ถูกจับตามองอย่างมากสำหรับกรณีที่ บริษัท เจเอสแอล โกลบอลมีเดีย จำกัด ประกาศปิดตัวกะทันหัน พร้อมบอกเลิกจ้างพนักงานจำนวนมาก ทำให้หลายคนตกใจและช็อกกับสิ่งที่เกิดขึ้นจนไปต่อไม่ถูก จนล่าสุดวันนี้ 3 ก.ค. อดีตพนักงานเจเอสแอลฯ จำนวน 37 คนได้เดินทางไปร้อง ทนายเดชา กิตติวิทยานันท์ ปมถูกเลิกจ้างโดยไม่ได้บอกกล่าวและมอบเงินชดเชยเพียง 16% ซึ่งไม่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยบรรยากาศในงานแถลงข่าวตัวแทนพนักงานจำนวนหลายคนออกมาเล่าถึงความทุ่มเทในการทำงานก่อนจะร่ำไห้อย่างหนักเมื่อเล่าเรื่องราวความเดือดร้อนของตนเอง หลังถูกบอกเลิกจ้างกะทันหัน และมีการบังคับให้เซ็นเอกสารยินยอมรับสภาพอีกด้วย

ตัวแทน เผยว่า “วันนี้พวกเราอดีตพนักงานของเจเอสแอลฯ 37 คน จะมาขอความช่วยเหลือจากทางทนายเดชา เพื่อที่จะขอให้เรียกร้องสิทธิเงินชดเชยที่เราควรได้รับตามกฎหมายอย่างถูกต้อง ด้วยเหตุที่เราทราบข่าวกันอยู่แล้วที่บริษัทปิดตัวไปเมื่อวันที่ 29 มิ.ย.ที่ผ่านมา ขอความปรึกษาจากทนายเดชาว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อในกรณีที่ได้รับเงินชดเชยไม่เป็นธรรม บริษัทแจ้งว่ามีเงินชดเชยให้ 16% ตอนที่ได้รับคำพูดเรื่องเงินชดเชย ตอนประกาศปิดบริษัท เราช็อกและเสียใจ หลังจากนั้นบริษัทประกาศเงินที่ได้รับคือ 16% ทุกคนมองหน้ากันว่าเกิดอะไรขึ้นกับบริษัทของเรา ทำไมเงินชดเชย ที่พวกเราทั้งหมดทำงานมา 37 คน ที่มาวันนี้ จริงๆมี 89 คนค่ะ ก็อึ้งกับตัว 16% เราตกใจและไม่รู้ว่ามันเกิดอะไรขึ้นและไปต่อไม่ถูก ได้แต่ปลอบกันเอายังไงดี เราจะไปยังไงดี แต่ละคนทำงานกันมาเป็นเวลานาน เนื่องจากบริษัทเป็นบริษัทมีชื่อเสียง เป็นสื่อใหญ่ระดับตำนาน พนักงานอยู่กันนาน เราอยู่นานเพราะเราทำงานด้วยความเชื่อมั่น ด้วยความอบอุ่นที่ผู้บริหารปลูกฝังมาตลอดว่าเราจะทำงานไปด้วยกันและสู้ไปด้วยกัน เหนื่อยไปด้วยกัน”

“เราทำงานมานานผ่านวิกฤติต่างๆมามากมาย ไม่ว่าจะเป็นต้มยำกุ้ง ฟองสบู่แตก บริษัทขอความร่วมมือลดเงินเดือน เราก็โอเค ทุกคนไม่ปฏิเสธ ช่วยกันตลอด เพราะเราไม่ได้คิดว่ามันคือบริษัท แต่เราคิดว่ามันคือบ้าน (ร้องไห้) เราไม่เคยคิดว่าเราอยากจะต้องให้บ้านของเราต้องพังไปในน้ำมือของเรา เพราะฉะนั้นสิ่งที่ทุกคนตั้งใจทุ่มไปคือความรู้สึกมันคือบ้าน บ้านที่อบอุ่น และเราก็มีแม่ มีแม่สองท่านที่นำเราไปได้ ในวิกฤติโควิดที่ผ่านมาถามว่าทุกคนก็ช่วยกันเต็มที่ บริษัทลดเงินเดือนเราลดให้หมด โอทีเราไม่เอา มันไม่มีมานานมาก เราไม่รู้จักแล้ว เราทำเพราะเราอยากให้งานที่ดี อยากให้บ้านไปต่อได้ อยากให้ทำงานไปเรื่อยๆได้ ลดเงินเดือนลดแล้ว ตั้งแต่รอบแรก แบ่งจ่ายเงินเดือนเราก็ยอม ตอนแรกก็ปรับตัวกันเพราะทุกคนมีหนี้สินต้องจ่ายอยู่ ทุกคนไปประนอมหนี้ ไปเจรจาเอง ทุกคนพยายามทุกอย่าง ลดเสร็จก็แบ่งจ่ายให้ ทุกคนพยายามทำให้ดีที่สุด แต่พอวันนึงเราเหมือนถูกเท เราเหมือนกลุ่มทุกสุดท้ายที่ถูกทิ้งไว้โดยลำพัง เหมือนสิ่งที่ร่วมแรงร่วมใจกันมามันล้มตึงไป แล้วก็เทเราที่ 16% เราไม่เชื่อจริงๆนะ จนมาเปิดเอกสารมันเป็น 16% นั้นจริงๆ โดยที่เราทำอะไรไม่ถูก”

