสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนจะสามารถเพิ่มผลผลิตและการจ้างงาน โดยจะทำให้จีดีพี เพิ่มขึ้น 1.2% และช่วยให้เกิดการจ้างงาน 160,000 ตำแหน่ง ภายในปี 73 หรือคิดเป็น 0.3% ของการจ้างงานทั้งหมด รวมทั้งช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 5% ภายในปี 73