“มองไกล เห็นใกล้” ดังเช่นกรณีที่ บก.ปคม.เปิดปฏิบัติการ “คอสเพลย์ อวตาร” ลวงเด็กส่งภาพโป๊ ขู่แบล็กเมล์ จนเหยื่อเครียดฆ่าตัวตาย หนำซ้ำ พบคลิปลับเด็กสาวแรกรุ่นกว่า 30 คน ที่ตกเป็นเหยื่อถูกกระทำตำบอน มิต่างจาก “ทาสอารมณ์” ที่คอยสนองตัณหา

สุขจากการได้เป็นผู้กระทำ ได้เห็นความเจ็บปวด ผ่านการเป็น “ผู้คุมกฎ” เสียงร้องโหยหวนของเด็กสาวที่แบกรับความกดดันไม่ไหว เหมือนคนไม่มีสติ ถือมีดจี้คอตัวเองพร้อมปลิดชีพ เด็กสาวบางรายสวมบท “ทาสหญิง” เปลื้องผ้าคลานสี่ขา มิต่างอะไรกับสุนัขที่พร้อมรับฟังคำสั่ง เพียงหวังไม่ให้คลิปของตนถูกปล่อยในโลกความจริง

มิแปลกใจหากความตาย จะเป็นหนทางสุดท้ายที่จะทำให้หลุดพ้นจากขุมนรกนี้

พฤติกรรมแบบนี้ถือว่าเป็นการทารุณกรรมทางเพศรูปแบบหนึ่ง คนร้ายตระเตรียมเพื่อวัตถุประสงศ์ทางเพศ หรือที่เรียกว่า Child Grooming อาชญากรรมความรุนแรงต่อเด็กโดยใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ มีแนวโน้มสูงขึ้น หลายประเทศให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ มีการกำหนดความผิด-การคาดโทษเอาไว้ชัดเจน

เช่น กรณีของ อดัม จอห์นสัน อดีตนักเตะสโมสรซันเดอร์แลนด์ ถูกจำคุก 6 ปี ในข้อหามีกิจกรรมทางเพศกับเด็กอายุไม่ถึง 16 ปี และข้อหาล่อล่วงเด็ก หรือที่ เนเธอร์แลนด์ โทษสูงสุดคือจำคุก 2 ปี หรือพ่วงโทษปรับ, สหรัฐอเมริกา กำหนดบทลงโทษโดยเฉพาะ, คอสตาริกา กำหนดโทษการล่อลวงเด็กทางเพศโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ให้ผิดกฎหมาย กำหนดโทษ 1-3 ปี สำหรับบุคคลที่พยายามเริ่มการสื่อสารเพื่อให้เกิดกามอารมณ์ หรือการสื่อสารทางเพศ กับเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี, มาตรา 2422 แห่งประมวลกฎหมายอาญา กำหนดให้ความพยายามหรือการชักชวนชักจูงชักชวน หรือบีบบังคับบุคคลใดก็ตามที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี กระทำความผิดเกี่ยวกับการค้าประเวณีหรือกิจกรรมทางเพศทางอาญา ต้องจำคุก 15 ปี และปรับ

กลับมาที่บ้านเรา แม้จะมีกฎหมายเอาผิด แต่มีข้อจำกัดในแง่ทักษะความชำนาญ หลายกรณีพนักงานสอบสวนไม่มีความเข้าใจอาชญากรรมรูปแบบนี้ ไปจนถึงไม่เชื่อในสิ่งที่ผู้เสียหายเผชิญว่าเกิดขึ้นจริง เช่นเดียวกับข้อกฎหมายที่ตีความกว้าง

ไม่มีนิยามของการคุกคามทารุณกรรมทางเพศที่แน่ชัด จึงไม่แปลกที่เรามักจะเห็นว่าผู้ที่เคยกระทำผิดยังคงก่อเหตุซ้ำอยู่เสมอ ขณะที่ต่างประเทศให้ความสำคัญกับ “Age of Consent” ห้วงอายุที่สามารถยินยอมให้มีเพศสัมพันธ์ตามกฎหมายได้  ดังนั้นเพียงแค่การส่งข้อความในเชิงลามกอนาจาร หรือ พฤติกรรมที่ส่อไปในทางล่อลวงเด็กก็สามารถเอาผิดโดยที่ไม่ต้องรอให้ถูกกระทำ เป็นการ “ตัดไฟแต่ต้นลม”

“คอสเพลย์ อวตาร” เป็นตัวอย่างที่ควรถอดบทเรียน และนำไปสู่การปรับแก้กฎหมายให้ครอบคลุม เพื่อปกป้องและคุ้มครองผู้ถูกกระทำ ในทางกลับกันสังคมต้องเข้าใจ สนับสนุน ไม่ตีตราตอกย้ำมายาคติเดิมๆ.

นายอัคคี