นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ภาพรวมปริมาณผู้โดยสารระบบขนส่งทางราง ทั้งรถไฟ รถไฟฟ้า MRT รถไฟฟ้า BTS รถไฟชานเมือง (สายสีแดง) และรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ทะลุ 1 ล้านคนต่อวันอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเมื่อวันที่ 24 มิ.ย. ผู้โดยสาร 1.15 ล้านคนต่อวัน ปริมาณสูงสุดนับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และใกล้เคียงกับปริมาณผู้โดยสารก่อนโควิด-19 เมื่อปี 62 ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 1.22 ล้านคนต่อวัน เรียกได้ว่าเวลานี้ผู้โดยสารมาใช้บริการเกือบกลับสู่ปกติแล้ว ส่วนจะมาจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น จนผู้คนหันมาใช้ขนส่งสาธารณะทางรางหรือไม่นั้น ตัวเลขเพียงอย่างเดียวคงพิสูจน์ไม่ได้ ต้องใช้วิธีการสอบถามผู้โดยสารด้วย จะให้เจ้าหน้าที่เก็บข้อมูลในประเด็นนี้ต่อไป

นายพิเชฐ กล่าวต่อว่า สำหรับข้อมูลเมื่อวันที่ 24 มิ.ย. ตัวเลขผู้โดยสารขนส่งทางรางทุกระบบสูงที่สุด (นิวไฮ) อยู่ที่ 1,157,518 คน ประกอบด้วย รถไฟฟ้า BTS 680,107 คน รถไฟฟ้า MRT 352,983 คน รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ 53,382 คน รถไฟ 54,481 คน และ รถไฟระบบชานเมือง (รถไฟฟ้าสายสีแดง) 16,565 คน (สูงที่สุดตั้งแต่เปิดบริการ จากก่อนหน้านี้ที่เคยสูงสุดที่ 1.4 หมื่นคนต่อวัน) หากพิจารณาจำนวนผู้โดยสารเฉลี่ยต่อวันหลังผ่อนคลายมาตรการเพื่อรองรับการเปิดประเทศตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. พบว่า ปริมาณผู้โดยสารในระบบขนส่งทางรางทุกระบบอยู่ที่ประมาณ 8.6 แสนคนต่อวัน ยังน้อยกว่าช่วงปี 62 ประมาณ 29%

นายพิเชฐ กล่าวอีกว่า จากการวิเคราะห์ตัวเลขภาพรวมปริมาณผู้โดยสารพบว่า การเติบโตของผู้โดยสารรถไฟเพิ่มขึ้นค่อนข้างสูงจากก่อนหน้านี้ประมาณ 30% เนื่องจากสถาบันการศึกษาเปิดภาคเรียนแบบออนไซต์ นักเรียนและนักศึกษามาใช้บริการเพิ่ม โดยเฉพาะรถไฟระหว่างเมือง และรถไฟท้องถิ่น ช่วงบ่ายๆ จะมีนักเรียนและนักศึกษามาใช้บริการจำนวนมาก ปัจจุบันปริมาณผู้โดยสารรถไฟอยู่ที่ประมาณ 5 หมื่นคนต่อวัน ก่อนโควิด-19 อยู่ที่ 8 หมื่นคนต่อวัน

ด้านนายกิตติกานต์ จอมดวง จารุวรพลกุล ผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เปิดเผยว่า ผู้โดยสารรถประจำทาง (รถเมล์) ขสมก. เพิ่มขึ้นต่อเนื่องกว่า 700,000 คนต่อวัน  19,000 กว่าเที่ยวในจำนวนรถที่มี 2,885 คัน เทียบกับช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค. อยู่ที่ 600,000 คนต่อวัน 17,000 กว่าเที่ยว จากการเปิดประเทศเต็มรูปแบบ สถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย และราคาน้ำมันที่สูงต่อเนื่อง ทำให้ประชาชนหันมาเดินทางด้วยขนส่งสาธารณะมากขึ้น แทนการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย คาดว่าผู้โดยสารจะเพิ่มขึ้นไปจนถึงช่วงก่อนโควิด-19 ที่มี 800,000-900,000 คนต่อวัน

ขณะที่นายสัญลักข์ ปัญวัฒนลิขิต กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) กล่าวว่า มีผู้โดยสารใช้บริการสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ ทั้ง 4 แห่งได้แก่ สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ (จตุจักร) หรือหมอชิต 2, สถานีขนส่งเอกมัย, สถานีขนส่งถนนบรมราชชนนี หรือสายใต้ใหม่ และ สถานีขนส่งปิ่นเกล้า 40,000 กว่าคนต่อวัน เมื่อเทียบกับช่วงเดือน พ.ค. อยู่ที่ 30,000 กว่าคนต่อวัน จากหลายปัจจัยรวมทั้งราคาน้ำมันที่สูงขึ้นต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิด-19 มีผู้โดยสาร 60,000-80,000 คนต่อวัน และเดินทางมากสุดช่วงเทศกาลกว่า 100,000 คนต่อวัน