เมื่อวันที่ 1 ก.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  ที่โรงแรมดิ แอทธินี โฮเทล ถนนวิทยุ  สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยจัดงานเฉลิมฉลองครบรอบ 246 ปีแห่งการประกาศอิสรภาพของประเทศสหรัฐอเมริกา หรือวันชาติสหรัฐฯ  โดยการประกาศอิสรภาพสหรัฐอเมริกาตรงกับวันที่ 4 ก.ค.ของทุกปี  สำหรับงานดังกล่าวในวันนี้ (1 ก.ค.) ถือเป็นการกลับมาจัดครั้งแรกหลังจากเว้นว่างไป 3 ปี เนื่องจากเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 จึงใช้ธีมงานที่ว่า “The Roaring’20” ซึ่งเป็นบรรยากาศในยุคคริสตทศวรรษ 1920 เป็นทศวรรษแห่งพลังใจ นวัตกรรม และการเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ในสหรัฐอเมริกา หลังฟื้นตัวจากการระบาดครั้งใหญ่ของโรคไข้หวัดสเปนที่ได้ส่งผลกระทบไปยังทั่วโลก

ขณะที่มีบุคคลสำคัญในแวดวงต่างๆ ทั้งผู้แทนรัฐบาล กองทัพ หน่วยงานภาครัฐ  ภาคธุรกิจ นักวิชาการ นักการเมือง และเอกอัครราชทูตประเทศต่างๆ เดินทางมาร่วมแสดงความยินดีอย่างคับคั่ง อาทิ นายจิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา องคมนตรี  พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรมว.ต่างประเทศ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา นายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข  นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง  พล.ต.ต.อภิชาติ สุริบุญญา รองผู้บัญชาการตำรวจท่องเที่ยว นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล นายเทวัญ ลิปตพัลลภ หัวหน้าพรรคชาติพัฒนา  นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ เหรัญญิกพรรคและหัวหน้านโยบายพรรคพลังประชารัฐ  นายโอเล็กซานเดอร์ ไลซัค อุปทูตยูเครนประจำประเทศไทย  ขณะที่นายไมเคิล ฮีธ อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ และภริยา เป็นผู้ให้การต้อนรับบรรดาแขกผู้มีเกียรติที่มาร่วมงานดังกล่าว

ทั้งนี้ อุปทูตสหรัฐฯ กล่าวบนเวทีตอนหนึ่ง ว่า  ตนรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้ต้อนรับทุกคนในวันนี้เพื่อฉลองวาระครบรอบ 246 ปีแห่งการประกาศอิสรภาพของสหรัฐอเมริกา หน่วยงานรัฐบาลสหรัฐฯ ทั่วโลกเฉลิมเฉลองวันสำคัญนี้ด้วยการจัดงานเลี้ยงสังสรรค์และการรวมตัวกัน ไม่เพียงเพื่อฉลองการประกาศอิสรภาพของสหรัฐฯ แต่ยังเป็นการฉลองมิตรภาพระหว่างสหรัฐฯ กับประเทศต่างๆที่หน่วยงานรัฐบาลสหรัฐฯประจำการ  ตนรู้สึกยินดีและโล่งใจที่ในที่สุดเราก็สามารถมารวมตัวกันได้ในวันสำคัญนี้  นอกจากนี้ ตนรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้ทำงานเคียงข้างทุกคนในประเทศไทยตลอด 3 ปีที่ผ่านมา  อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเป็นฤดูกาลแห่งการโยกย้ายไปประจำการที่ใหม่ พวกเราหลายคนที่รวมทั้งตนและภรรยาจะสิ้นสุดการปฏิบัติหน้าที่ของเราที่เมืองไทยในเร็ว ๆ นี้ แม้เราจะตื่นเต้นกับสิ่งใหม่ที่รออยู่ข้างหน้า แต่ก็ใจหายที่จะต้องจากประเทศที่เราได้รู้จักและชื่นชมมากขึ้นเรื่อยๆนี้

นายฮีธ กล่าวอีกว่า  เราเลือกธีม Roaring ‘20s เป็นแนวการจัดงานของเราในคืนนี้ เพื่อเฉลิมฉลองมิตรภาพที่ยืนนานนี้ ในคริสต์ทศวรรษ 1920 นั้น นายเรย์มอนด์ บี. สตีเวนส์ ที่ปรึกษากระทรวงการต่างประเทศของสยาม ได้กลายมาเป็นชาวอเมริกันคนแรกที่เข้ามาอาศัยอยู่ในอาคาร ซึ่งปัจจุบันคือทำเนียบเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย  อีกทั้ง ยุค “Roaring 1920s” เป็นทศวรรษแห่งพลังใจและความเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ในสหรัฐฯ หลังฟื้นตัวจากโรคระบาดใหญ่ที่เกิดขึ้นทั่วโลก  ขณะเดียวกัน ในปี 2565 พวกเราเพิ่งผ่านพ้นโรคระบาดใหญ่กันมาอีกครั้งด้วยความหวังในอนาคตที่ผู้คนมีสุขภาพดี อยู่เย็นเป็นสุข และเจริญรุ่งเรือง อย่างไรก็ตาม เราจะไปถึงอนาคตที่ว่านั้นได้ ก็ต่อเมื่อทุกประเทศช่วยกันจัดการความท้าทายที่มีร่วมกันในฐานะประชาคมโลก

