กรณีมีการเผยแพร่ผ่านโซเชียลมีเดียอย่างแพร่หลาย เกี่ยวกับตั้งโต๊ะขายกัญชามวน (พันลำ) รวมถึงมีการสูบกัญชาตามท้องถนนอย่างสนุกสนาน โดยไม่มีเจ้าหน้าที่เข้าไปควบคุมดูแล จนถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างแพร่หลายว่า เป็นเรื่องที่สามารถทำได้หรือไม่

เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า ตามกฎหมายระบุว่าทำไม่ได้ เพราะห้ามสูบในที่สาธารณะ อีกทั้งเรื่องกลิ่นควัน กัญชาถือเป็นเหตุรำคาญ ตามพ.ร.บ.การสาธารณสุข 2535 ที่กรมอนามัยดูแลอยู่ ถ้าถามว่าการสูบตามท้องถนน เจ้าหน้าที่เอาผิดได้โดยไม่ต้องรอให้มีผู้มาแจ้งว่าเป็นเหตุรำคาญได้หรือไม่นั้น อาจจะยังต้องอาศัยคำว่าเหตุรำคาญ ตาม พ.ร.บ.การสาธารณสุข อย่างไรก็ตาม ในการประชุมผู้บริหารกระทรวงสาธาณรสุข (สธ.) เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา ซึ่งนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข ประชุมผ่านระบบออนไลน์ เนื่องจากต้อง Work from home ได้เน้นย้ำในที่ประชุมชัดเจนว่า เจตนารมณ์ของ สธ. คือการใช้ทางการแพทย์ เพื่อสุขภาพ ทั้งในรูปแบบของการแพทย์แผนไทย และการแพทย์แผนปัจจุบัน และยังคุยกันเรื่องประกาศที่เอามาใช้ในการควบคุมการใช้อยู่ทั้งในกลุ่มผู้ที่ต้องห้ามใช้ การใช้เป็นส่วนประกอบอาหาร ซึ่งกรมอนามัยดูแลและออกข้อกำหนดมาชัดเจนแล้ว ว่า 2 ใบต่อเมนู ใน 1 วัน ไม่ควรกินเกิน 2 เมนู เป็นต้น

ส่วนอาหารที่อยู่ในภาชนะปิดสนิทที่ อย. กำกับดูแล จัดเป็นอาหารควบคุมเฉพาะ ต้องมีการตรวจในห้องแล็ป ควบคุมปริมาณ THC ไม่เกินค่าความปลอดภัย และติดฉลากโภชนาการพร้อมคำเตือนอย่างชัดเจน ซึ่งที่อนุญาตไปแล้วทั้งอาหาร เครื่องดื่ม เครื่องสำอาง ประมาณ 1.4 พันรายการ

เมื่อถามว่า เรื่องการขายกัญชาตามท้องถนนทำได้หรือไม่ ถ้าทำได้ต้องขออนุญาตดำเนินการอย่างไร นพ.ไพศาล กล่าวว่า ถามว่าได้หรือไม่ คงต้องใช้กฎหมายเกี่ยวกับการตั้งร้าน ส่วนกฎหมายของแพทย์แผนไทย กำหนดชัดเจนห้ามขายให้เด็กต่ำกว่า 20 ปี หญิงมีครรภ์ หญิงให้นมบุตร เมื่อถามย้ำว่าหากขายเป็นลักษณะ กัญชามวน หรือบ้องกัญชาทำได้หรือไม่ นพ.ไพศาล กล่าวว่ากฎหมายไม่ได้คุมขนาดนั้น แต่ที่เห็นย่านถนนข้าวสารที่เจ้าหน้าที่ตำรวจไปแนะนำ ห้ามปราม คงต้องใช้กฎหมายในส่วนนั้นเข้ามาเกี่ยวข้อง ขอยืนยันว่าเจตนารมณ์สำคัญที่สุด ว่าเรื่องนันทนาการ เรื่องสูบ เรื่องเสพนั้นไม่แนะนำ และในคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ. … ซึ่งตนและ นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัด สธ. ที่ร่วมอยู่ในคณะ ได้มีการแสดงจุดยืนในนามของกระทรวงสาธารณสุขอย่างชัดเจนว่า เจตนารมณ์การใช้เพื่อทางการแพทย์ เพื่อสุขภาพ แต่ไม่เห็นด้วยในการเอาไปใช้สูบ หรือนันทนาการ

