เมื่อวันที่ 4 ก.ค. ที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 4 (สรพ.4) ทนายเดชา กิตติวิทยานันท์ พร้อมด้วยอดีตพนักงานบริษัท เจเอสแอล โกลบอลมีเดีย จำกัด 79 ราย เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อผู้อำนวยการสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 4 และพนักงานตรวจแรงงาน สืบเนื่องจากกรณีที่ บริษัท เจเอสแอล ประกาศปิดตัวกะทันหัน เมื่อวันที่ 29 มิ.ย.ที่ผ่านมา พร้อมบอกเลิกจ้างพนักงานทั้งหมด 89 ราย โดยทางบริษัทฯ จะจ่ายค่าชดเชยเพียงร้อยละ 16 ของเงินชดเชยทั้งหมดตามกฎหมาย ซึ่งพนักงานบางส่วนเห็นว่าเป็นการเอาเปรียบ และไม่ปฏิบัติตามกฏหมายแรงงาน ทั้งที่ผ่านมาพนักงานยอมปฏิบัติตามนโยบายของบริษัทฯทุกอย่าง ในระหว่างที่บริษัทฯ เผชิญวิกฤติด้านกำไร เป็นสาเหตุทำให้เมื่อวานนี้ (3 ก.ค.) พนักงาน 37 ราย เดินทางเข้าปรึกษาด้านกฎหมายกับทนายเดชา เพื่อดำเนินการทางกฎหมาย และทวงคืนความยุติธรรม ตามที่มีการนำเสนอข่าวไปแล้ว

‘พนักงาน JSL’ร่ำไห้ร้อง ‘ทนายเดชา’ ปมบริษัทเลิกจ้างจ่ายชดเชยแค่16%

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังที่ตัวแทนพนักงานได้ยื่นหนังสือให้กับ น.ส.บุปผา เรืองสุด รองปลัดกระทรวงแรงงาน เรียบร้อยแล้ว ทั้งหมดได้ออกมาให้สัมภาษณ์บริเวณด้านหน้าหน้าอาคารสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานคร พื้นที่ 4 โดย น.ส.บุปผา เปิดเผยว่า การประกาศเลิกจ้างพนักงานกะทันหันดังกล่าว ท่านสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน ได้มอบหมายให้มาอำนวยความสะดวก มีหน่วยงานเกี่ยวข้องร่วมดำเนินการ ประกอบด้วย สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เขตพื้นที่ 4 ซึ่งเป็นหน่วยงานในพื้นที่ที่รับผิดชอบ และมีหน่วยงานในกระทรวงแรงงานทั้งหมดที่จะมาอำนวยความสะดวกทั้งในส่วนของค่าชดเชย ค่าจ้าง สิทธิประโยชน์ ประกันสังคม และมีการนำเอาตำแหน่งงานว่างมาเสนอ เผื่อพนักงานรายใดสนใจก็สามารถสมัครที่นี่ได้

น.ส.บุปผา เผยอีกว่า ในส่วนของการดำเนินการวันนี้ จะให้กรอกแบบฟอร์ม คร.7 หรือ แบบคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 เพื่อแจ้งการถูกเลิกจ้าง จากนั้นให้บริการในส่วนของสำนักงานประกันสังคม ที่จะมารับลงทะเบียน เพื่อรับสิทธิประโยชน์ตามมาตรา 33 กรณีว่างงาน โดยก่อนที่จะดำเนินการในส่วนของประกันสังคมนั้น พนักงานทุกคนจะต้องแจ้งลงทะเบียนการถูกเลิกจ้างกับสำนักงานจัดหางานก่อน ซึ่งวันนี้ก็มีการเตรียมจัดหามาให้เรียบร้อยที่นี่ เมื่อลงทะเบียนเสร็จสิ้นจะลิงก์ข้อมูลไปที่สำนักงานประกันสังคม และจากนั้นจะพิจารณาจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน ซึ่งจะได้รับ 50% ของอัตราค่าจ้างที่จ่ายสูงสุด ซึ่งที่จ่ายสูงสุดกับประกันสังคมก็คือไม่เกิน 15,000 บาท และทุกคนจะได้รับ 50% ของเงินที่ส่งสมทบ และก่อนที่จะพิจารณาจ่ายนั้น นายจ้างก็จะต้องแจ้งเลิกจ้างในระบบก่อน อย่างไรก็ตาม เท่าที่ตรวจสอบตอนนี้พบว่านายจ้างแจ้งเลิกจ้างในระบบหมดแล้ว ดังนั้น พนักงานทุกคนก็จะได้รับเงินกรณีว่างงานได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น

รองปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวอีกว่า ภายหลังพนักงานทุกคนลงทะเบียนกับสำนักงานจัดหางานแล้ว ลิงก์ข้อมูลไปที่สำนักงานประกันสังคม ใช้เวลาประมาณ 30 วัน จากนั้นไม่เกิน 7 วัน จะมีการโอนเงินให้พนักงานทุกคน โดยจะเป็นการจ่ายให้ 6 เดือน แต่ทุก 1 เดือน (ทุกวันที่เราแจ้ง) พนักงานจะต้องรายงานตัวในระบบ ถ้าไม่รายงานตัวในระบบ ทางเราจะไม่มีข้อมูลสำหรับการจ่ายเงินในเดือนถัดไป ส่วนอีกสิทธิที่จะได้รับหลังจากถูกเลิกจ้าง คือสิทธิประกันสังคมที่ยังจะได้รับ ยังคงคุ้มครองต่ออีก 6 เดือน ทั้งเจ็บป่วย คลอดบุตร ทุพพลภาพ เสียชีวิต เป็นเวลา 6 เดือน โดยที่ไม่ต้องจ่ายเงินเข้ามา ยังได้รับการดูแลคุ้มครองอยู่

สำหรับตำแหน่งงานว่างที่มาในวันนี้นั้น รองปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวเพิ่มว่า ท่านสุชาติ ได้สั่งการมาว่าให้กรมการจัดหางาน จัดหางานที่ใกล้เคียงกับงานที่พนักงานทำอยู่เดิม เพื่อที่จะง่ายต่อการมีงานทำต่อไปโดยในวันนี้มีทั้งหมด 72 อัตรา ซึ่งพนักงานทุกคนสามารถพิจารณาสมัครในวันนี้ได้เลย โดยมีงานเกี่ยวกับงานโฆษณา งานผลิตสื่อ พนักงานขับรถยนต์ด้วย ส่วนตำแหน่งงานว่างทั่วๆไป ก็สามารถเข้าไปตรวจสอบในเว็บไซต์ของกรมการจัดหางานได้ หรือแอพพลิเคชั่นไทยมีงานทำ ซึ่งในนั้นจะมีตำแหน่งงานที่นำเสนอประมาณ 160,000 กว่าอัตรา ซึ่งจะเป็นตำแหน่งงานที่เหมาะสมกับที่ต้องการได้ ส่วนผู้สนใจประกอบอาชีพอิสระ ทางเราก็มีช่องทางในการให้ความรู้อบรมหลักสูตรต่างๆ อย่างวันนี้ที่มีมาก็คือหลักสูตรบาริสต้า เป็นต้น และเมื่อเรียนจบหลักสูตร ผ่านการอบรมกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงานแล้ว ก็สามารถกู้เงินกับทางธนาคารออมสิน เพื่อกู้เงินในอัตราดอกเบี้ยต่ำไปประกอบอาชีพต่อได้ ซึ่งทางเราได้มีการหารือกับทางธนาคารออมสินไว้แล้วเรียบร้อยแล้ว

