เมื่อวันที่ 3 ส.ค. ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในการแถลงข่าวผ่านเพจ “กระทรวงสาธารณสุข” ว่า จากกรณีมีมาตรการตามข้อกำหนดฉบับที่ 30 ประกอบกับคำสั่งที่ 11/2564 วันที่ 1 ส.ค. 2564 มีผลตั้งแต่วันที่ 3 ส.ค.เป็นต้นไป ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับร้านอาหารในห้างสรรพสินค้าที่ระบุว่าให้สั่งดิลิเวอรี่เท่านั้น ทำให้ประชาชนเกิดข้อสงสัยว่าเมื่อมาซูเปอร์มาร์เกตในห้างแล้วจะสามารถไปซื้อเองที่ร้านอาหารในห้างนั้นๆ ได้หรือไม่ ก็ขอชี้แจงว่า เนื่องจากต้องลดการรวมตัวแอออัดหน้าร้าน จึงให้ร้านที่อยู่ในห่างจัดให้มีบริการดิลิเวอรี่ จัดบริการที่นำส่งอาหารหรือเครื่องดื่มของร้านที่อยู่ภายในห้างได้ ผ่านระบบออนไลน์หรือโทรศัพท์ หรือระบบพนักงานให้ความช่วยเหลือ เป็นต้น ที่ไม่ให้ผู้บริโภคไปซื้อกับผู้จำหน่ายโดยตรงก็สามารถทำได้ ซึ่งการดำเนินการลักษณะนี้เราทำมาแล้วตั้งแต่ปี 2563 ที่มีการปิดห้างสรรพสินค้าลงแต่อนุญาตให้ร้านอาหารสามารถจำหน่ายแต่ไม่ให้ผู้บริโภคไปแออัดหรือไปออกันอยู่ที่หน้าร้านโดยตรง ทั้งนี้หากห้างฯ  ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ ไม่สามารถดำเนินการตามนี้ได้ก็ไม่สามารถเปิดให้บริการลักษณะนี้ได้ จะต้องให้ผู้บริโภคสั่งผ่าน Food delivery Service

อธิบดีกรมอนามัย กล่าวอีกว่า ภาพโดยรวมในการสั่งอาหารแบบดิลิเวอรี่จะมีผู้เกี่ยวข้อง 3 ส่วนคือร้านอาหาร สถานที่ห้างฯ  ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ ซึ่งในข้อกำหนดฉบับที่ 30 กำหนดว่าห้างฯ ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ มีหน้าที่และมีความรับผิดชอบที่จะต้องจัดให้มีระบบการคัดกรอง ในปัจจุบันไม่ใช่คัดกรองเฉพาะไข้ระบบทางเดินหายใจหรืออาการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับโรคโควิดอย่างเดียว แต่จะต้องคัดกรองไปถึงประวัติความเสี่ยง พฤติกรรมเสี่ยงของคนทำงานที่เกี่ยวข้องด้วย ต้องตรวจสอบการลงทะเบียนโดยเฉพาะผู้ขนส่งอาหารหรือคนทำงานที่เกี่ยวข้องก่อนที่จะเข้ามาในพื้นที่อาคาร ต้องมีการจัดคิว กำหนดพื้นที่เฉพาะสำหรับรอคิว เว้นระยะห่างระหว่างที่นั่งหรือที่ยืนอย่างเข้มงวด ต้องจัดให้มีทางเข้า-ออกที่ชัดเจน หากมีคนทำงานที่เกี่ยวข้องมีไม่สบายต้องให้หยุดงานและไปรับคำปรึกษารับการตรวจที่เหมาะสมต่อไป

