เมื่อวันที่ 3 ก.ค. นพ.เอกชัย เพียรศรีวัชรา รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวถึงการดูแลการใช้กัญชาในไทย ว่า กระทรวงสาธารณสุขไม่แนะนำให้มีการใช้เพื่อสันทนาการ แต่ยอมรับว่าหากมีการใช้สามารถแจ้งเป็นเป็นเหตุรำคาญเพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้าไปดูแล เอาผิดได้ ซึ่งจะมี 2 ลักษณะคือ 1. แจ้งโดยผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุรำคาญ ไม่ว่าจะเพื่อนบ้าน คนเจอในที่สาธารณะ แจ้งที่ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข เจ้าหน้าที่ปกครองส่วนท้องถิ่นที่รับผิดชอบในพื้นที่นั้นๆ กรณีสูบที่สาธารณะถือว่าผิดแน่ เหมือนบุหรี่ แต่หากสูบในบ้านควันลอยออกมานอกบ้าน แล้วสร้างความรำคาญ สร้างผลกระทบก็ผิดเหมือนกัน 2. กรณีมีเจ้าหน้าที่เจอโดยตรงก็สามารถตักเตือนได้เลย

ทั้งนี้ กรณีแรกเมื่อรับแจ้งแล้วจะรวบรวมข้อมูล และลงพื้นที่อาจจะโทรฯแจ้งก่อน หรือลงพื้นที่เลย เพื่อตักเตือนให้ยุติการกระทำหากยังละเมิดก็ดำเนินการตามกฎหมาย โดยส่งเรื่องให้ผู้เกี่ยวข้องในการลงโทษเปรียบเทียบปรับ ซึ่งเจ้าหน้าที่ปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจในการออกบทลงโทษอยู่แล้ว ทั้งนี้ตามข้อกฎหมายมีทั้งปรับสูงสุด ไม่เกิน 2.5 หมื่นบาท จำคุกสูงสุด 3 เดือน

“ต้องฝากประชาชนให้ช่วยสอดส่องดูแล หากพบเจอให้แจ้งเจ้าหน้าที่ เพราะเราไม่สนับสนุนให้มีการสูบกัญชาอยู่แล้ว เพราะมีผลกระทบ เนื่องจากการสูบจะทำให้ได้รับสาร THC เข้าร่างกายไปเต็ม ๆ มากกว่า 80-90% ทำให้เกิดการเสพติด ส่งผลกระทบต่อคนสูบที่อายุไม่เหมาะสม เช่น เด็กน้อย 20 ปี สตรีมีครรภ์ สตรีนมบุตร คนมีโรคประจำตัว โดยเฉพาะโรคจิตเวช คนกินยารักษาโรคประจำตัว และควันมือสองก็อันตรายมาก เพราะกัญชาบางชนิด ชนิดพันลำ สูบพ่นควันออกมาแล้ว ควันก่อผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ก่อ PM 2.5 มากกว่าปกติ เทียบกับการเผาไหม้ปกติ” นพ.เอกชัย กล่าว

เมื่อถามว่าหากมีการจัดปาร์ตี้ในพื้นที่ส่วนบุคคลสามารถทำได้หรือไม่ นพ.เอกชัย กล่าวว่า ถ้าเกิดไปจัดปาร์ตี้มั่วสุมกันในบ้านแล้วไม่มีใครพบเห็นอาจรอดตัวไป แต่ถ้าหากเจ้าหน้าที่ไปพบแล้วอยู่ในกลุ่มที่เป็นเด็กและเยาวชนก็ต้องมีการดำเนินการ เพราะเราห้ามเด็ดขาด แต่หากมีการจัดปาร์ตี้กันในที่สาธารณะกรณีเช่นนี้โดนแน่

เมื่อถามย้ำว่าหากมีการจัดในที่ส่วนบุคคลและไม่มีใครแจ้งว่าเป็นเหตุรำคาญก็สามารถทำได้ใช่หรือไม่ นพ.เอกชัย กล่าวว่า มันก็แล้วแต่ หากเขาจัดปาร์ตี้กันแล้วเราเดินไปเจอพอดี แล้วเราได้รับผลกระทบเพราะควันมันลอยไปในอากาศซึ่งไม่รู้ว่าสูบอะไรกันอย่างไรก็ตามยอมรับว่ามันยังมีช่องโหว่อยู่ ส่วนการตั้งโต๊ะขายกัญชามวนหรือพันลำ ในที่สาธารณะนั้นแม้ว่ากฎหมายยังไม่ออกมาแต่ถือว่ามีความผิดกฎหมาย หากไปเปรียบเทียบกับบุหรี่ ทั้งนี้คาดว่าต้องมีการควบคุมเรื่องนี้ออกมาแน่ ๆ เพราะไม่เหมาะสมจะเกิดอันตราย หลุดมือไปถึงกลุ่มที่ไม่ควรก็อยู่ในกระบวนการพิจารณาว่าจะควบคุมอย่างไร

เมื่อถามว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่กรมอนามัยจะขึ้นทะเบียนร้านอาหารที่มีการใช้กัญชาเป็นส่วนผสม นพ.เอกชัย กล่าวว่า ตอนนี้ไม่ได้บังคับ แต่กรมอนามัยประกาศแนะนำให้ร้านอาหารที่มีการจำหน่ายอาหารที่มีส่วนผสมของกัญชาเข้ามาลงทะเบียนผ่านแพลตฟอร์ม Thai Stop Covid ซึ่งใช้ขึ้นทะเบียนร้านอาหารกำกับให้มีมาตรการป้องกันโรคโควิด ซึ่งมีฐานข้อมูลเดิมของร้านอาหารทั่วประเทศอยู่แล้ว จากนี้จะปรับปรุงให้ร้านลงทะเบียน เพื่อแนะนำร้านที่ใช้กัญชาเป็นส่วนประกอบปรุงอาหารอย่างปลอดภัย ส่วนปัจจุบัน ได้กำหนดให้ร้านต้องติดป้ายประกาศเตือนว่าเมนูใดบ้างที่ใช้กัญชา หากไม่เตือนประชาชนแล้วเกิดมีคนกินแล้วเกิดอันตรายทางร้านจะมีความผิด ตาม พ.ร.บ.การสาธารณสุข เรื่องอาหารไม่ปลอดภัย มีโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 50,000 บาท แต่ยังไม่มีบทลงโทษในเรื่องของการจำคุก อนาคตอาจทำสติกเกอร์รับรองโดยกรมอนามัย.