ดูท่า!! คนไทยจะ สิ้นหวัง“ กับมาตรการดูแลราคาพลังงานของรัฐบาล แม้จะรู้ทั้งรู้ว่าต้นเหตุปัจจัย เป็นผลกระทบมาจากภายนอกที่ไม่สามารถกำหนดได้ ขณะที่ภายในประเทศเองก็หมดกำลังเงินเข้ามาสนับสนุน ณ เวลานี้…จึงได้แต่ปล่อยให้คนไทยทั้งประเทศเผชิญกับปัญหา แพงทั้งแผ่นดิน“

ต้องยอมรับว่า นาทีนี้คนไทยทั้งประเทศ “สาหัส” แน่นอน!! แม้สุดท้ายแล้วโรงกลั่นน้ำมันอาจยอมคายกำไรจากค่าการกลั่นน้ำมันมาให้บางส่วน หรือรัฐบาลอาจส่งงบกลางเข้ามาช่วยเหลือ แต่เชื่อเถอะ เงินเป็นแสนล้านบาท จะอุ้มอย่างไร? ได้หมด ขณะที่มาตรการของรัฐบาลที่เตรียมงัดออกมาช่วยก็แทบไม่มีเงินเหลือพอกับทุกคน จึงต้องปรับแนวทางมาช่วยเหลือ “เฉพาะกลุ่ม”

ด้วยเหตุนี้ในเมื่อรัฐบาลยึดหลัก “อัตตา หิ อัตตโน นาโถ” ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน วิธีที่ดีที่สุดก็คือ ต้องรู้จักประหยัดพลังงาน!!

แม้ว่าเวลานี้รัฐบาลได้โยน “เผือกร้อน” ไปให้บรรดาโรงกลั่นน้ำมันทั้ง 6 แห่ง เข้ามาร่วมรับผิดชอบในรูปแบบของความ “สมัครใจ” โดยนำกำไรจากค่าการกลั่นบางส่วนมาช่วยสนับสนุนฐานะของ “กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง” ที่กำลังเป็นระเบิดลูกใหญ่ของรัฐบาล เพราะล่าสุด…ติดลบทะลุ 102,586 ล้านบาทเข้าไปแล้ว แถมยังทำสถิติติดลบสูงสุดในประวัติศาสตร์อีกต่างหาก แต่การเจรจาขอความร่วมมือก็ยังไม่สะเด็ดน้ำ ติดปัญหาสารพัดโดยเฉพาะ “ข้อกฎหมาย”

ประเสริฐ สินสุขประเสริฐ” อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน หรือ พพ. ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ อย่างค่าไฟ ตอนนี้ไทยใช้ไฟฟ้ากันมากจนก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย และที่มีสัญญานำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว ระยะยาว ไม่พอผลิตแล้ว รัฐบาลพยายามใช้โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนที่มีอยู่อย่างเต็มที่ แต่ยังไม่พอ จึงต้องเปิดรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนจำนวนมากเข้ามาใหม่ แต่ต้องใช้เวลาในการก่อสร้าง จึงทำให้ไทยจำเป็นต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลวแบบระยะสั้นที่ราคาแพงมากมาเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า คิดเป็นต้นทุนต่อหน่วยกว่า 7 บาทเข้าไปแล้ว จึงทำให้ราคาค่าไฟฟ้าในไทยแพง

ประหยัดพลังงานดีที่สุด

อย่างไรก็ตามถ้าคนไทยทุกคนช่วยกันประหยัดไฟฟ้า เพียงแค่ 10% ก็ไม่จำเป็นต้องนำเข้าแอลเอ็นจีระยะสั้น โดยสามารถใช้ทรัพยากรที่มีอยู่และที่ได้จัดหาไว้แล้วแบบสัญญาระยะยาว ที่มีราคาไม่แพงมาก ค่าไฟก็ไม่ต้องปรับขึ้น ดังนั้นการประหยัดไฟฟ้า คือ วิธีตรึงค่าไฟที่ดีที่สุด ถ้าครัวเรือนประหยัดไฟฟ้าได้ 10% ประเทศจะประหยัดได้ 40,000 ล้านบาทต่อปี และถ้าช่วยกันทุกภาคส่วน ทั้งภาคอุตสาหกรรม และภาคธุรกิจ ประเทศจะประหยัดได้ถึง 1.5 แสนล้านบาท