พนักงานฝ่ายบุคคล เผยว่า “เราร่างเอกสารมาหนึ่งฉบับส่งให้ผู้บริหารดู เขาก็รับไปและไปตรวจ เขาบอกมีการแก้ไขกลับ ท่อนที่แก้ไขเพิ่มคือท่อนที่บอกว่าข้าพเจ้าทราบและตกลงการเลิกจ้าง และข้าพเจ้าพอใจในเงินจำนวนดังกล่าวข้างต้นนี้ ไม่ติดใจเรียกร้องเงินทรัพย์สินจากบริษัทเจเอสแอล โกลบอลมีเดีย จำกัด จึงลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐานและลงลายมือชื่อวันที่ค่ะ ด้านบนมีรายละเอียดเงินชดเชยที่ควรจะได้ แล้วก็ลายรายละเอียดเงินชดเชยที่เขาจะจ่าย ซึ่งหนูทราบว่ามันผิดกฎหมายกับเอกสารนี้ แต่ตอนนั้นเราเป็นลูกจ้างต้องปฏิบัติตามคำสั่ง มีคนรับเงินจำนวนนี้ไป 10 คนค่ะ ที่เขาจำยอมรับไม่ทราบเหตุผล แต่พนักงานที่อายุงานน้อยๆเขาก็มีความเข้าใจว่ามันจะยุ่งยากที่มาดำเนินเรื่องเขาก็รับงานไป และเขาก็ได้รับเงินชดเชยไม่ได้เยอะมาก ไม่ได้มีความผูกพันหรือเดือดร้อนอะไรมาก”

ทนายเดชา เผยว่า “การเขียนเอกสารให้รับเงินชดเชยแค่ 16% มันผิดกฎหมาย การเลิกจ้างต้องมีการบอกกล่าวล่วงหน้าตามที่กฎหมายกำหนด โดยทั่วไป 1 เดือน เขาไม่ได้มีการบอกกล่าว ตามกฎหมายต้องจ่ายเงินทันทีเลย จนผ่านมา 3 วันเขาต้องจ่ายดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี และต้องจ่ายเพิ่มอีกร้อยละ 15 ทุก 7 วัน และถ้ายังไม่จ่ายมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน นี่คือสิ่งที่เขาต้องรับผิดชอบต่อไป เรื่องบันทึกให้สละสิทธิ์ในการรับเงินชดเชยถือว่าผิดกฎหมาย เป็นเรื่องขัดต่อกฎหมาย กระบวนการต่อจากนี้ไปคือ 09.00 น. วันพรุ่งนี้ จะเอาทุกคนไปร้องที่พนักงานตรวจแรงงาน ที่ซอยนวมินทร์ 98 ซึ่งเป็นพนักงานส่วนแรงงานพื้นที่ ซึ่งจะมีเวลาสอบสวนวินิจฉัยใน 60 วันและสั่งให้นายจ้างจ่ายภายใน 30 วัน ถ้าไม่จ่ายก็จะดำเนินคดีอาญา คนที่รับผิดคือบริษัท กรรมการและก็ผู้รับมอบแทนนายจ้าง อันนี้ขั้นตอนกระบวนการ ถ้าไม่มีใครอยู่เลยหรือไปต่างประเทศ พนักงานสอบสวน สน.ลาดพร้าว ไปยื่นคำร้องต่อศาลและออกหมายจับ ผมบอกวิธีทางกฎหมายคือไปใช้บริษัทพนักงานตรวจแรงงาน หรือไปฟ้องศาลแรงงานโดยตรงจะทำ 2 อย่างในเวลาเดียวกันไม่ได้ ให้มันเสร็จสิ้นกระบวนการ ถ้าถามผมไปยื่นพนักงานตรวจแรงงานก่อน”

