เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การคมนาคม สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายโสภณ ซารัมย์ ส.ส.บุรีรัมย์ พรรคภูมิใจไทย (ภท.) ฐานะประธาน กมธ. เป็นประธานการประชุม มีวาระที่สำคัญคือการพิจารณาแนวนโยบายการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล โดย กมธ. ได้เชิญนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เข้ามาชี้แจงรายละเอียดในประเด็นต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น กรณีสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ข้อเสนอแนวคิดเก็บค่าโดยสารเพดานไม่เกิน 59 บาท

นายโสภณ กล่าวว่า ที่เชิญนายชัชชาติมาวันนี้ อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงการจัดการการคมนาคมทั้งระบบ ในช่วงวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปีของผู้ว่าฯ กทม. เราอยากฟังว่านายชัชชาติจะทำอะไรบ้าง ทาง กมธ.จะได้ช่วยสนับสนุนหากติดขัดเกี่ยวกับกฎหมายประการใด เพื่อให้การทำงานเดินไปได้ ถ้าความเห็นตรงกัน ผู้ว่าฯ กทม. สามารถตั้งบุคคลที่มีความรู้ความสามารถมาทำงานร่วมกับ กมธ.ในการศึกษาการคมนาคมของ กทม.

ทางด้านนายชัชชาติ กล่าวว่า ถ้าเราดูการทำงานในนโยบายด้านคมนาคม ก็เป็นนโยบาย 1 ใน 9 ด้านของ กทม. เกี่ยวกับการสัญจร ซึ่งเราเตรียมจะทำระบบสัญญาณไฟจราจรอัจฉริยะโดยใช้เทคโนโลยีร่วมกับตำรวจ จะมีกล้องควบคุมสภาพการจราจรเชื่อมโยงไปถึงการจ่ายใบสั่งหรือค่าปรับ นอกจากนี้ยังมีการปรับปรุงสภาพถนนจะดึงเทศกิจมาช่วยการจราจรใน กทม. ในอนาคตอาจมีแนวคิดโอนตำรวจจราจรมาขึ้นตรงกับ กทม. แต่ยังมีภารกิจที่ยังเกี่ยวพันกันอยู่ ต้องดูว่าจะพร้อมแค่ไหนหากโอนมาแล้ว กทม.ได้มีการโอนย้ายเจ้าหน้าที่ดับเพลิงมาแล้ว ส่วนระบบขนส่งมวลชน กทม. มีแนวคิดเดินรถเมล์เองในบางจุดเสริม ร่วมกับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) โดย กทม.จะขอใบอนุญาตจากกรมการขนส่งทางบก เพื่อเดินรถเสริมในบางเส้นทางร่วมกับ ขสมก. ขณะเดียวกันจะเตรียมเพิ่มจำนวนรถเมล์สำหรับผู้พิการด้วย

ปัญหาที่หนักอกที่สุดคือเรื่องรถไฟฟ้าสายสีเขียว กทม. จะมีรถไฟฟ้าในการดูแล 2 สายคือ 1.รถไฟฟ้าสายสีเทา ช่วงวัชรพล-ทองหล่อ และช่วงพระโขนง-พระราม 3 เลียบทางด่วนรวมอินทราอาจณรงค์-พระราม 3 และ 2.สายสีเงิน ช่วงบางนา-สุวรรณภูมิ ขณะนี้มีแนวคิดว่าการก่อสร้างโครงการใหญ่ต้องให้รัฐบาลเป็นผู้ลงทุน เพราะ กทม.ไม่ได้มีผู้เชี่ยวชาญ หาก กทม.เป็นเจ้าของรถไฟฟ้าเพิ่ม ก็จะกลายเป็นว่าแยกจากระบบขนส่งรวมจากรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ถ้าเกิดว่าสามารถรวมให้เกิดตั๋วราคาเดียวกัน หรือตั๋วร่วม และมีเจ้าของเพียงผู้เดียว เหมือนอย่างฮ่องกง หรืออังกฤษ ดังนั้นรถไฟฟ้า 2 สายที่ กทม.ดูแล จะเจรจาว่าสามารถให้รัฐบาลดูแลเพียงผู้เดียวได้หรือไม่

สำหรับรถไฟฟ้าสายสีเขียว กำลังคลี่คลายปัญหาอยู่ เนื่องจากสัญญาจะหมดในปี 72 แต่บังเอิญมีการต่อสัญญาล่วงหน้าออกไปอีกจากปี 72-85 ในการจ้างเอกชนเดินรถ เมื่อมีสัญญาผูกพันกับเอกชนแล้ว ต้องไปดูเงื่อนไขว่า เราจะทำอะไรเกินจำเป็นไม่ได้ รวมทั้งมีภาระเรื่องหนี้ที่รัฐบาลลงทุนไป แล้วโอนมาให้ กทม. รวมกับหนี้ที่จ้างเดินรถประมาณ 100,000 ล้านบาท ที่ยังค้างชำระ แต่ต้องมาพิจารณาอีกทีว่าจะแบ่งจ่ายอย่างไร นี่คือข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นมาแล้ว เราคงต้องดูแลต่อไป

