เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. ที่กลุ่มอิสลามบาติก ต.โพธิ์เสด็จ อ.เมืองนครศรีธรรมราช จ.นครศรีธรรมราช นางศศิธร จันทมฤก ประธานชมรมแม่บ้านพัฒนาชุมชน ลงพื้นที่ให้กำลังใจกลุ่มอิสลามบาติก โดยมีนายเอกชัย อิสลาม ประธานกลุ่มอิสลามบาติก และสมาชิกกลุ่มฯ ให้การต้อนรับ 

นายเอกชัย กล่าวถึงแรงบันดาลใจในการประยุกต์ลายผ้าพระราชทาน ว่า เมื่อวันที่ 23 ม.ค. 2565 ที่บ้านนาหว้า อ.นาหว้า จ.นครพนม สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา พระราชทาน “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” ให้แก่ นายสุทธิพงศ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย (มท.) และ นางวันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์และนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย เพื่อมอบให้กับช่างทอผ้าทุกกลุ่ม ทุกเทคนิค นำไปทอผ้า ผลิตผ้าตามอัตลักษณ์ภูมิปัญญาของแต่ละท้องถิ่นทั่วประเทศ พระองค์ทรงค้นคว้าผ้าลวดลายโบราณจากพื้นถิ่นอีสานเหนือ แถบ จ.นครพนม ที่ปรากฏอยู่บนฉลองพระองค์ในสมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้แก่ ผ้าขิดลายสมเด็จผ้าลายนาคชูสนและผ้าลายต้นสน และทรงนำมาออกแบบและผสมผสานให้เกิดความร่วมสมัยเป็นการสร้างอัตลักษณ์ใหม่ที่แฝงด้วยความหมายที่ลึกซึ้ง จุดประกายทางความคิดและสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ช่างทอผ้า สามารถนำไปพัฒนาลวดลายของผืนผ้าให้มีความร่วมสมัย แฝงด้วยความหมายและประวัติศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ของวัฒนธรรมและภูมิปัญญาการทอผ้าในประเทศไทย โดยยังคงรักษาเอกลักษณ์ประจำถิ่นของตน 

นายเอกชัย กล่าวว่า แต่ละลวดลายมีความหมายที่ลึกซึ้ง กล่าวคือ 1.ลาย S ที่ท้องผ้า หมายถึงสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงเป็นต้นแบบในการอนุรักษ์ภูมิปัญญาผ้าไทยโดยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ได้ส่งออกแบบให้เว้นช่องว่างไว้เพื่อให้ราษฎรได้ร่วมถักทอลวดลายของตนเองลงในช่องว่างเป็นการสร้างเอกลักษณ์เฉพาะตัวจากแต่ละท้องถิ่น โดยลายขิดที่เป็นกรอบล้อมรอบตัว S นี้หมายถึง ความจงรักภักดีที่ชาวไทยมีต่อพระบรมราชจักรีวงศ์ 2.ลายเชิงผ้ารูปหัวใจ หมายถึงความรักของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ที่มีต่อปวงชนชาวไทย 3.ลาย S ประกอบกับลายขิดที่เชิงผ้า หมายถึง สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่ทรงปรารถนาให้คนไทยอยู่ดีมีสุข 4.ลายต้นสนที่เชิงผ้า หมายถึง พระดำริในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในการฟื้นฟูประวัติศาสตร์ของโครงการศิลปาชีพฯ อันลายต้นสนนี้เป็นลวดลายพื้นถิ่นที่ถักทออยู่บนพื้นผ้าของบ้านนาหว้า จังหวัดนครพนม ที่ซึ่งเป็นจุดกำเนิดโครงการศิลปาชีพฯ 5.ลายหางนกยูงที่เชิงผ้า หมายถึง ความตั้งพระทัยมั่นของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในการสืบสาน รักษาและต่อยอด พระราชกรณียกิจของสมเด็จย่าของพระองค์ ในการฟื้นคืนภูมิปัญญาผ้าไทยให้ดำรงคงอยู่คู่แผ่นดิน

“ตนเองรู้สึกซาบซึ้งใจในพระกรุณาธิคุณ ของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่ทรงพระราชทานลายผ้าให้กับช่างทอผ้าทุกกลุ่ม ทุกเทคนิค นำไปทอผ้า ผลิตผ้าตามอัตลักษณ์ภูมิปัญญาของแต่ละท้องถิ่น สามารถสร้างงาน สร้างอาชีพ ขยายสู่คนในชุมชนไปถึงการตัดเย็บ ตนเองจึงน้อมนำมาออกแบบและประยุกต์ให้เข้ากับเอกลักษณ์พื้นถิ่นของคนนครและตั้งใจว่าจะต้องเป็นกลุ่มผ้าบาติกกลุ่มแรกของ จ.นครศรีธรรมราช ที่สามารถผลิตชิ้นงานผ้าบาติกลาย “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” ให้ได้ และส่งผ้าเข้าร่วมในการประกวดผ้าลายพระราชทาน “ลายขิดนารีรัตนราชกัญญา” ให้สมกับน้ำพระราชหฤทัยที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงได้มอบให้แก่ผู้ผลิตผ้าทุกคน และมุ่งหวังให้ผ้าไทยหัตถศิลป์ไทย คงอยู่คู่กับคนไทยไปตราบนานเท่านาน” นายเอกชัย กล่าว

นางศศิธร กล่าวให้กำลังใจแก่สมาชิกกลุ่ม “ขอเป็นกำลังใจให้กับสมาชิกกลุ่มทุกคนในการสืบสานพระราชปณิธาน สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง อนุรักษ์มรดกภูมิปัญญาการทอผ้า พร้อมทั้งเผยแพร่พระอัจฉริยภาพของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ด้านการออกแบบเครื่องแต่งกายและสิ่งทอ ต่อยอดการพัฒนาลายผ้าพระราชทาน “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” ตามแนวพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ขอให้ตั้งใจ และพัฒนาต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ สามารถเป็นต้นแบบผ้าตามอัตลักษณ์พื้นถิ่น รวมทั้งสร้างรายได้เพิ่มให้กับชุมชนต่อไป.