เมื่อวันที่ 2 ก.ค. ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.ท.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผู้ช่วย ผบ.ตร.ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานเสริมสร้างภูมิคุ้มกันต้านภัยอาชญากรรมทางเทคโนโลยี วิทยุในราชการถึง ผบช.น. ภ.1-9, ผบช.ก. และสอท.ว่าตามที่คณะทำงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันฯได้มีการประชุมชี้แจงการใช้งานระบบประชาสัมพันธ์ สื่อไซเบอร์วัคซีนให้แก่ หน.สน., สภ.ทุกแห่ง, ข้าราชการตำรวจผู้ทำหน้าที่ดาวน์โหลดและผู้ทำหน้าที่รายงานผลการปฏิบัติ โดยเริ่มใช้งานระบบในวันที่ 1 ก.ค.65

ดังนั้นเพื่อให้การประชาสัมพันธ์เผยแพร่ สื่อไซเบอร์วัคซีนในช่องทางต่างๆ ตรงตามเจตนารมย์ของคณะทำงานฯโดยไม่ให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนของผู้ปฏิบัติ จึงกำชับให้ผู้บังคับบัญชาไปดำเนินการชี้แจงทำความเข้าใจแก่ผู้ปฏิบัติด้วยตนเองว่า คณะทำงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันฯ ได้จัดทำระบบประชาสัมพันธ์ สื่อไซเบอร์วัคซีน เพื่อให้ ระบบประชาสัมพันธ์สื่อไซเบอร์วัคซีน (pctpr. police.go.th)​ เป็นเครื่องมือกลางระหว่างคณะทำงานฯกับหน่วยปฏิบัติในพื้นที่ โดยหน่วยปฏิบัติสามารถดาวน์โหลดสื่อ ที่คณะทำงานฯ ผลิตตามรูปแบบแผนประทุษกรรมของมิจฉาชีพ เพื่อให้หน่วยปฏิบัติ มีสื่อหรือเครื่องมือในการประชาสัมพันธ์ สร้างความรู้ให้แก่ประชาชนในพื้นที่ลงถึงชุมชนและ ท้องถิ่น ไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของอาชญากรรมทางเทคโนโลยี

ซึ่งการประชาสัมพันธ์ เพื่อให้ประชาชนได้ตระหนักรู้เท่าทัน และไม่ตกเป็นเหยื่อของอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เป็นการป้องกันเหตุ อันเป็นงานในหน้าที่ของข้าราชตำรวจและให้ดำเนินการทำแบบประเมินภูมิคุ้มกันตนเองของภาคประชาชนผ่านเกมคำถามผู้พิชิตไซเบอร์วัคซีน เพื่อให้ประชาชนสามารถประเมินตนเองด้วยความสมัครใจ เพื่อประเมินว่ามีความเสี่ยงในการตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมทางเทคโนโลยีมากน้อยเพียงใด และคณะทำงานฯ ไม่มีการกำหนดเป้าจำนวนครั้งในการประชาสัมพันธ์ และไม่มีการกำหนดเป้าจำนวนประชาชนผู้เข้าทำแบบทดสอบเป็นตัวชี้วัดใดๆทั้งสิ้น และกรณีที่กำหนดให้มีการรายงานผลหลังการประชาสัมพันธ์นั้น เป็นหน้าที่ของคณะทำงานฯที่จะนำผลมาวิเคราะห์ เพื่อปรับยุทธศาสตร์ในการดำเนินการผลิตสื่อประชาสัมพันธ์ อันเป็นการดำเนินการในการป้องกันเหตุต่อไปรวมถึงการประชาสัมพันธ์ สื่อไซเบอร์วัคซีน เป็นภารกิจของเจ้าหน้าที่ตำรวจหลายฝ่าย ไม่ใช่กำหนดให้เป็นหน้าที่เฉพาะของเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายในการดาวน์โหลด

ทั้งนี้ทุกหน่วยสามารถใช้ข้อมูลจากระบบประชาสัมพันธ์ สื่อไซเบอร์วัคซีนที่คณะทำงานฯได้ทำขึ้นไปวิเคราะห์แนวโน้มสถานภาพของคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีในพื้นที่ที่ รับผิดชอบเพื่อกำหนดเป็นแผนการปฏิบัติหรือแนวทางการนำสื่อไซเบอร์วัคซีนรูปแบบต่างๆไปประชาสัมพันธ์ เผยแพร่ให้ประชาชนในพื้นที่ชุมชนและท้องถิ่น ให้สอดคล้องกับสถานภาพคดีอาชญากรรรมทางเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นโดยไม่ต้องให้หน่วยระดับ สน., สภ. รายงานข้อมูลการนำสื่อไซเบอร์ไปเผยแพร่อีก โดยจะเป็นการลดภาระการรายงานที่ซ้ำซ้อน และควรพิจารณาคัดเลือกข้าราชการที่มีความรู้ และเหมาะสมกับงานแต่ละประเภท เช่นการดาวน์โหลด การประชาสัมพันธ์ และการรายงาน ทั้งนี้ ให้คำนึงถึงภาระงานในหน้าที่หลักของเจ้าหน้าที่นั้นๆด้วย เช่น พนักงานสอบสวน ที่มีสำนวนคดีอาญามากๆ ไม่ควรมอบหมายภารกิจหรือหน้าที่อื่นเพิ่มเติมเพื่อทราบและดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง