เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. ที่ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนนครศรีธรรมราช อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช นายสมคิด จันทมฤก อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน (พช.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนากลไกขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากภายใต้โครงการส่งเสริมการพัฒนากลไกและโครงสร้างดูดซับมูลค่าทางเศรษฐกิจและการกระจายรายได้กลับสู่ท้องถิ่น กิจกรรมหลักที่ 2 พัฒนาเศรษฐกิจฐานรากด้วยภาคีเครือข่าย พร้อมทั้งบรรยายพิเศษการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากภายใต้ยุทธศาสตร์ พช.กับนโยบายรัฐบาล โดยมี นางศศิธร จันทมฤก ประธานชมรมแม่บ้านพัฒนาชุมชน นายสุรศักดิ์ อักษรกุล รองอธิบดี พช. นางสายพิรุณ น้อยสิริ อดีตผู้ตรวจราชการ มท. นางจันทิรา ยิมเรวัต วิวัฒน์รัตน์ อดีตอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ นางธนาภรณ์ พรหมสุวรรณ อดีตอธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิต กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นางภาวินี ไชยสิทธิ์ กรรมการผู้จัดการบริษัท ประชารัฐรักสามัคคี วิสาหกิจเพื่อสังคม (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ตรวจราชการกรมการพัฒนาชุมชนที่รับผิดชอบเขตตรวจราชการ 14 จังหวัดที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นและวิสาหกิจชุมชน ตลอดจน ตัวแทน Retail/OTOP Trader เข้าร่วมงาน กลุ่มเป้าหมายประกอบด้วย รองผู้ว่าราชการจังหวัดพัฒนาการจังหวัด ผู้แทนบริษัทประชารัฐรักสามัคคีจังหวัด (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด ตลอดจนผู้แทนหน่วยงาน เข้าร่วมการประชุมพร้อมนำผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการพัฒนาภายใต้ 5 กระบวนงานจัดกิจกรรมประชารัฐ Market         

นายสมคิด กล่าวว่า รัฐบาลมีเป้าหมายการพัฒนาประเทศเพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์ “ประเทศมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” นำไปสู่การพัฒนาให้คนไทยมีความสุข โดยกำหนดยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งกำหนด 1 ใน 6 ประเด็นยุทธศาสตร์คือ ประเด็นยุทธศาสตร์ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม นอกจากนี้ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ได้กำหนดยุทธศาสตร์การสร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม และการแถลงนโยบายรัฐบาล ข้อที่ 7 ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาสร้างความเข้มแข็งจากฐานรากการดำเนินงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก เป็นกลไกสำคัญของ มท.ที่สามารถตอบสนองนโยบายรัฐบาล “ลดความเหลื่อมล้ำสร้างรายได้และความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจให้ครอบคลุมทั้งประเทศ” โดยให้ภาคเอกชนและภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมดำเนินการร่วมกับภาครัฐซึ่งตรงกับภารกิจของ พช.ในการส่งเสริมชุมชนให้มีความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน ภายใต้วิสัยทัศน์ “เศรษฐกิจฐานรากมั่งคงและชุมชนพึ่งตนเองได้ ภายในปี 2565” 

นายสมคิด กล่าวว่า พช. ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่สนับสนุนการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากในระดับนโยบายและระดับพื้นที่ โดยมีเป้าหมาย คือ “สร้างรายได้ให้กับชุมชน เพื่อประชาชนมีความสุข” ดำเนินการ 3 เรื่อง ประกอบด้วย การเกษตร การแปรรูป และการท่องเที่ยวโดยชุมชน มุ่งเน้นการพัฒนาที่ให้ความสำคัญกับการดึงเอาพลังของ 5 ภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน/ชุมชน มาร่วมเป็นพลังในการขับเคลื่อนในรูปแบบประชารัฐ ภายใต้แนวคิด Social Enterprise (SE) เพื่อให้กลไกการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ได้รับการพัฒนาและสร้างประสิทธิภาพตลอดต้นทาง กลางทาง ปลายทาง ผ่านกระบวนการขับเคลื่อน 5 ฟันเฟือง เริ่มต้นตั้งแต่การเข้าถึงปัจจัยการผลิต การสร้างองค์ความรู้ การตลาด การสื่อสารสร้างการรับรู้ และการบริหารจัดการ โดยได้เน้นย้ำให้แต่ละภาคส่วนขับเคลื่อนการดำเนินงานตามบทบาทของตนเอง ภายใต้หลักการที่ว่า “รัฐสนับสนุนเอกชนขับเคลื่อน ประชาชนลงมือทำ” 

นายสมคิด กล่าวต่อว่า ขอให้ทุกจังหวัดดำเนินการตามข้อสั่งการนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัด มท. 1.เน้นย้ำให้ผู้ว่าราชการจังหวัด มีการจัดประชุม คณะกรรมการประสานและขับเคลื่อนนโยบายสานพลังประชารัฐประจำจังหวัด (คสป.) ร่วมกับบริษัท ประชารัฐรักสามัคคีฯ อย่างต่อเนื่อง 2.นำผลสำเร็จของบริษัทประชารัฐรักสามัคคีฯ เป็นตัวอย่างในการดำเนินงาน ที่สร้างกิจกรรมที่มีคุณภาพ มีสีสัน และมีความหวัง โดยนำต้นทุนของจังหวัดมาใช้ 3.การทำงานที่สำคัญ คือข้าราชการต้องมี Passion เป็น Staff ที่ดีให้กับผู้ว่าราชการจังหวัด และผู้บังคับบัญชา 4.บทบาทของภาครัฐส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ต้องเป็นผู้ชี้นำให้คำปรึกษา ส่งเสริม และสนับสนุนการดำเนินงานบริษัทประชารัฐรักสามัคคี โดยเชื่อมโยง 7 ภาคีเครือข่าย ได้แก่ รัฐเอกชน ประชาสังคม วิชาการ ศาสนา สื่อมวลชน และประชาชน บูรณาการการทำงานร่วมกันในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำและปัญหาความยากจน ซึ่งเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่มีความซับซ้อน ต้องอาศัยการบูรณาการการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วน โดยมีข้อมูล TPMAP ช่วยกำหนดเป้าหมายในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน โดยภาคเอกชนเข้ามาร่วมสนับสนุนในด้านมิติรายได้และมิติความเป็นอยู่ ผ่านกิจกรรม “ประชารัฐขจัดจน เศรษฐกิจชุมชนเข้มแข็ง”

“พช. ตระหนักถึงความสำคัญการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากโดยกลไกสานพลังประชารัฐ จึงได้ดำเนินการประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนากลไกขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากภายใต้โครงการส่งเสริมการพัฒนากลไกและโครงสร้างดูดซับมูลค่าทางเศรษฐกิจและการกระจายรายได้กลับสู่ท้องถิ่นขึ้น โดยกำหนดการจัดกิจกรรมพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากด้วยภาคีเครือข่ายจำนวน 4 รุ่น 4 ภูมิภาค รุ่นที่ 1 ภาคใต้ ที่ ศพช.นครศรีธรรมราช รุ่นที่ 2 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ ศพช.นครราชสีมา รุ่นที่ 3 ภาคกลาง ที่ ศพช.เพชรบุรี และรุ่นที่ 4 ภาคเหนือ ที่ ศพช.พิษณุโลก เพื่อพัฒนากลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากในพื้นที่ให้มีประสิทธิภาพ รวมทั้งสื่อสารสร้างความเข้าใจข้อมูลและแนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก และสร้างความสัมพันธ์เชื่อมโยงเครือข่ายพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็งอีกด้วย” นายสมคิด กล่าว.