เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. คณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (กนส.) มีความเห็นว่าเศรษฐกิจฟื้นตัวชัดเจน แม้ยังไม่ฟื้นในทุกภาคธุรกิจ แต่ลูกหนี้เริ่มมีทิศทางดีขึ้น และธนาคารมีความมั่นคง เงินกองทุน เงินสำรองหนี้เสีย รวมทั้งสภาพคล่องธนาคารมีอยู่สูง ดังนั้นหลักเกณฑ์การกำกับที่ผ่อนคลายเรื่องมาตรการช่วยเหลือทางการเงินในวงกว้างมีความจำเป็นลดลง และทยอยปรับเข้าสู่ปกติได้ แต่ยังคงดูแลมาตรการเฉพาะจุด เฉพาะกลุ่มดูแลรายย่อยเปราะบาง

ในเรื่องนี้ น.ส.สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายและกำกับสถาบันการเงิน 2 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้บอกความคืบหน้ามาตรการทางการเงินที่จะช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง ในช่วงที่ได้รับผลกระทบโควิด-19 และผลกระทบของค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้นในปัจจุบัน

สำหรับช่วยเหลือลูกหนี้ที่ยังได้รับผลกระทบต่อเนื่อง ด้วยมาตรการที่เฉพาะเจาะจง ทั้งการผลักดันผ่านมาตรการที่ยังมีผลอยู่ ประกอบด้วย การปรับโครงสร้างหนี้เดิม การเติมเงินใหม่ให้กับภาคธุรกิจ รวมถึงมีมาตรการใหม่เพิ่มเติมเพื่อดูแลลูกหนี้รายย่อยที่ยังเปราะบาง ดังนี้

1.มาตรการเดิมที่ยังมีผลอยู่ ดังนี้

-มาตรการแก้หนี้ระยะยาว ที่ช่วยสนับสนุนการปรับโครงสร้างหนี้อย่างยั่งยืนแก่ผู้ประกอบธุรกิจและประชาชนไปจนถึงสิ้นปี 2566

-โครงการพักทรัพย์ พักหนี้ เพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจสามารถโอนทรัพย์มาชำระหนี้ได้ โดยให้สิทธิซื้อคืนภายในระยะเวลาที่ตกลงไว้จนถึงสิ้นเดือนเมษายน 2566

-การเพิ่มสภาพคล่องภายใต้มาตรการสินเชื่อฟื้นฟู เพื่อรองรับการฟื้นตัวและการปรับตัวของธุรกิจ ซึ่งจะสามารถใช้เม็ดเงินที่เหลืออยู่ได้จนถึงสิ้นเดือนเมษายน 2566

2.มาตรการเพิ่มเติมเพื่อดูแลลูกหนี้รายย่อยที่มีความเปราะบาง ดังนี้

-คงการลดอัตราการผ่อนชำระหนี้บัตรเครดิตขั้นต่ำที่ 5% ออกไปอีก 1 ปี จนถึงสิ้นปี 2566 และที่ 8% ในปี 2567 โดยให้กลับสู่เกณฑ์ปกติที่ 10% ตั้งแต่ปี 2568 เป็นต้นไป และคงการขยายระยะเวลาชำระหนี้ของสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัลที่ 1 ปี ออกไปจนถึงสิ้นปี 2566 จากเกณฑ์ปกติที่กำหนดไว้ 6 เดือน ทั้งนี้ เพื่อช่วยลดภาระการจ่ายชำระหนี้ และรักษาสภาพคล่องให้ครัวเรือนในกลุ่มเปราะบาง

-ปรับปรุงโปรแกรมการจ่ายหนี้ของโครงการคลินิกแก้หนี้ ซึ่งจะทำการเพิ่มทางเลือกในการผ่อนชำระ เพื่อจูงใจให้ลูกหนี้ที่ยังมีกำลังในการชำระหนี้สามารถจบหนี้ได้เร็วขึ้น ซึ่งลูกหนี้ที่เลือกแผนการชำระหนี้ที่มีระยะเวลาสั้น จะได้รับอัตราดอกเบี้ยที่ผ่อนปรนขึ้น และเตรียมการจัดมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ในไตรมาส 3 ของปีนี้ เพื่อเป็นช่องทางเสริมให้ลูกหนี้กลุ่มเปราะบางสามารถขอรับความช่วยเหลือได้

“ลูกหนี้รายย่อย กลุ่มเปราะบาง และช่วงค่าครองชีพสูง จะได้รับผลกระทบโดยเฉพาะลูกหนี้ไม่มีประกัน เพราะดอกเบี้ยสูงตามความเสี่ยงมากกว่าสินเชื่อมีหลักประกัน และคนรายได้น้อย คนรายได้ไม่แน่นอน คนที่มีอาชีพเฉพาะกลุ่มที่มีความผันผวนจะได้รับความช่วยเหลือ”

น.ส.สุวรรณี กล่าวอีกว่า เรื่องการจะขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ ก็ต้องดูว่าเหตุผลอะไรถึงปรับขึ้น ต้องมีการชี้แจง แต่ทั้งหมดจะอยู่ในกรอบของการให้บริการลูกค้าอย่างเป็นธรรม หรือมาร์เก็ตคอนดักท์ในเรื่องดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมต่างๆ รวมถึงได้มีคณะกรรมการติดตามทวงถามหนี้ที่ดูแลอัตราค่าธรรมเนียมทวงถามหนี้ไม่ให้สูงอยู่แล้ว และทุกอย่างมีการควบคุมอัตราเพดานการเก็บอยู่แล้ว

“มาตรการวันนี้เป็นมาตรการเสริมช่วยกลุ่มเปราะบาง ส่วนมาตรการแก้หนี้ระยะยาวยังมีถึงสิ้นปี 66 สอดรับเศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างเต็มที่ในปีหน้า เช่น เรื่องผ่อนชำระขั้นต่ำบัตรเครดิต แต่เรื่องปรับโครงสร้างหนี้ให้สอดรับรายได้ เป็นมาตรการที่ ธปท.ผลักดันต่อเนื่อง ถ้าเอ็นพีแอลหรือหนี้เสียมาจากกลุ่มที่อาจเคยพักหนี้ แต่ต่อมาเจ้าหนี้ติดต่อลูกหนี้ไม่ได้ เชื่อว่ามหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ที่จะจัดขึ้นจะมาช้อนลูกหนี้ตรงนี้ได้”