เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. ที่รัฐสภา กลุ่มเยี่ยมเพื่อนในเรือนจำ นำโดย น.ส.ณัฎฐธิดา มีวังปลา หรือแหวน อดีตผู้ต้องขังและผู้ต้องหาในคดีปาระเบิดหน้าศาลอาญา นางปุณิกา ชูศรี หรืออร อดีตผู้ต้องขัง และ น.ส.วรรณวลี ธรรมสัตยา หรือตี้ พะเยา แกนนำกลุ่มราษฎร เดินทางมายื่นหนังสือถึงคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอให้ตรวจสอบความไม่โปร่งใสของกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม กรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นในเรือนจำ ภายหลังมีนักกิจกรรมพยายามฆ่าตัวตายช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา พร้อมจี้คืนสิทธิการประกันตัวให้ผู้ต้องขัง โดยมีนางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะเลขาธิการ กมธ. เป็นตัวแทนรับเรื่อง

น.ส.ณัฎฐธิดา กล่าวว่า ในฐานะที่ตนเป็นรุ่นพี่ที่ถูกฝากขังพิจารณาคดีนานที่สุดคนหนึ่ง จึงมีความประสงค์ที่จะยื่นหนังสือต่อนางอมรัตน์ ในฐานะ ส.ส.ที่เป็นความหวังของชาวคุกทุกคน โดยทางกลุ่มต้องการเรียกร้องสิทธิขั้นพื้นฐาน เช่น สิทธิการเยี่ยมผู้ต้องขัง เนื่องจากผู้เข้าเยี่ยมต้องมีรายชื่อหนึ่งใน 10 คนเท่านั้น แต่ตนในฐานะเพื่อนที่ไม่ใช่ญาติจึงไม่สามารถเยี่ยมได้ จึงต้องการเรียกร้องสิทธิในข้อนี้เพื่อให้สามารถเข้าไปเยี่ยมเพื่อนแทนญาติที่ไม่สามารถเดินทางมาเยี่ยมได้ รวมถึงสิทธิในการประกันตัว เพื่อออกมาต่อสู้คดีเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน จึงหวังว่าสิ่งที่มายื่นในวันนี้จะทำให้กลุ่มเยี่ยมเพื่อนในเรือนจำ สามารถเข้าไปเยี่ยมเพื่อนทุกคนที่อยู่ในเรือนจำในขณะนี้ได้ และขอเรียกร้องความเสมอภาค ยกเลิกสวนสัตว์มนุษย์ในเรือนจำ เนื่องจากเงินบริหารในเรือนจำเป็นส่วนหนึ่งของภาษีที่มาจากประชาชน จึงขอให้ใช้อย่างสมเหตุสมผล

ส่วนนางปุณิกา กล่าวว่า ตนเป็นหนึ่งในผู้ต้องหาคดีชายชุดดำที่ถูกฝากขังในเรือนจำถึง 2 ปี 7 เดือน จึงอยากเรียกร้องสิทธิความเป็นอยู่ในเรือนจำ ไม่ว่าจะเป็นด้านสุขอนามัย การเข้าถึงการรักษาพยาบาล การที่จะได้เข้ารับการรักษาจากแพทย์เป็นเรื่องที่ยาก โดยด้านในเรือนจำยังเป็นระบบที่จะต้องตะโกนเรียกผู้คุม เพื่อให้มาดูแลเราในตอนที่เราเจ็บป่วยฉุกเฉิน กว่าจะเรียกได้บางทีก็สายเกินไป คิดว่าควรเปลี่ยนให้มีการติดสัญญาณที่สามารถเรียกผู้คุมได้ ทั้งนี้ในการติดกล้องวงจรปิด ติดเครื่องสแกนตัวยังสามารถทำได้ แต่เพราะอะไรจึงไม่สามารถติดกริ่งเพื่อจะกดเรียกเจ้าหน้าที่ได้ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ทราบว่ามีผู้ป่วย

ขณะที่ น.ส.วรรณวลี กล่าวว่ากรณีของนายพลพล จิตรสุภาพ สมาชิกกลุ่มทะลุแก๊ส ที่ถูกคุมขังพยายามฆ่าตัวตายโดยการรับประทานยาพาราเซตามอล 60 เม็ด ก่อนถูกนำส่งไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. ที่ผ่านมา รวมถึงมีการกรีดข้อมือตัวเองด้วย ซึ่งเมื่อได้รับข่าวก็ถือว่าเป็นการล่าช้ามาก เพราะเหตุเกิดขึ้นไปแล้ว 2-3 วันแล้ว แต่ทางโรงพยาบาลราชทัณฑ์และกรมราชทัณฑ์ กลับไม่ได้มีการแจ้งญาติและทนายให้ทราบ จึงตั้งข้อสงสัยถึงการทำงานของเจ้าหน้าที่ว่า มีการพยายามปกปิดข้อมูลในส่วนนี้หรือไม่ รวมถึงมีความสงสัยในกระบวนการยุติธรรมตั้งแต่ชั้นสืบสวนจนถึงชั้นศาลที่มีการฝากขัง คือกรณีที่มีการฝากขังโดยที่เจ้าตัวเข้าไปมอบตัวและรายงานตัวด้วยตัวเอง แต่กลับถูกศาลอนุญาตให้ฝากขังได้ ซึ่งสงสัยในชั้นสอบสวนว่า เจ้าหน้าที่ใช้อำนาจเพื่อไม่ให้ผู้ต้องขัง ไปแจ้งข้อกล่าวหากับตนเองใช่หรือไม่ รวมถึงศาลได้ดูเหตุผลและหลักฐานก่อนจะออกหมายจับหรือไม่

