เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. ที่รัฐสภา นายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย ฐานะประธานกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่น พ.ศ….. สภาผู้แทนราษฎร พิจารณาร่างพ.ร.บ.การเข้าชื่อเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ….. เปิดเผยว่า การพิจารณาของคณะ กมธ.วิสามัญฯ ได้ดำเนินการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การเข้าชื่อเพื่อถอดถอน สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ….. เสร็จแล้ว โดยมีสาระสำคัญและประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับจากร่างพ.ร.บ. ซึ่งมีสรุปได้ดังนี้ 1. ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ เป็นกฎหมายเฉพาะที่เป็นการส่งเสริมสิทธิการมีส่วนร่วมของประชาชนในการปกครองท้องถิ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยการเปิดโอกาสให้กับประชาชนในท้องถิ่นสามารถเข้าชื่อกันเพื่อถอดถอนหรือเข้าชื่อขอให้มีการสอบสวนเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่นได้ เพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติในมาตรา 254 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560

นายนิพนธ์ กล่าวว่า 2.ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ได้กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการเข้าชื่อเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นโดยการปรับลดจำนวนผู้มีสิทธิเข้าชื่อถอดถอนเพื่อให้เหมาะสมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่นอกจากนี้ ได้กำหนดมาตรการกรณีการเข้าชื่อขอให้มีการสอบสวนเพื่อถอดถอนที่แตกต่างไปจากขั้นตอนการสอบสวนตามกฎหมายจัดตั้ง อปท.โดยกำหนด 1.เหตุในการเข้าชื่อเพื่อขอให้สอบสวนและถอดถอน 2.จำนวนผู้มีสิทธิเข้าชื่อขอให้มีการสอบสวนเพื่อถอดถอน 3.เอกสารที่ต้องยื่นในการขอให้มีการสอบสวน 4.กำหนดหลักเกณฑ์ในกระบวนการพิจารณา การคัดค้านและการขอถอนชื่อ ขั้นตอนและวิธีการสอบสวน การแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนโดยให้มีองค์ประกอบเกี่ยวกับจำนวนและคุณสมบัติของกรรมการสอบสวนไว้เป็นการเฉพาะ

นายนิพนธ์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ เพื่อเป็นหลักประกันในกระบวนการสอบสวนและการพิจารณาให้มีความเป็นธรรมแก่สมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่นกำหนดให้ผู้กำกับดูแลมีหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องและความครบถ้วนของเอกสารเพื่อให้กระบวนการใช้สิทธิของประชาชนเกิดผลสัมฤทธิ์ตามที่ได้มีการเข้าชื่อกันเพื่อถอดถอนจนครบเกณฑ์จำนวนตามที่กฎหมายกำหนดและเป็นบทบังคับให้ผู้กำกับดูแลต้องดำเนินการถอดถอน หรือดำเนินการให้มีการสอบสวนหากมีการเข้าชื่อครบจำนวน อันเป็นการจำกัดอำนาจดุลพินิจของผู้กำกับดูแลให้แตกต่างไปจากกฎหมายจัดตั้ง อปท. ซึ่งมิได้เป็นการเพิ่มอำนาจในการกำกับดูแลแต่ประการใด โดยกำหนดให้ผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นผู้กำกับดูแลสำหรับองค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล เมืองพัทยา และ อปท.อื่นที่มีกฎหมายจัดตั้ง และ รมว.มหาดไทย เป็นผู้กำกับดูแลสำหรับกรุงเทพมหานคร เพื่อให้มีมาตรฐานในการกำกับดูแล อปท.

นายนิพนธ์ กล่าวอีกว่า การดำเนินการร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว เป็นไปตามกฎหมายรัฐธรรมนูญที่ต้องการให้ประชาชนเข้ามีส่วนร่วมในระบอบประชาธิปไตย และสร้างการเมืองภาคประชาชนที่ประชาชนตรวจสอบการทำงานของผู้บริหารและสมาชิก อปท.ในทุกระดับตามสัดส่วนที่เหมาะสม ซึ่งตรงนี้ขอยืนยันว่าการพิจารณาของ กมธ.ในร่างกฎหมายนี้ไม่มีเจตนาที่จะสร้างปัญหาในการทำงานให้แก่อปท.แต่ตรงกันข้ามกลับเป็นประโยชน์มากกว่ากฎหมายจัดตั้ง อปท.เดิมในแง่ของการสร้างความเข้มแข็งให้การทำงานของอปท.ที่จะปฏิบัติงานด้วยความระมัดระวัง มีความรอบคอบ และยึดระเบียบกฎหมายเป็นหลักซึ่งจะเป็นเกราะป้องกันไม่ให้มีการฟ้องร้องในเรื่องคดีความกับผู้บริหารและสมาชิก อปท.ในภายหลัง ขณะเดียวกันที่มีการยื่นเรื่องของ 3 สมาคม อปท.นั้น ได้ให้ฝ่ายเลขาฯ รับเรื่องดังกล่าวเพื่อเป็นข้อสังเกตไว้แล้ว และหากสภาฯ เห็นชอบก็จะส่งไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ดำเนินการต่อไป.