เมื่อวันที่ 2 ก.ค. น.ส.สุทธวรรณ สุบรรณ ณ อยุธยา ส.ส.นครปฐม และรองโฆษกพรรคก้าวไกล ในฐานะอนุกรรมาธิการด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยี สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) หน่วยงานที่สำคัญและได้รับจัดสรรงบประมาณสูงกว่า 250,000 ล้านบาท เข้ามาชี้แจงต่ออนุกรรมาธิการด้านการศึกษาฯ เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. โดยในที่ประชุม ตนเองมีการสอบถามถึงรายละเอียดงบประมาณที่ขอจัดสรรเพื่อซื้อเครื่องดนตรีต่างๆ แจกจ่ายให้กับโรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศ โรงเรียนละ 2 แสนบาท ถึงสเปกและราคากลาง แต่ทาง นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ยังไม่สามารถชี้แจงรายละเอียดได้ ท้ายที่สุด อนุกรรมาธิการด้านการศึกษาฯ ได้แขวนไว้ก่อนโดยจะกลับมาพิจารณาอีกครั้งในวันที่ 12 ก.ค.

จากนั้นวันที่ 30 มิ.ย. หน่วยงาน สพฐ. ได้เข้ามาชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการงบประมาณฯ พ.ศ. 2566 สภาผู้แทนราษฎร โดยในที่ประชุม นพ.วาโย อัศวรุ่งเรือง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะ กมธ.งบประมาณฯ มีการสอบถามเรื่องราวดังกล่าวแต่ทางเลขาธิการ สพฐ. ยังไม่สามารถตอบได้ นพ.วาโย จึงสอบถามทางสำนักงบประมาณ และได้คำตอบว่า สพฐ. ไม่ได้ตั้งคำขอจัดสรรงบประมาณเพื่อจัดซื้อเครื่องดนตรีในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 แต่อย่างใด ทำให้โป๊ะแตกว่า สพฐ. ส่งเอกสารรายละเอียดงบประมาณให้ กมธ.และอนุ กมธ. ผิดปี โดยรายละเอียดภายในเป็นรายละเอียดของคำขอจัดสรรงบประมาณในปี พ.ศ.2565

“สพฐ.โป๊ะแตกในห้องใหญ่กรรมาธิการงบประมาณฯ ว่าจริงๆ แล้วไม่มี เพราะไม่ได้ยื่นคำขอซื้อเครื่องดนตรีมาเลยในปีนี้แล้วที่ สพฐ.บอกในห้องอนุฯ ว่าเด็ก ๆ เสียใจ ปีนี้อย่าตัดเลย แต่ตัวเองกลับไม่ได้ยื่นคำขอมา แล้วเอาคำขอของปีก่อนมาเสนอต่อกรรมาธิการฯ และอนุกรรมาธิการฯ แบบนี้จะเรียกว่าชุ่ย หรือจริง ๆ จงใจทำให้เกิดความสับสนกันแน่” น.ส.สุทธวรรณ กล่าว.

ขณะที่ นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะ กมธ.งบประมาณฯ เปิดเผยว่าที่ประชุม กมธ.เตรียมพิจารณา งบกระทรวงกลาโหมวันที่ 18 ก.ค. ก่อนเริ่มอภิปรายไม่ไว้วางใจเน้นดูเรื่องการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์เป็นหลักว่า มีความจำเป็นต้องซื้อหรือไม่ รวมถึงการติดตามงบผูกพันที่เกี่ยวเนื่องกับการซื้อเรือดำน้ำ เช่น โรงเก็บเรือดำน้ำ ส่วนรายละเอียดงบอื่นๆ กมธ.ยังเห็นแค่ข้อมูลจากเอกสารขาวคาดแดง ทำให้ไม่ได้รายละเอียดเท่าใดนัก โดยทุกปีหน่วยงานที่เข้าชี้แจงมักจะนำมาให้ดูตอนที่เข้าห้อง กมธ. และจะขอเก็บคืนหลังให้ กมธ.ดูเสร็จ

“กระทรวงกลาโหมจะเขียนรายละเอียดงบ ที่อ่านดูก็ไม่รู้ว่าคืออะไร หากเป็นกระทรวงศึกษาธิการ ระบุว่ามีงบสิ่งปลูกสร้าง เราก็จะรู้ว่านำไปสร้างโรงเรียน หรือบ้านพักครู แต่สิ่งปลูกสร้างของกระทรวงกลาโหมจะมีหลากหลายรูปแบบมาก เป็นไปได้ทั้งบ้านทหาร โรงเก็บเรือดำน้ำ หรือโรงเก็บอาวุธ เป็นต้น เป็นการใช้คำที่เป็นมาตรฐาน แต่ความจริงไม่รู้ว่าเอาไปทำอะไร จะไปเห็นอีกทีในชั้น อนุ กมธ.” นายปกรณ์วุฒิ กล่าวว่า

เมื่อถามว่า การแจงรายละเอียดการใช้งบไม่ชัดเจน จะเป็นอุปสรรคต่อการพิจารณางบหรือไม่ นายปกรณ์วุฒิ กล่าวว่า ถือเป็นอุปสรรคอย่างมาก และคำชี้แจงของกระทรวงกลาโหมไม่ค่อยทำให้เกิดความชัดเจนขึ้นมา.