เมื่อวันที่ 3 ส.ค. พ.ต.อ.เนติ วงษ์กุหลาบ ผกก.4 บก.ปคบ. บุกเข้าจับกุม นายธนโชติ (สงวนนามสกุล) พร้อมของกลางผลิตภัณฑ์แคปซูลฟ้าทะลายโจร จำนวน 450 ขวด พร้อมของกลางที่ใช้ผลิตยาฟ้าทะลายโจรโดยไม่ได้รับอนุญาตอื่น ๆ อีกหลายรายการ ทั้งนี้ สืบเนื่องจาก “บก.ปคบ.” สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมกันสืบสวนพบว่า นายธนโชติ มีพฤติกรรมลักลอบผลิตและจำหน่ายยาฟ้าทะลายโจรโดยไม่ได้รับอนุญาต จึงได้ติดต่อขอซื้อผลิตภัณฑ์ดังกล่าว กระทั่งผู้ต้องหาได้นำผลิตภัณฑ์ฟ้าทะลายโจร จำนวน 100 ขวด มาส่งให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เบื้องต้นตรวจสอบพบว่า เป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่ผลิตโดยไม่ได้รับอนุญาตจริง จึงเข้าจับกุมตัวก่อนขยายผลไปตรวจค้นบ้านพัก หมู่ที่ 4 ต.กำแพงแสน อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม ซึ่งเป็นสถานที่ผลิตยาทำให้พบของกลางจำนวนมาก

จากการสอบสวน นายธนโชติ ให้การรับว่า เป็นเจ้าของบ้านและลักลอบผลิตยาฟ้าทะลายโจรดังกล่าวจริง โดยทำมานานประมาณ 1 เดือน และเนื่องจากช่วงนี้ยาฟ้าทะลายโจรขายดี ทำให้วัตถุดิบหายาก ประกอบกับตนมีความรู้ด้านสมุนไพร รู้ว่าบอระเพ็ดมีรสขมคล้ายฟ้าทะลายโจร จึงได้นำผงบอระเพ็ดมาบรรจุลงแคปซูลแทน ก่อนจำหน่ายให้กับประชาชน

ด้าน พล.ต.ต.ณัฐศักดิ์ เชาวนาศัย ผบก.ปคบ. กล่าวว่า ฝากความห่วงใยมายังพี่น้องประชาชน อย่าเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ยาหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารตามคำโฆษณา ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร และควรเลือกซื้อจากร้านขายยาหรือร้านค้าที่เชื่อถือได้ ขอแจ้งเตือนให้ผู้ที่กำลังกระทำความผิด ลักลอบผลิตยาหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ไม่ได้รับอนุญาตให้หยุดการกระทำดังกล่าวทันที หากตรวจพบจะดำเนินคดีถึงที่สุด หากพี่น้องประชาชนพบเห็นการกระทำความผิดสามารถแจ้งได้ที่ สายด่วน ปคบ.1135 หรือเพจ ปคบ.เตือนภัยผู้บริโภค

ด้าน ภญ.สุภัทรา บุญเสริม ผู้ทรงคุณวุฒิด้านมาตรฐานผลิตภัณฑ์ด้านสาธารณสุข รักษาการรองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า ในขณะนี้มีประชาชนจำนวนมากให้ความสนใจซื้อผลิตภัณฑ์ฟ้าทะลายโจรมาตุนเก็บไว้ ทำให้ผลิตภัณฑ์ขาดตลาดอย่างรวดเร็ว จึงเป็นช่องทางให้มิจฉาชีพฉวยโอกาสนำผลิตภัณฑ์ปลอม หรือผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้คุณภาพมาตรฐานมาจำหน่าย อย. ขอให้ประชาชนระมัดระวังในการซื้อผลิตภัณฑ์ ฟ้าทะลายโจร

โดยผลิตภัณฑ์ฟ้าทะลายโจร จัดเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพร ไม่ใช่ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ฉลากต้องมีเลขทะเบียนตำรับสมุนไพร ขึ้นต้นด้วย อักษร “G” แนะนำว่าก่อนซื้อผลิตภัณฑ์ ขอให้ตรวจสอบอย่างละเอียด เพื่อจะได้ไม่เสี่ยงกับผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้คุณภาพ มาตรฐาน หรือผลิตภัณฑ์ปลอม โดยสามารถตรวจสอบได้ที่ ระบบตรวจสอบการอนุญาตผลิตภัณฑ์ www.fda.moph.go.th หรือ Oryor Smart Application และหากพบผลิตภัณฑ์ที่สงสัยว่าจะผิดกฎหมายสามารถ แจ้งร้องเรียนได้ที่สายด่วน อย. 1556 หรืออีเมล์ [email protected]

เบื้องต้นการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติสมุนไพร พ.ศ.2562 ฐาน “ผลิต ผลิตภัณฑ์สมุนไพรปลอม” มีอัตราโทษ จำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิน 1,000,000 บาท, ฐาน”ผลิตหรือขายผลิตภัณฑ์สมุนไพรโดยไม่ได้รับอนุญาต” มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ, ฐาน”ขายผลิตภัณฑ์สมุนไพรปลอม” มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 300,000 บาท นำส่งพนักงานสอบสวน เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป.