เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. ที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัด มท. ให้การต้อนรับนางเจอรัลดีน อองชาร์ค หัวหน้าสำนักงานองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (International Organization for Migration-IOM) ประจำประเทศไทย โดยมีนายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) นายสหรัฐ วงศ์สกุลวิวัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและความร่วมมือระหว่างประเทศ ปภ. ร.ต.สรมงคล มงคละสิริ ผู้อำนวยการกองการต่างประเทศ สำนักงานปลัด มท. และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมให้การต้อนรับและหารือ

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า ขอขอบคุณผู้แทน IOM และคณะที่ได้มาเยี่ยมเยือนในวันนี้ พร้อมทั้งได้กล่าวถึงโครงการส่งผู้หนีภัยการสู้รบจากเมียนมาเดินทางไปตั้งถิ่นฐานยังประเทศที่สามซึ่งถือว่ามีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะเป็นการทำให้เขาเหล่านั้นมีคุณภาพชีวิตและอนาคตที่ดีต่อไป จึงประสงค์ให้ทาง IOM ได้ร่วมสนับสนุนการดำเนินการโครงการฯ ดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกระทรวงมหาดไทย ยินดีสนับสนุนการดำเนินการ 

นางเจอรัลดีน อองชาร์ค หัวหน้าสำนักงาน IOM กล่าวแสดงความขอบคุณปลัด มท.ที่ให้โอกาสเยี่ยมคารวะ รวมทั้งขอขอบคุณที่ได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจาก มท.ในความร่วมมือด้านต่างๆ เสมอมา ซึ่งรวมถึงการดำเนินโครงการส่งผู้หนีภัยการสู้รบจากเมียนมา (ผภร.) เดินทางไปตั้งถิ่นฐานยังประเทศที่สาม ที่มีการดำเนินการร่วมกันกับกระทรวงมหาดไทยอย่างใกล้ชิดแม้ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ COVID-19 การดำเนินการดังกล่าวก็ยังคงขับเคลื่อนไปได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ IOM ได้เริ่มดำเนินการในประเทศไทยตั้งแต่ช่วงปี 2520 โดยดำเนินโครงการส่งผู้อพยพอินโดจีนไปตั้งถิ่นฐานยังประเทศที่สาม ส่วนการดำเนินการต่อผู้หนีภัยการสู้รบจากเมียนมานั้น เริ่มขึ้นในปี 2547 เป็นต้นมา โดยปัจจุบันได้ส่งผู้หนีภัยการสู้รบจากเมียนมาเดินทางไปตั้งถิ่นฐานยังประเทศที่สามแล้วมากกว่า 1 แสนคน และขอขอบคุณกระทรวงมหาดไทยที่อนุญาตให้ IOM เข้าไปดำเนินโครงการค้นหาผู้ป่วยวัณโรคเชิงรุกในพื้นที่พักพิงชั่วคราวผู้หนีภัยการสู้รบจากเมียนมา บ้านแม่หละ อ.ท่าสองยาง จังหวัดตาก ด้วย 

จากนั้น ผู้แทน IOM ได้กล่าวถึง ภารกิจที่ดำเนินการเกี่ยวกับแรงงานต่างด้าว อาทิ การสนับสนุนให้แรงงานต่างด้าวเข้าสู่การจ้างงานที่ถูกกฎหมาย การสนับสนุนให้แรงงานต่างด้าวได้รับเอกสารระบุตัวตนทางกฎหมาย รวมทั้งการออกสูติบัตรให้แก่บุตรของแรงงานข้ามชาติ โดยนายสุทธิพงษ์ ได้กล่าวแสดงความเห็นในเรื่องดังกล่าวว่า การดำเนินนโยบายต่อแรงงานต่างด้าวของประเทศไทยนั้น มีหน่วยงานขับเคลื่อนหลัก คือ กระทรวงแรงงาน แต่อย่างไรก็ดีสำหรับการผ่อนผันให้คนต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา เมียนมา และ สปป.ลาว) สามารถอยู่เพื่อทำงานได้อย่างถูกต้องในราชอาณาจักร นั้น กระทรวงมหาดไทยมีการดำเนินการร่วมกับกระทรวงแรงงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ อย่างใกล้ชิด โดยในห้วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ COVID-19 ที่ผ่านมา มท.ได้มีประกาศกระทรวงมหาดไทยผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าวสามารถอยู่ในราชอาณาจักรเพื่อทำงานต่อไปได้ ซึ่งเป็นการดำเนินการตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบ และสำหรับในส่วนของการจัดทำบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย หรือบัตรชมพูนั้น มท.ก็ได้ดำเนินการออกบัตรประจำตัว ให้แรงงานกลุ่มข้างต้นเพื่อใช้เป็นเอกสารประจำตัว ทำให้แรงงานเหล่านี้สามารถเข้าถึงบริการสาธารณะขั้นพื้นฐานต่างๆ ต่อไป และในส่วนของการออกใบสูติบัตร มท.ดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยทะเบียนราษฎรอยู่แล้ว 

ผู้แทน IOM ได้กล่าวแสดงความขอบคุณและชื่นชมการดำเนินการที่มท. ได้มีการออกเอกสารต่างๆ ให้แก่แรงงานต่างด้าวและบุตร เพื่อเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐาน ซึ่งถือว่ามีมาตรฐานสูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคนี้ สอดคล้องกับที่ IOM จะมีการจัดประชุมระดับภูมิภาคในช่วงปลายปี 2565 โดยมีประเด็นในการประชุมมุ่งเน้นการบริหารจัดการการข้ามแดนและการออกเอกสารทางกฎหมายให้แก่ผู้โยกย้ายถิ่นฐาน ซึ่ง IOM ทราบดีว่า มท.มีการปฏิบัติที่ดีและสามารถแบ่งปันประสบการณ์ให้กับผู้แทนจากประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค รวมทั้งผู้แทนจากประเทศนอกภูมิภาค ได้ด้วย ซึ่งนายสุทธิพงษ์ ได้กล่าวเน้นย้ำถึงการยินดีสนับสนุนการจัดการประชุมและส่งผู้แทนเข้าร่วมแบ่งปันประสบการณ์ในการปฏิบัติให้ผู้แทนชาติอื่นๆ ได้รับทราบ 

ในช่วงท้าย ผู้แทน IOM ได้กล่าวถึงการดำเนินงานขับเคลื่อนระบบฐานข้อมูลของประเทศไทยที่ดีมาก และหวังว่าไทยจะแบ่งปันความสำเร็จนี้ให้กับประเทศเพื่อนบ้านได้เรียนรู้ได้ พร้อมทั้งแสดงความขอบคุณปภ.ที่ได้ร่วมมือกับ IOM อย่างใกล้ชิดในการร่วมโครงการซ้อมแผนรับมือภัยพิบัติที่จัดร่วมกัน โดยนายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม ได้กล่าวขอบคุณ IOM ที่สนับสนุนการดำเนินโครงการดังกล่าว ซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่องตั้งแต่ปี  2558 และขอขอบคุณที่ทาง IOM มีการปรับปรุงหลักสูตรให้เข้ากับบริบทปัจจุบัน ซึ่งผู้เข้าร่วมอบรมจะได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่อันจะส่งผลให้การดำเนินงานด้านการรับมือภัยพิบัติที่เกี่ยวข้องจะบรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายร่วมกันตามกำหนดไว้.