ภายหลังเกิดเหตุเครื่องบิน MIG-29 กองทัพเมียนมา รุกล้ำน่านฟ้าไทยที่ อ.พบพระ จ.ตาก เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. ชื่อของ เครื่องบินขับไล่ F-35 สัญชาติอเมริกัน ถูกกลับมาพูดถึงอีกครั้ง เนื่องด้วย F-35 เป็นหนึ่งในตัวเลือกลำดับต้นๆ ที่กองทัพอากาศไทย ต้องการได้มาประจำการทดแทนเครื่องบินขับไล่รุ่นเก่า

พล.อ.อ.นภาเดช ธูปะเตมีย์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.)  ได้กล่าวถึงความจำเป็นในการเสริมเขี้ยวเล็บเครื่องบินขับไล่ F-35 ไว้ตอนหนึ่งว่า  “การที่เรามีเครื่องบินที่มีเทคโนโลยีใหม่ที่เราไม่เคยมีมาก่อน ทำให้ทุกองคาพยพเกิดการเรียนรู้ร่วมกัน และนั่นจะทำให้กองทัพอากาศของท่านหลุดพ้นจากภัยคุกคามคือความล้าสมัย ไปสู่ความทันสมัย นั่นคือสิ่งที่พวกเราทุกคนต้องการใช่หรือไม่ ขอให้ช่วยกันร่วมจิตร่วมใจเพื่อให้ได้มีของดีใช้”

ครม.อนุมัติวาระลับเอกสารริมแดง

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 11 ม.ค. 66 ที่ประชุม ครม.อนุมัติวาระลับ เอกสารริมแดงโครงการพิจารณาจัดหาเครื่องบินขับไล่โจมตีของกองทัพอากาศลอตแรกจำนวน 4 เครื่องวงเงิน 13,800 ล้านบาท ผูกพันงบประมาณ 4 ปี ตั้งแต่ปี 2566-2569

จากนั้น กองทัพอากาศ สั่งเดินหน้าตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 2 ชุด เพื่อศึกษาและจัดหาเครื่องบินขับไล่โจมตี ซึ่งกำหนดคุณสมบัติต้องเป็นเครื่องบินขับไล่โจมตีสมรรถนะสูงยุคที่ 5 (The 5th Generation Fighter) มีคุณลักษณะ 5 ประการ ที่ ตรงกับ F-35 ทุกประการ

(1) Stealth ระบบล่องหนเปรียบเสมือนการมีผ้าคลุมวิเศษ ซึ่งคลุมแล้วเรดาร์มองไม่เห็น

(2) Super Cruise การบินด้วยความเร็วเหนือเสียงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเครื่องบินยุคที่ 4 ทำได้ แต่ความเร็วทำได้แค่ช่วงระยะเวลาสั้นๆ เนื่องจากกินน้ำมันมาก แต่ถ้าเป็นเครื่องบินในยุคที่ 5 สามารถอยู่ในภาวะนี้ได้นานมาก

(3) Sensor Fusion เซ็นเซอร์รอบตัว เวลานักบินใส่หมวก แล้วก้มลงมองในขณะที่บินอยู่ไม่ได้มองเห็นพื้นเครื่องบิน แต่เห็นพื้นดิน ทำให้ง่ายต่อการใช้งาน

(4) Super Maneuverable คุณสมบัติในการบินด้วยท่วงท่าพิสดาร หรือขีดความสามารถทางการบินที่หลากหลาย นำมาซึ่งยุทธวิธีและชัยชนะ

(5) Synergistic tegrated Avionics ความสามารถในการเชื่อมโยงข้อมูลในอนาคต ซึ่งเป็นเสมือนยานอวกาศที่เป็นยานแม่และมียานลูกที่ไม่มีคนขับ

พล.อ.อ.นภาเดช ธูปะเตมีย์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ

ขีดความสามารถ F-35 ทิ้งระเบิดนิวเคลียร์

กล่าวสำหรับประวัติ F-35 ผลิตโดยบริษัท Lockheed Martin ยักษ์ใหญ่ ในวงการ อากาศยาน อวกาศ และการป้องกันประเทศ ระดับโลก สัญชาติอเมริกัน ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นเครื่องบินขับไล่โจมตีสมรรถนะสูงยุคที่ 5 หนึ่งที่นั่ง หนึ่งเครื่องยนต์ ทำภารกิจได้หลากหลาย ทั้งการสนับสนุนทางอากาศ, การทิ้งระเบิดทางยุทธวิธี และการป้องกันภัยทางอากาศ ปัจจุบันมีทั้งหมด 3 รุ่น