“ที่สำคัญต้องเน้นย้ำมากๆ เพราะตอนนี้เป็นสายพันธุ์ Delta ที่แพร่ระบาดได้ง่าย และเร็วขึ้น ต้องการสวมหน้ากากอนามัยให้ถูกต้องตลอดเวลา ล้างมือบ่อยขึ้นทุกครั้งที่มีการไปสัมผัสกับสิ่งของต่างๆ ที่ไม่ใช่ของของเรา ไม่รวมกลุ่ม เพราะที่ผ่านมามีรายงานหลายครั้งว่ามีกลุ่มของผู้ติดเชื้อในสถานที่ร้านอาหาร ห้างฯ เกิดจากคนทำงานมารวมกลุ่มพูดคุย และรับประทานอาหารมีกิจกรรมนันทนาการร่วมกัน ภาชนะและบรรจุภัณฑ์จะต้องเน้นความสะอาด ปกปิดมิดชิด ปรุงสุกใหม่ ความร้อนมากกว่า 70 องศาเซลเซียส ทุกร้านจะต้องประเมินมาตรฐานสุขภาพลักษณะของสถานที่ “thai Stop covid Plus” เพื่อให้กระทรวงสาธารณสุขมาติดตามกำกับและประเมินผล จัดสถานที่ให้มีการเว้นระยะห่างทำความสะอาดสม่ำเสมอถือเป็นมาตรการที่ต้องเข้มงวดสูงสุด

ในส่วนของพนักงานดิลิเวอรี่ ผู้ประกอบการแฟลตฟอร์มการจัดส่งอาหารจะต้องประเมิน  thai Stop covid เช่นกัน ต้องมีการคัดกรองพนักงาน ทั้ง full Time และ Part Time ต้องกำชับให้พนักงานปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรคอย่างเคร่งครัด สวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง ล้างมือบ่อยๆ โดยต้องถือปฏิบัติอย่างสูงสุด และในส่วนของผู้สั่งซื้อและผู้รับบริการพยายามสั่งอาหารที่เป็นประโยชน์ ปรุงสุก ไม่เสียง่าย พยายามหันไปชำระเงินผ่านระบบออนไลน์ กำหนดจุดรับอาหาร สวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งเวลาไปรับอาหาร หลังรับมาแล้วเปลี่ยนภาชนะ ทิ้งภาชนะนั้นแล้วล้างมือ เป็นต้น โดยรวมในช่วงสถานการณ์โควิด โดยเฉพาะพื้นที่สีแดงเข้มประชาชนต้องย้ำและขอความร่วมมือเพื่อประโยชน์ของตัวท่านเองในการลดความเสี่ยง ในการติดเชื้อโควิดโดยเราก็ต้องถือปฏิบัติยึดถือหลักปลอดภัยเอาไว้ก่อน

เมื่อถามว่าเนื่องจากมีรายงานว่าพนักงานส่งสินค้ามีการรวมตัวกันระหว่างรอคำสั่ง บางครั้งก็จับกลุ่มคุยกันโดยไม่สวมหน้ากากอนามัย จะมีแนวทางการจัดการอย่างไร นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า ส่วนนี้เป็นสาเหตุของโอกาสในการแพร่เชื้อและเกิดกลุ่มก้อนของการระบาด พนักงานส่งอาหารโดยปกติจะมีทั้ง full Time และ Part Time ในส่วนของ Full time  ผู้ประกอบการจะมีการเข้มงวดและกำกับเป็นอย่างดี บางคนได้รับการฉีดวัคซีนไปแล้ว แต่ปัญหาส่วนใหญ่จะเกิดในส่วนของ part-time ซึ่งที่ได้มักจะมีการร้องเรียนก็คือจุดที่ไปรอรับอาหารและจุดรับส่งคำสั่งซื้อ ซึ่งแยกเป็น 2 กรณี กรณีแรกร้านอาหารภายนอกห้างฯ ต้องขอความร่วมมือในการในการควบคุมและจัดระบบด้วย จะปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการลดการแพร่ระบาดมาสู่ร้านท่านเองด้วย และลดการแพร่สู่พนักงานส่งด้วย

