เมื่อวันที่ 1 ก.ค. ที่เรือนจำกลางคลองเปรม ถนนงามวงศ์วาน แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพฯ จัดกิจกรรม “ราชทัณฑ์…ดีเดย์ 1 กรกฎาคม ปล่อยคาราวานนักโทษเด็ดขาด ออกทํางานลอกท่อระบายน้ำ ในเขตพื้นที่ กรุงเทพมหานคร” ด้วยนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมร่วมกับ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยให้กรมราชทัณฑ์ส่งนักโทษเด็ดขาดออกทำงานสาธารณะนอกเรือนจำ เพื่อลอกท่อระบายน้ำ แก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งกรมราชทัณฑ์ได้ร่วมประชุมหารือกับผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยคณะผู้บริหารสำนักการระบายน้ำ เมื่อวันที่ 7 มิ.ย.65 จึงได้กำหนดให้ในวันที่ 1 ก.ค.65 เป็นวันดีเดย์เริ่มปล่อยคาราวานผู้ต้องขัง ออกลอกท่อระบายน้ำในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครโดยพร้อมเพรียงกัน

ส่วนกำหนดการจัดพิธีปล่อยแถวนักโทษเด็ดขาดออกทำงานลอกท่อระบายน้ำเพื่อป้องกันอุทกภัย ในพื้นที่กรุงเทพมหานครนั้น นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธาน พร้อมด้วย นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เป็นประธานปล่อยคาราวานดังกล่าว

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม กล่าวว่า ในวันนี้ถือเป็นโอกาสอันดีที่จะได้เริ่มดำเนินการลอกท่อระบายน้ำใน 15 เขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ได้แก่ เขตห้วยขวาง เขตบางนา เขตหลักสี่ เขตสายไหม เขตบางเขน เขตลาดพร้าว เขตบางกะปิ เขตลาดกระบัง เขตหนองจอก เขตประเวศ เขตตลิ่งชัน เขตบางขุนเทียน เขตภาษีเจริญ เขตบางแค เขตหนองแขม รวมระยะทาง 280,714 เมตร และในส่วนพื้นที่ความรับผิดชอบดูแลของสำนักการระบายน้ำระยะทาง 249,606 เมตร จึงคิดเป็นระยะทางทั้งสิ้นรวม 530,230 เมตร หรือ 530 กิโลเมตร คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 3 เดือน โดยใช้แรงงานนักโทษเด็ดขาดประมาณ 300 คน จากเรือนจำและทัณฑสถานทั้งหมด 11 แห่ง ได้แก่ 1.เรือนจำจังหวัดปทุมธานี 2.เรือนจำกลางสมุทรปราการ 3.เรือนจำอำเภอธัญบุรี 4.ทัณฑสถานวัยหนุ่มกลาง 5.เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร 6.ทัณฑสถานบำบัดพิเศษกลาง 7.เรือนจำพิเศษมีนบุรี 8.เรือนจำกลางคลองเปรม 9.เรือนจำพิเศษธนบุรี 10.เรือนจำจังหวัดนนทบุรี และ 11.เรือนจำจังหวัดสมุทรสาคร

สำหรับกลุ่มผู้ต้องขังที่เข้าโครงการ คัดเลือกอย่างไร นายสมศักดิ์ ระบุว่า ผู้ต้องขังที่ออกมาทำงานลอกท่อ จะเป็นผู้ต้องขังที่มีโทษเหลือน้อย มีความประพฤติดี เป็นนักโทษชั้นเยี่ยม ถึงในชั้นดีมาก ซึ่งก็ต้องดูพฤติกรรมที่ผ่านมาระหว่างอยู่ภายในเรือนจำก่อนคัดเลือกมาทำงาน ซึ่งพวกเขาก็อาสาสมัครเข้ามา นอกจากนี้ กลุ่มผู้ต้องขังที่ออกมาทำงานลอกท่อก็จะได้ผลตอบแทน เป็นส่วนแบ่งปันผลกำไร โดยมี 2 ระยะ คือ ระยะเเรกคือค่าแรงขั้นต่ำ ส่วนระยะที่สองคือ ส่วนแบ่งที่เป็นกำไร สำหรับค่าแรงขั้นต่ำ ผู้ต้องขังจะได้รับต่อวันอยู่แล้ว และไม่ได้หักอะไรเพิ่มเติม โดยจะได้รับเป็นจำนวน 131 บาทต่อวัน และผู้ต้องขังก็จะได้ในส่วนกำไรอีก 70% และการออกมาทำงานลอกท่อ 1 วันของผู้ต้องขังนั้น เท่ากับได้รับการลดโทษ 1 วัน

นายสมศักดิ์ กล่าวต่อว่า หลังผู้ต้องขังออกมาทำงานลอกท่อ การป้องกันโควิด-19 หลังจากกลับก็คือ จะมีการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ทุกๆ 3-5 วัน และสวมแมสก์ โดยผู้ต้องขังที่ออกมาทำงานจะไม่ถูกนำไปรวมกับผู้ต้องขังรายอื่นๆ โดยจะแยกเป็นห้องขังพิเศษ ซึ่งทุกครั้งหลังจบงาน ก็มีการตรวจหาโควิด-19 ตลอด

ขณะที่ นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวว่า สำหรับผู้ต้องขังในคดีที่ไม่อนุญาตให้ออกมาทำงานลอกนั้น ประกอบด้วย นักโทษชั้นดี ที่เหลือโทษน้อย ซึ่งจะไม่ใช่ผู้ต้องขังจากคดีอุกฉกรรจ์ คดีทางเพศ คดีที่สังคมให้ความสนใจ คดียาเสพติดรายสำคัญ หรือคดีความมั่นคง ดังนั้น ผู้ต้องขังที่ออกมาทำงานลอกท่อในวันนี้ จะเป็นผู้ต้องขังที่มีคดีเล็กน้อย และต้องเป็นคนที่ไม่ทำผิดระหว่างอยู่ในเรือนจำ หรือมีพฤติกรรมดี

ส่วนสัญญาว่าจ้างกับทาง กทม.นั้น นายอายุตม์ ระบุว่า สัญญาคือ 3 เดือน ในช่วงสิ้นปีงบประมาณนี้ โดยในปี 2566 ทาง กทม.จะว่าจ้างกรมราชทัณฑ์ ในระยะทาง 3,000 กม./ปี ดังนั้น ทางกรมราชทัณฑ์จึงต้องเตรียมความพร้อมในการคัดผู้ต้องขัง ส่วนเรือนจำทั่วประเทศก็มีการทำแบบนี้ แต่ละจังหวัดหรือเอกชนก็จะติดต่อไปที่เรือนจำนั้นๆ เพื่อลอกท่อระบายน้ำตามจุดที่ประสงค์ โดยมีระเบียบการว่าจ้างเหมือนกันหมด