(1) F-35 A แบบขึ้น-ลงปกติ
(2) F-35 B แบบขึ้น-ลงในแนวดิ่ง
(3) F-35 C แบบใช้บนเรือบรรทุกเครื่องบิน

สำหรับสมรรถนะ F-35 ใช้เครื่องยนต์ Pratt & Whitney F135 Turbofan, ทำความเร็วสูงสุด 1,930 กิโลเมตร/ชั่วโมง (Mach 1.6+), รัศมีทำการรบประมาณ 1,100 กิโลเมตร เว้นเพียงรุ่น F-35 B ที่บินต่อเนื่องได้ประมาณ 900 กิโลเมตร แต่เติมเชื้อเพลิงกลางอากาศได้

ติดอาวุธได้หลากหลาย ทั้ง อาวุธ​ปล่อย​นำวิถี​อากาศสู่อากาศ, อาวุธ​ปล่อย​นำวิถีอากาศสู่พื้น, ระเบิดนำวิถีด้วยเลเซอร์ และมีความสามารถ ปล่อยลูกระเบิดนิวเคลียร์แบบ B61 mod 12

เช็กฝูงบิน F-35ทั่วโลก

ข้อมูลจากเว็บไซต์ข่าวสารทางการทหาร ชื่อดัง https://thaiarmedforce.com สรุปภาพรวมโครงการ F-35 ทั่วโลกในเดือน ม.ค. 2565

โดยรวมแล้วปัจจุบันบริษัทLockheed Martin ส่งมอบ F-35 ทั้งสามรุ่นไปแล้วมากกว่า 750 ลำ และฝูงบิน F-35 ทั่วโลก มีชั่วโมงบินรวมกัน 274,699 เที่ยวบิน ด้วยจำนวนมากกว่า 470,000 ชั่วโมงบิน โดยมีนักบินที่เข้ารับการฝึกมากกว่า 1,585 คน และช่างอากาศยานมากกว่า 11,545 คน

มีความพร้อมในการปฏิบัติภารกิจในเบื้องต้นหรือ Initial Operational Capability ใน 12 กองทัพใน 9 ประเทศ และสามารถประกาศความพร้อมในการปฏิบัติภารกิจจริงแล้วใน 6 กองทัพ 5 ชาติคือสหรัฐ, สหราชอาณาจักร, อิสราเอล, อิตาลี และนอร์เวย์

เปิด 3 ด่านสำคัญก่อนทัพฟ้าซื้อ F-35

ในส่วนของกองทัพอากาศไทยก่อนลงนามซื้อ F-35 เข้าประจำการตามความฝัน ต้องฝ่าฟันกับ 3 ด่านสำคัญ

(1) ด่านแรก ต้องผ่านด่านการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี งบประมาณ พ.ศ. 2566 วาระที่ 2 และวาระที่ 3 โดยไม่โดนตัดงบ

(2) ด่านสองจากนั้นเป็นขั้นตอนยื่นเรื่องไปให้หน่วยงานเกี่ยวข้องของสหรัฐพิจารณาจะยอมขาย F-35 ให้กองทัพอากาศไทยหรือไม่ ซึ่งหน่วยงานที่พิจารณาว่าจะขาย F-35 ให้ไทยหรือไม่ คือกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐ และมีกระทรวงกลาโหมสหรัฐให้ความเห็นควบคู่กัน

(3) ถ้ารัฐบาลสหรัฐเห็นด้วยในการขาย ก็จะมีการแจ้งการอนุมัติการขายต่อสภาคองเกรส ซึ่งน่าจะเกิดขึ้นได้ไม่เกินไตรมาส 3 ปี 2565 โดยต้องระบุรายละเอียดของอาวุธและอุปกรณ์ที่จะขายให้ไทย ถ้าสภาคองเกรสไม่คัดค้าน รัฐบาลสหรัฐจะสามารถอนุมัติการขายได้

เท่ากับกองทัพอากาศยังต้องรอลุ้นอีกหลายด่าน ท่ามกลางสารพัดปัญหาทั้งเรื่องการเมืองและวิกฤติเศรษฐกิจที่รุมเร้ารัฐบาลประยุทธ์ ก่อนครบวาระต้นปี 66!

ขอบคุณรูปและข้อมูลจากhttps://thaiarmedforce.com