สำหรับข้อเสนอขอให้เก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าในเพดานไม่เกิน 59 บาทนั้น รถไฟฟ้าแบ่งเป็น 3 ส่วน ส่วนขยายที่ 1 เราเก็บค่าโดยสาร 15 บาท ส่วนไข่แดงเก็บค่าโดยสาร 44 บาท แต่ส่วนขยายที่ 2 ไม่เคยเก็บเลย แต่ไม่ได้ฟรีเนื่องจาก กทม.จ้างเอกชนเดินรถ ซึ่งสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) จึงเสนอให้ขยายเพดานเป็นไม่เกิน 59 บาทในทั้ง 3 ส่วน ขณะที่สภาองค์กรของผู้บริโภค ออกมาระบุมีประชาชนเพียง 3% ที่ใช้บริการรถไฟฟ้า หากเอาภาษีประชาชนไปใช้จ่ายในส่วนนี้อาจจะไม่ค่อยแฟร์ ยืนยันว่าแนวคิดการเก็บค่าโดยสารเพดานไม่เกิน 59 บาท เป็นเพียงการแก้ปัญหาระยะสั้นในส่วนขยายที่ 2 เท่านั้น สำหรับข้อเสนอของสภาองค์กรของผู้บริโภค ที่ให้เก็บค่าโดยสารเพดานไม่เกิน 44 บาท จึงเป็นไปได้ยาก เพราะแค่ในส่วนไข่แดงเก็บ 44 บาท ก็ขาดทุนแล้ว นอกจากนี้แนวคิดตั๋วร่วม อย่าเข้าใจผิดว่าจะเป็นวิธีแก้ไขปัญหาราคารถไฟฟ้าได้ เพราะตั๋วร่วมเป็นเพียงการอำนวยความสะดวกในการชำระเงิน แต่ไม่ได้เปลี่ยนโครงสร้างราคา ปัจจุบันมีการใช้ระบบเทคโนโลยีต่างๆ เพียงใช้บัตรเครดิตก็สามารถใช้บริการได้ทุกที่

โดยเรื่องปัญหาค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว สัปดาห์หน้าน่าจะมีความคืบหน้า โดยตนจะพบนายธงทอง จันทรางศุ ประธานบริษัทกรุงเทพธนาคมจำกัด (เคที) ในวันที่ 2 ก.ค.นี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายชัชชาติ ยังกล่าวถึงกรณีมีการขายกัญชาว่า ทาง กทม.ไม่ได้รับผิดชอบโดยตรง เพราะเราไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายได้ ไม่ได้เกี่ยวกับเรา แต่คงให้เจ้าหน้าที่เทศกิจรายงานว่าตรงไหนมีจุดเสี่ยงแล้วรายงานมาที่ศูนย์กลาง จากนั้นเราจะประสานกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องอีกครั้งหนึ่ง

ส่วนกรณีเด็กนักเรียนโรงเรียนหอวังโดนจี้ชิงทรัพย์ ว่าปัจจุบันมีรายงานว่ามีนักเรียนโดนทำร้ายหลายราย ซึ่งทาง กทม.ได้สั่งการอย่างเต็มที่ โดยให้เจ้าหน้าที่เทศกิจและพนักงานที่เกี่ยวข้องดูแลเรื่องความปลอดภัยในจุดที่อ่อนไหว และเปราะบาง เนื่องจากบางจุดยังมีความสว่างไม่เพียงพอ จึงเป็นจุดเสี่ยงที่ทำให้นักเรียนถูกทำร้ายได้ ปัจจุบันนักเรียนใน กทม. ไปโรงเรียนเร็วขึ้น ซึ่งเวลา 05.00 น. ยังมืดอยู่ ซึ่งเราไม่ใช่ตำรวจ จึงต้องร่วมมือกับหลายฝ่าย โดยโรงเรียนในสังกัด กทม. 400 กว่าแห่ง เราได้มีเจ้าหน้าที่เทศกิจประจำหน้าโรงเรียน เพื่อคอยดูแลความปลอดภัย รวมถึงเรื่องทางข้ามม้าลายและมิติอื่นๆ ขณะเดียวกัน ต้องขอความร่วมมือกับตำรวจ ดังนั้นโรงเรียนไหนที่มีความไม่ปลอดภัย เช่น ไฟไม่สว่าง ต้นไม้ทับทางเดิน หรือมีจุดไหนต้องการความช่วยเหลือ ขอให้บอก กทม. ทั้งนี้ ไม่ใช่แค่ปัญหาของ กทม. แต่เป็นปัญหาของภาพรวม