ทางด้าน นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่าจริงๆ แล้วต้องดูที่พนักงานเจ้าหน้าที่ว่าใครเป็นคนที่ถือครอง พ.ร.บ. อย่างของกรมอนามัย หากจุดมีควัน มีคนแจ้งว่าเป็นเหตุรำคาญ เจ้าหน้าที่ก็เข้าไปดำเนินการ ตักเตือน เอาผิดได้ ส่วน พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ.2542 ตนได้ทำแนวปฏิบัติเวียนให้กับเจ้าหน้าที่แล้ว ซึ่งเป็นของกรมแพทย์แผนไทย ที่ยังมีน้อย การไปดูแลตรงนี้ไม่ทั่วถึงแน่นอน แต่มีประเด็นอยู่ว่า เราจะดูในกลุ่มเยาวชนต่ำกว่า 20 ปี ตรงนี้สามารถดำเนินการตามกฎหมายได้แน่นอน แต่คนอายุเกิน 20 ปี แล้วมีการครอบครอง อาจจะเป็นบวก เป็นลบ

ตนมองว่าขณะนี้ มีคนกลุ่มหนึ่งที่มองเป็นช่องทางค้าขาย ใช้กัญชาเพื่อสนองความต้องการ แต่หากหยุดคิดสักนิดว่า การกระทำเช่นนี้เป็นการทำลายโอกาสของกัญชาที่จะมามีบทบาทช่วยในทางการแพทย์ ช่วยในทางเศรษฐกิจของประเทศ แต่พอเปิดกลับทำทุกอย่างจนสร้างความตกใจในสังคมพอสมควร ส่วนตัวเห็นข่าวก็ยังตกใจ ซึ่งเรื่องนี้รองนายกฯ ระบุในที่ประชุม สธ. เมื่อช่วงเช้าว่าเรื่องนี้ คณะกรรมาธิการฯ มองเห็น และทุกอย่างจะไปแก้ไขในร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ ที่กำลังพิจารณาอยู่ หากกฎหมายออกมาเร็ว เหตุการณ์พวกนี้จะลดน้อย หรือไม่มีเลย ตอนนี้มันบอกยาก พ.ร.บ.การสาธารณสุข และ พ.ร.บ.คุ้มครองส่งเสริมภูมิปัญญาฯ ก็ไม่ทันกับความพยายามของคนที่จะฝ่าฝืนกฎเกณฑ์ คนตั้งใจละเมิด ท้าทายสังคม จึงเป็นเรื่องยากหากจะให้กฎหมาย 2 ฉบับนี้ไปครอบคลุมการกระทำผิดทั้งหมด สังคม เราต้องมีจิตสำนึกสักนิด น่าจะดีกว่า คิดว่าถ้าให้โอกาสกัญชาทำหน้าที่ในการเป็นพืชสมุนไพรที่ใช้ในการรักษาโรค บทบาทตัวนี้จะเด่นชัดและทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติ กรมฯ ยืนยันทำให้เป็นสมุนไพรที่ดูแลสุขภาพของคนมากกว่า

“อย่าว่าแต่สูบกัญชาตามท้องถนนเลย สูบบุหรี่ตามถนน ตามที่สาธารณะยังผิดเลย แต่เป็นเรื่องยากหากอ้างว่าที่ส่วนบุคคล หรือไม่มีคนแจ้งเหตุรำคาญ ตอนนี้คิดว่าตัวกฎหมายไม่มีเขียนว่าตรงนี้มันผิด แต่ระบุว่าการครอบครองจำหน่ายต้องไม่ต่ำกว่า 20 ปี” นพ.ยงยศ กล่าว.