อุปทูตสหรัฐฯ กล่าวอีกว่า  สำหรับสหรัฐฯ และไทย เราสองชาติผนึกกำลังร่วมมือในเรื่องสำคัญต่าง ๆ หลายประการ  สำหรับการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 เป็นบทเรียนอันเจ็บปวดที่เตือนให้เรารู้ว่าความร่วมมือระหว่างประเทศเป็นสิ่งสำคัญยิ่งต่อการรับมือความท้าทายด้านสุขภาพโลก สหรัฐฯ และไทยทำงานร่วมกันมาตลอด 60 ปีเพื่อจัดการกับประเด็นปัญหาสำคัญที่มีผลกระทบต่อสาธารณสุข ความร่วมมือของเราได้ช่วยชีวิตผู้คนมากมายผ่านการวิจัย การพัฒนา และการค้นพบทางการรักษา ความร่วมมือระหว่างกันเพื่อตอบโต้การระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ถือเป็นก้าวสำคัญทางประวัติศาสตร์อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน สหรัฐฯ และภาคีที่กระทรวงสาธารณสุข ตลอดจนกระทรวงอื่น ๆ ของไทย ได้ทำงานร่วมกันเพื่อแจกจ่ายวัคซีนโควิด-19 จำนวน 2.5 ล้านโดสที่สามารถช่วยชีวิตผู้คนได้ไปให้แก่ทั้งชาวอเมริกันและชาวไทย  ปีนี้ยังถือเป็นโอกาสสำคัญของสหรัฐฯ และไทยในการส่งเสริมการลงทุนในภูมิภาค เราตั้งตารอที่จะได้สร้างกรอบเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิกเพื่อความเจริญรุ่งเรือง (Indo-Pacific Economic Framework for Prosperity) ร่วมกัน ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนผลประโยชน์ของเราทั้งสองประเทศและทั้งภูมิภาค สหรัฐฯ พร้อมสนับสนุนอย่างเต็มที่ในโอกาสที่ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปคในปีนี้ และรอคอยที่จะได้ต่อยอดความสำเร็จของไทยเมื่อเราเป็นเจ้าภาพในปี 2566

นายฮีธ กล่าวอีกว่า  แม้ผ่านมากว่า 189 ปีแล้ว นับตั้งแต่ที่เราสองประเทศได้ลงนามในสนธิสัญญาเพื่อยกระดับความสัมพันธ์ทางธุรกิจและการค้า แต่ความสัมพันธ์ดังกล่าวก็ยังงอกเงยและเติบโตขึ้นเรื่อยๆ โดยยอดมูลค่าการค้าระหว่างสองประเทศเติบโตในระดับเลขสองหลัก และสหรัฐฯ ยังเป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดของไทย  นอกจากนี้ เราสองประเทศยังร่วมมือกันในการลดผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เราสนับสนุนเป้าหมายของไทยที่ประกาศในการประชุม COP26 ที่จะลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจกลงภายในปี 2573 และขอชื่นชมที่ไทยเป็นประเทศแรกในโลกที่เข้าร่วมข้อริเริ่มความต้องการใช้พลังงานสะอาด (Clean Energy Demand Initiative) ที่นำโดยสหรัฐฯ ซึ่งจะช่วยเพิ่มการเข้าถึงทรัพยากรพลังงานหมุนเวียน  ขณะที่ความร่วมมือด้านความมั่นคงสามารถนับย้อนไปได้กว่า 60 ปี และเป็นเสาหลักในความสัมพันธ์ของเรา คอบร้าโกลด์ หนึ่งในการฝึกซ้อมทางทหารระดับนานาชาติที่ดำเนินมายาวนานที่สุด ก็ยังคงเป็นโอกาสสำคัญของสหรัฐฯ ไทย และภาคีหุ้นส่วนอื่น ๆ ในภูมิภาคที่จะได้ฝึกซ้อมร่วมกันเพื่อตอบสนองต่อวิกฤติการณ์ต่าง ๆ ในภูมิภาคอย่างมีประสิทธิผล 

ส่วนความร่วมมือด้านการบังคับใช้กฎหมาย โดยเฉพาะในการปราบปรามยาเสพติดและการค้ามนุษย์ ส่งผลดีต่อทั้งภูมิภาค เรายังคงมุ่งมั่นทุ่มเทที่จะทำงานร่วมกับภาคีชาวไทยเพื่อต่อสู้กับการค้ายาเสพติดผิดกฎหมายและให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ที่ตกเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ นอกจากนี้ ความร่วมมือด้านสาธารณสุข ธุรกิจการค้า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การทหาร และการบังคับใช้กฎหมาย ตลอดจนโครงการนักเรียนแลกเปลี่ยน เป็นเพียงส่วนหนึ่งของความร่วมมือหลากหลายด้านที่เราดำเนินการร่วมกันในปัจจุบัน

“การได้ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะอุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูต ณ สถานทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย ถือเป็นเกียรติยศสูงสุดในอาชีพการงานของผม ผมรู้สึกภาคภูมิใจในสิ่งที่เราทั้งสองประเทศได้ทำให้บังเกิดผลร่วมกัน ความร่วมมือของเรา ความพร้อมรับมือของเรา และเหนือสิ่งอื่นใด มิตรภาพที่ยืนนานของเรา ได้เตรียมพวกเราให้พร้อมสำหรับอนาคตที่ผู้คนมีสุขภาพดี อยู่เย็นเป็นสุข และเจริญรุ่งเรือง  ขอขอบคุณทุกท่านที่มาร่วมงานกับเราวันนี้เพื่อเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 246 ปีการประกาศอิสรภาพของสหรัฐฯ”นายฮีธ กล่าว