กรณีที่ 2 ร้านในห้างฯ เราที่มีการกำหนดในข้อกำหนดฉบับที่ 30 ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 3 ส.ค.ว่าห้างฯ มีหน้าที่ในการจัดระบบและควบคุมกำกับไม่ให้ไรเดอร์มารวมกลุ่ม หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรการสูงสุด ส่วนจะมีการเอาผิดหรือไม่นั้นขอชี้แจงว่า ข้อกำหนดต่างๆ ที่ออกตามมาตรา 9 พ.ร.ก.ฉุกเฉิน  ร่วมกับ พ.ร.บโรคติดต่อซึ่ง ประกาศชัดว่ากรณีที่อยู่นอกเคหสถาน หากไม่สวมหน้ากากอนามัยจะมีความผิดและคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติก็ได้ออกระเบียบตามมาตรา 34 (6) ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวัน 7 มิ.ย. มีผลวันที่ 8 มิ.ย.ที่ผ่านมา ก็กำหนดความผิดเรื่องการรวมกลุ่ม การไม่สวมหน้ากากอนามัย ไม่ว่าจะเป็นการพูดคุยกัน การสูบบุหรี่หรือมีกิจกรรมนันทนาการใดๆ ก็ตามมีความผิด หากเป็นครั้งแรกมีโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท ครั้งที่ 2 ปรับ 1,000-10,000  บาท ครั้งที่ 3 ปรับ 10,000-20,000 บาท ซึ่งเจ้าพนักงานตามกฎหมายที่สำคัญคือคณะกรรมการโรคติดต่อของกรุงเทพฯ ทุกจังหวัดมีหน้าที่ผู้กำกับให้เป็นไปตามประกาศของแต่ละจังหวัด ถือเป็นหน้าที่ แต่ส่วนสำคัญคือประชาชนต้องช่วยกันคนละไม้คนละมือ เป็นหูเป็นตา สอดส่อง ถ้าเห็นเหตุการณ์ดังกล่าวก็ขอให้แจ้งไปที่จังหวัดอย่าปล่อยให้พฤติกรรมเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดโควิด-19 ถือเป็นเรื่องปกติหรือเรื่องที่ยอมรับได้ ความสำเร็จในการควบคุมโรคเป็นความร่วมมือของทุกคน

“มาตรการต่างๆ ที่ให้ภาครัฐออกมาส่งผลกระทบต่อสังคมและเศรษฐกิจทั้งระดับบุคคล ครัวเรือนและชุมชนอย่างยิ่ง แต่เมื่อสถานการณ์ปัจจุบันมีจำนวนผู้ติดเชื้อ เสียชีวิตเพิ่มมากขึ้น มีผู้ติดเชื้ออาการหนัก ซึ่งตอนนี้เกินกำลังระบบการแพทย์และสาธารณสุขจะรองรับได้ เพราะฉะนั้นมาตรการต่างๆ ที่ออกมาจึงจำเป็น เพื่อลดการติดเชื้อและเพื่อชะลอผู้จะมีอาการหนักให้ระบบทางการแพทย์และสาธารณสุขสามารถรองรับได้ เพื่อลดการเสียชีวิต จึงขอความร่วมมือจากประชาชน ขณะเดียวกันรัฐบาลกำลังพิจารณาเรื่องการลดผลกระทบดังกล่าวควบคู่กันไปด้วย ผมเชื่อว่า 14-28 วันจากนี้จะเป็นช่วงระยะเวลาที่สำคัญของการที่เราจะมีส่วนในการชะลอ ย้ำว่าเป็นการทะเลาะเพราะว่าตอนนี้การแพร่ระบาดของโควิด-19 เข้าไปในชุมชน และลงไปจนถึงระดับครอบครัว ครอบคลุมทุกจังหวัด สิ่งที่สำคัญคือเราจะต้องชะลอเพื่อให้ระบบทางการแพทย์และสาธารณสุขสามารถจะกลับมารองรับได้ โดยกำลังทำเรื่องให้ผู้ป่วยสีเขียวดูแลตัวเองที่บ้าน หรือที่ชุมชน” นพ.สุวรรณชัย กล่าว