เมื่อถามถึงการร้องขอในเงิน ที่พนักงานได้มาเพียง 16% จะดำเนินการอย่างไร รองปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า เมื่อพนักงานได้กรอกเอกสารคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 เสร็จสิ้นแล้ว จากนั้นกรมคุ้มครองแรงงานจะดำเนินการตามกระบวนการ ซึ่งจะมีทั้งค่าชดเชย และค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า เนื่องจากนายจ้างได้มีการประกาศเลิกจ้างกะทันหัน ซึ่งจะมีสองกรณีนี้ที่ลูกจ้างจะได้รับตามสิทธิกฎหมาย

ทนายเดชา ฝากว่า สิ่งที่ลูกจ้างวิตกกังวลคือ คำว่านายจ้างตามมาตรา 5 ของ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน คือ บริษัท เจ เอส แอล จำกัด และกรรมการ และนายจ้างผู้รับมอบอำนาจ ดังนั้น คนที่ต้องรับผิดมีทั้งสิ้น 3 กลุ่ม โดยทั่วไปกรรมการบางคนก็ไม่อยู่ บางคนก็ลาออกก่อนจะมีการเลิกจ้าง ดังนั้น การดำเนินการเรียกมาให้เข้าพบหรือแจ้งข้อกล่าวหา เพราะจะกลายเป็นว่าคนที่มีอำนาจ ไม่มีชื่อในบริษัทเลย ก็จะกลายเป็นบริษัทกระดาษ ทรัพย์สินไม่มี พนักงานร้องไห้เสียใจ ก็ไม่ได้อะไรเลย จึงขอฝากผู้อำนวยการฯพิจารณาในตรงนี้ด้วย

คุณเอ๋ ตัวแทนอดีตพนักงานบริษัทฯ ตำแหน่งโปรดิวเซอร์อาวุโส กล่าวว่า ขอบคุณที่ทุกคนไม่ทอดทิ้งกัน ขอบคุณสื่อที่มาช่วย วันนี้พวกตนถูกกระทำ โดยไม่มีความผิด และคาดไม่ถึงว่าจะเกิดเหตุการณ์ซึ่งตลอด 2-3 วันที่ผ่านมา พวกตนรู้สึกเคว้งมาก คิดไม่ออกว่าจะทำอย่างไรดี เพราะตนทำงานอยู่เบื้องหลังตลอด ไม่มีความรู้ทางด้านกฎหมาย ต้องรวบรวมพลังกันไปปรึกษาทนายเดชา และกระทรวงแรงงานที่ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือพวกตนไม่ได้ต้องการให้จับเจ้าของบริษัทมาลงโทษ ไม่ได้ต้องการทำร้ายใคร แต่อยากให้ทำถูกตามกฎหมาย พวกตนทำงานร่วมกันมาเกือบ 30 ปี อยากให้นึกถึงหัวอกคนอื่นบ้าง ทุกคนมีความทุกข์ มีภาระเป็นของตัวเอง พนักงานทุกคนไม่มีใครอยากเดินมาถึงจุดนี้ที่ต้องมาออกสื่อ วันที่บริษัทปิดตัวลงพวกตนเจ็บปวดและเสียใจกันมาก คิดว่ามันต้องไปต่อไปได้ แต่พอรู้เงินชดเชยที่ได้รับไปต่อไม่ถูก ไม่คิดว่าบริษัทจะมาเทในขบวนสุดท้าย ที่อยู่และฝ่าฟันกันมาทุกวิกฤติ วันนี้เจ็บและจุกมาก

อดีตโปรดิวเซอร์อาวุโส กล่าวต่อว่า อยากฝากถึงกระทรวงแรงงาน ถ้าตั้งกฎหมายมาได้แล้ว ขออย่าให้มีช่องโหว่หลายคนกังวลว่าถ้าบริษัทประกาศล้มละลาย และจะไม่ได้อะไรเลย แต่ตนคิดว่ามันไม่ใช่ ตนเชื่อกฎหมายมีความศักดิ์สิทธิ์ พร้อมทิ้งท้ายว่าในวันพรุ่งนี้ (5 ก.ค.) เวลา 15.30 น. จะร่วมกันเดินทางไปพบ นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน ที่กระทรวงแรงงาน