นี่แค่ตัวอย่างเรื่องค่าไฟหากคนไทยทั้งประเทศช่วยกันประหยัดการใช้พลังงานในส่วนอื่น ๆ ด้วย ทั้งการใช้น้ำมัน การใช้ก๊าซ ก็จะช่วยประหยัดเงินในกระเป๋าได้เป็นจำนวนไม่น้อยเช่นกัน

เปิดคัมภีร์ 10 วิธีลดค่าไฟ

โอกาสนี้ “ทีมเศรษฐกิจ” นสพ.เดลินิวส์ ได้รวบรวมวิธีประหยัดพลังงานง่าย ๆ ทำแล้วเห็นผลได้จริงของ พพ. ทั้งค่าไฟฟ้า ค่าน้ำมัน และค่าก๊าซหุงต้ม มานำเสนอ เพื่อเป็นทางเลือกให้กับคนไทยทั้งประเทศ แทนการรอความช่วยเหลือจากรัฐบาลที่ยังไม่รู้หมู่รู้จ่าว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร ?

เริ่มจาก…10 วิธีที่ช่วย ประหยัดไฟง่าย ๆ ที่บ้านทุกหลังสามารถดำเนินการได้ เช่น เครื่องปรับอากาศ ให้เพิ่มอุณหภูมิ 1 องศาเซลเซียส ตั้งเวลาปิดก่อนตื่นนอน 15-30 นาที ล้างเครื่องปรับอากาศ 2 ครั้งต่อปี ประหยัดได้ 290 บาท คิดเป็น 6%  หรือในเรื่องของ เครื่องทำน้ำอุ่น ปิดน้ำร้อนตอนฟอกสบู่ เปิดเท่าที่จำเป็น ประหยัดได้ 119 บาท คิดเป็น 2.5% ส่วนการใช้กระติกน้ำร้อนไฟฟ้า ต้มน้ำเท่าที่ใช้ ถอดปลั๊กหลังใช้เสร็จ ประหยัดได้ 25 บาท คิดเป็น 0.5% ขณะที่ หม้อหุงข้าว เตาไมโครเวฟ คอมพิวเตอร์ โทรทัศน์ ถอดปลั๊กหลังเลิกใช้งาน ประหยัดได้ 11 บาท คิดเป็น 0.2% เป็นต้น 

ประหยัดเงินเป็นพัน

ขณะที่วิธีการ ประหยัดค่าน้ำมัน ที่ทุกคนก็ทำได้เช่นกัน ซึ่งจะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้ประมาณเดือนละ 1,643-3,080 บาท หรือประหยัดได้สูงสุด 56.5% คำนวณจากใช้ค่าเฉลี่ยขับรถไป-กลับต่อวัน 50 กม. สภาพรถอยู่ในขั้นปกติ ไม่เกิน 7 ปี ประสิทธิภาพการกินน้ำมัน 12 กม.ต่อลิตร ขนาดรถ 1,500-1,600 ซีซี ใช้น้ำมันเดือนละ 125 ลิตร 5,443 บาทต่อเดือน ค่าเฉลี่ยน้ำมันราคา 43.54 บาทต่อลิตร เช่น การขับรถใช้ความเร็วคงที่ 90 กม.ต่อชม. ประหยัดน้ำมันมากที่สุด ประหยัดได้ 3.7 ลิตรต่อเดือน คิดเป็น 161 บาทต่อเดือน ประหยัด 3% นอกจากนี้ ถ้าทำได้ให้ทำงานที่บ้านสัปดาห์ละ 1-3 วัน ประหยัดได้ 17-50 ลิตรต่อเดือน คิดเป็น 740-2,177 บาทต่อเดือน หรือประหยัด 40% หรือในช่วงวันหยุดเน้นใช้รถสาธารณะ ประหยัดได้ 7 ลิตรต่อเดือน คิดเป็น 305 บาทต่อเดือน