“จึงอยากฝาก ส.ส.อมรัตน์ และพรรคก้าวไกล ให้ช่วยกันตรวจสอบ เพราะประชาชนไม่ได้มีอำนาจหน้าที่เข้าไปดูผู้ต้องขังได้ เราต้องอาศัย ส.ส.ในสภาที่เป็นผู้มีอำนาจจากที่ประชาชนเป็นคนเลือกขึ้นมา และไม่เล็งเห็นเลยว่าจะมีหน่วยงานไหน ที่กล้าจะออกมารับเรื่องเช่นนี้ นอกจากนี้ยังมีกรณีของนายใบบุญ ไทยพานิช หรือโอม ที่ใช้ฝาปลากระป๋องกรีดแขนเป็นทางยาว เมื่อมีการวิดีโอคอนเฟอเรนซ์กับศาล ได้มีการใส่ถุงมือยาวทั้งแขน จึงสงสัยว่าราชทัณฑ์พยายามจะปกปิดเรื่องนี้หรือไม่ ทำไมจึงให้น้องใส่ถุงมือ” น.ส.วรรณวลี กล่าว

โดยนางอมรัตน์ กล่าวว่า ในฐานะเลขาธิการ กมธ.ฯ จะนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมภายในวันนี้ เนื่องจากเหตุการณ์ทำร้ายตัวเองของนักกิจกรรมทางการเมืองมีลักษณะปิดข่าวจากกรมราชทัณฑ์ โดยเหตุการณ์เกิดตั้งแต่วันศุกร์ แต่โลกภายนอกกว่าจะรู้เรื่องคือวันจันทร์ หากเกิดรุนแรงมากกว่านี้ ใครจะสามารถช่วยได้ทัน จึงขอให้กรมราชทัณฑ์และกระบวนการยุติธรรมทบทวนแนวทาง เรื่องการกำหนดคนเข้าเยี่ยมผู้ต้องขัง ซึ่งเรื่องนี้อยู่ในดุลพินิจของอธิบดีกรมราชทัณฑ์สามารถทำได้ แต่ที่ผ่านมามีการใช้ข้ออ้างเรื่องโควิดในการจำกัดการเข้าเยี่ยม ตอนนี้สถานการณ์คลี่คลายและกำลังกลายเป็นโรคประจำถิ่น กฎเกณฑ์จึงควรผ่อนคลายได้ อย่าให้โลกประณามไปมากกว่านี้ว่า ประเทศไทยมีการนำกฎหมายอาญา ม.112 และระเบียบเรือนจำมาใช้เพื่อเป็นเครื่องมือจัดการนักกิจกรรมทางการเมืองและผู้เห็นต่าง

“สภาแห่งนี้ใช้งบสร้างกว่า 2 หมื่นล้านบาท เป็นสภาของประชาชน ทุกคนต้องเข้ามาใช้ได้ ควรใช้พื้นที่แห่งนี้พูดคุยกัน ไม่ใช่พอมีความขัดแย้งเกิดขึ้นในสังคมแล้วต้องเรียกเข้าไปคุยในกระทรวงกลาโหม ประเด็นที่จะนำเข้าไปใน กมธ. คือ เรื่องสิทธิในการเข้าเยี่ยมผู้ต้องขังที่ถูกจำกัด เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานอย่างร้ายแรง กรมราชทัณฑ์อ้างโควิด และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินในการจำกัดจำนวนเยี่ยม เป็นการทำให้ผู้ต้องขังที่ยังเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่เกิดความเครียดและทำร้ายตัวเองหรือไม่ จะต้องมีการตรวจสอบในเรื่องนี้” นางอมรัตน์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากการยื่นหนังสือ กลุ่มเยี่ยมเพื่อนในเรือนจำ ได้มีแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ด้วยการชูสามนิ้วและตะโกนคำว่า “ปล่อยเพื่อนเรา” อยู่ประมาณ 3 ครั้ง ก่อนแยกย้ายกันกลับด้วยความเรียบร้อย