“มันยอมความไม่ได้ แต่ถ้าเขาปฏิบัติตามคำสั่ง จ่ายเงินให้พนักงานก็ระงับไปแค่นั้นครับ ส่วนเรื่องที่เงียบหายไป และไม่มีอะไรเกิดขึ้นหรือใช้เวลานานอันนี้ไม่นานครับ ตามกฎหมายเขียนชัดเจนไม่เกิน 60 วัน คดีอยู่ในความสนใจน่าจะเร็วเพราะนัดรัฐมนตรีแรงงานแล้วเนอะ ไม่นาน ถ้าเขาไม่มาอีกก็ออกหมายจับ บริษัทต้องจ่าย ถ้าไม่มีเงินก็ต้องจ่าย จะมาอ้างบริษัทไม่มีเงินไม่ได้ เพราะมันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานเลย ผมเป็นกำลังใจให้ ขอให้มั่นใจนะ”

แพรว เป็นเจ้าหน้าที่การเงินของบริษัทฯ เผยว่า “เราเป็นคนโพสต์ติ๊กต๊อกเรื่องนี้ คือแพรวรู้ความเคลื่อนไหว แม้ไม่ได้เยอะเท่าผู้บริหารแต่แพรวพอทราบมาบ้าง (ร้องไห้) มันเป็นยังไง สถานการณ์บริษัท แพรวรู้ล่วงหน้าก่อนพี่ๆหนึ่งวันด้วยตำแหน่งและการงานของแพรว แพรวช็อกนะคะว่าบริษัทจะปิด หัวหน้าแจ้งว่าบริษัทจะปิดให้ทุกคนเตรียมตัวและเตรียมเคลียร์งาน แต่พอเราถามเงินชดเชยที่เราจะได้ เขาไม่แจงให้ไปรอไปฟังวันที่ประชุมทีเดียว ซึ่งเรารู้สึกแล้วว่ามันมีอะไรแน่ๆ วันที่จะปิดแพรวร้องไห้ไปหนึ่งยกวิ่งลงไปหาพี่ๆว่าบริษัทจะปิดนะ ทำยังไงดี จนกระทั่ง 17.00 น. ประกาศได้เงินชดเชย 16% ช็อกทำยังไงดี หนี้สินมี เงินเดือนไม่ได้เยอะเลย เราทำงานมาคือจริงๆแพรวอยู่ที่นี่มารอบหนึ่งและออกไป ไปทำงานที่อื่นและกลับมาใหม่ พี่โทรฯมาเราก็กลับมาเหมือนบ้าน พอได้ยิน 16% ในวันนั้นเกือบฆ่าตัวตายจริงๆ พี่ๆจะรู้ว่าหนูเซ้นซิทีฟขนาดไหน แม่โทรฯหาทั้งคืนว่าอย่าทำอะไรตัวเองนะ แม้ว่ามันจะเป็นอย่างนี้ก็ต้องเดินหน้าต่อไป หนูไม่ได้โกรธบริษัทที่ปิดตัวลง แต่เจ็บใจที่ทำแบบนี้กับเรา เราอายุน้อยกว่าหางานได้มากกว่าคนอื่น แต่พี่คะงานไม่ได้หาได้ง่ายๆ เงินเดือนชนเดือน เรารับไม่ได้จริงๆ วันที่ลงติ๊กต็อก ไม่คิดว่ากระแสจะดังขนาดนั้น ทำอะไรไม่ถูก คนไม่รู้จักมาให้กำลังใจเรา หนูนั่งอ่านพยายามตอบคอมเมนต์ทุกคน ขอบคุณทุกคนที่ช่วยกันจนถึงสื่อ หนูขอบคุณทุกคนจริงๆนะ ถ้าวันนั้นไม่มีแม่คอยให้กำลังใจและพี่ๆชุดนั้น ความคิดคือกูไปแน่จริงๆ”(ยกมือไหว้)