ขณะเดียวกัน ถ้าไปธุระใกล้บ้านใช้จักรยาน ประหยัดได้ 1 ลิตรต่อเดือน คิดเป็น 43 บาทต่อเดือน ประหยัด 0.8 % ขณะที่ไม่ขับก็ดับเครื่อง ไม่ติดเครื่องจอดรถนาน ๆ เพียงวันละ 5 นาที ประหยัดได้ 3 ลิตรต่อเดือน คิดเป็น 131 บาทต่อเดือน ประหยัด 2.4% หรือแม้แต่การตรวจสอบเส้นทางก่อนเดินทางใช้จีพีเอสถึงที่หมายรวดเร็ว ประหยัดได้ 0.5 ลิตรต่อเดือน คิดเป็น 22 บาทต่อเดือน ประหยัด 0.4% หรือถ้าขับประหยัด ไม่เบรกบ่อย ไม่เร่งแรง ก่อนไฟแดง ชะลอความเร็ว ประหยัดได้ 1.2 ลิตรต่อเดือน คิดเป็น 52 บาทต่อเดือนประหยัด 1.0% เป็นต้น 

เคล็ดลับลดใช้แก๊สบ้าน

อีกหนึ่งพลังงานที่ราคากำลังร้อนแรงเช่นกัน คือ ก๊าซหุงต้ม จะมาแนะนำวิธีประหยัดพลังงานการใช้ก๊าซหุงต้ม แบ่งเป็นเตา
แก๊สในบ้าน คำนวณผลประหยัดจากการใช้งานเตาแก๊สแบบ 1 หัว ทำอาหารวันละ 1.04 ชม. การใช้แก๊สโดยเฉลี่ย 8.2992 กก.ต่อ
ครัวเรือนต่อเดือน ราคาแก๊สแอลพีจี 24 บาทต่อ กก. ประหยัดเงินในกระเป๋าได้หลักเกินร้อยบาททีเดียว เริ่มจากเลือกขนาดภาชนะพอดี ๆ ใช้หม้อ-กระทะไม่ใหญ่-ไม่เล็กเกินไป ปรับไฟพอเหมาะ อาหารสุกไว ความร้อนไม่รั่วไหล ใช้ฝาปิดยิ่งประหยัดแก๊ส ประหยัดแก๊สได้ 1.24–2.49 กก.ต่อเดือน เป็นเงิน 29.76-59.75 บาทต่อเดือนต่อ 1 หัวเตา ถ้า 10 ล้านครัวเรือน จะประหยัดเงินได้ 297-597 ล้านบาทต่อเดือนต่อ 1 หัวเตาหรือแม้แต่เรื่องของการเตรียมอาหารพร้อมปรุง ก็ ควรเตรียมอาหาร-เครื่องปรุงให้พร้อมก่อนเปิดแก๊ส อาหารสุกได้ที่รีบปิดเตา ทำความสะอาดคราบเขม่าก้นภาชนะ ประหยัดแก๊สได้ 0.931 กก.ต่อเดือน เป็นเงิน 22.34 บาทต่อเดือนต่อครั้งต่อ 1 หัวเตา ถ้า 10 ล้านครัวเรือน จะประหยัดเงินได้ 223.4 ล้านบาทต่อเดือนต่อครั้งต่อ 1 หัวเตา รวมถึง หลีกเลี่ยงที่ลมแรง เลือกใช้แผ่นกันลม ไม่ให้ลมพัดเงินเราไป ไม่วางเตาแก๊สบริเวณลมแรง หาซื้อแผ่นกันลมมาใช้ กันความร้อนรั่วไหล ประหยัดแก๊สได้ 1.24-2.49 กก.ต่อเดือน เป็นเงิน 29.76-59.75 บาทต่อเดือนต่อ 1 หัวเตา ถ้า 10 ล้านครัวเรือน จะประหยัดเงินได้ 297.6-597.50 ล้านบาทต่อเดือนต่อ 1 หัวเตา เป็นต้น

ช่วยร้านค้าลดค่าแก๊ส

ด้านเตาแก๊สร้านค้า คำนวณจากการใช้งานเตาแก๊สแบบร้านค้า (เตาหัวฟู่) 2 หัว ทำอาหารวันละ 4 ชม. การใช้แก๊สโดยเฉลี่ย 48 กก.ต่อเดือน ราคาแก๊สแอลพีจี 24 บาทต่อ กก. ก็สามารถใช้แผ่นกันลม ลมไม่หอบแก๊สหายไป แผ่นกันลมช่วยให้ความร้อนไม่รั่วไหล ภาชนะได้รับความร้อนเต็มที่ ประหยัดแก๊สได้ชัวร์ 15-30% ประหยัดแก๊สได้ 7.2–14.4 กก.ต่อเดือน เป็นเงิน 172.8-345.6 บาทต่อเดือนต่อ 1 หัวเตา ถ้า 10 ล้านครัวเรือน จะประหยัดเงินได้ 1,728-3,456 ล้านบาทต่อเดือนต่อ 1 หัวเตา ขณะที่ หม้อก๋วยเตี๋ยว-หม้อกาแฟ เลือกใช้ที่หุ้มฉนวน ขายทั้งวันก็ไม่หวั่นค่าแก๊ส ประหยัดทั้งวันได้ 28-35% ประหยัดแก๊สได้ 17.5–21.8 กก.ต่อเดือน เป็นเงิน 420- 525 บาทต่อเดือนต่อ 1 หัวเตา ถ้า 10 ล้านครัวเรือน จะประหยัดเงินได้ 4,200- 5,250 ล้านบาทต่อเดือนต่อ 1 หัวเตา เป็นต้น หรือ การเลือกเตาแก๊ส (เตาหัวฟู่) เบอร์ 5 จะประหยัดกว่าที่ไม่มีฉลาก 4.80% ประหยัดแก๊สได้ 2.28 กก. ต่อเดือน เป็นเงิน 54.6 บาท
ต่อเดือนต่อ 1 หัวเตา ถ้า 10 ล้านครัวเรือน จะประหยัดเงินได้ 546 ล้านบาทต่อเดือนต่อ 1 หัวเตา ขณะที่การทำความสะอาดหัวเตาแก๊สสม่ำเสมอ ก็ช่วยประหยัดเงินได้เช่นกัน

สร้างตึกลดใช้พลังงาน

อีกหนึ่งวิธี…ที่สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายพลังงานได้เช่นกันทำได้ทั้งบ้านเรือน และสำนักงาน ซึ่งสามารถศึกษาข้อมูลได้จากคู่มือการสร้างอาคารประหยัดพลังงานของ พพ. ได้ เช่น การติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์ การออกแบบหลังคา ใช้กระจกวงกบ ผนังทึบ การระบายอากาศ การใช้ประโยชน์จากแสงธรรมชาติ และประหยัดไฟฟ้าแสงสว่าง วิธีเลือกใช้ระบบปรับอากาศ

หลากหลายวิธีการประหยัดพลังงานเหล่านี้ถือว่าเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวมาก และเริ่มต้นได้ไม่ยากเช่นกัน ที่สำคัญถ้าทำได้ เงินในกระเป๋าก็ย่อมเหลือมากขึ้นด้วย เพราะดูท่าแล้ว…วิกฤติพลังงานแพงคงไม่จบลงได้ง่าย ๆ.

..ทีมเศรษฐกิจ..