เมื่อวันที่ 4 ก.ค. ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.จักรรัฐ พิทยาวงอานนท์ ผอ.กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่าขณะนี้หลายประเทศทั่วโลกพบผู้ติดเชื้อเริ่มเพิ่มขึ้น มีรายงานผู้เสียชีวิตต่อเนื่อง ซึ่งมีความสัมพันธุ์กับสายพันธุ์ BA.4 และ BA.5 แต่เป็นการติดเชื้อระลอกเล็กๆ ซึ่งกรณีที่บางประเทศเพิ่มขึ้น บางประเทศลดลง คนที่เสียชีวิตเพราะไม่ได้ฉีดวัคซีน หรือฉีดนานแล้ว บางประเทศถอดหน้ากากแล้ว ต้องประกาศให้กลับมาใส่หน้ากากอีกครั้ง เช่น ฝรั่งเศส เพราะพบ BA.5 เพิ่มขึ้น ส่วนไทยมี BA.5 ขึ้นมา 20 % ใกล้เคียงกับทั่วโลก เพราะไม่ได้จำกัดการเดินทาง แต่ยังไม่พบพีคใหม่ที่ชัดๆ เหมือนประเทศอื่น เราอาจจะเข้าสู่ระยะที่อาจจะพบการระบาดเพิ่มเติมหลังโอมิครอน BA.1 BA.2 มาเป็นการระบาดของ BA.4 และ BA.5 อาจจะมีผลตามมาบ้าง

“ขณะนี้แนวโน้มมีการติดเชื้อเพิ่มขึ้น ในกทม. ปริมณฑล จังหวัดใหญ่ จังหวัดท่องเที่ยว ส่วนจังหวัดเล็กๆ มีการติดเชื้อลดลง” นพ.จักรัฐ กล่าว และว่าน่าจะเป็นสัญญาณเตือน แต่ยังไม่ได้มีสถานการณ์รุนแรงมาก เป็นสัญญาณเตือนเริ่มต้นว่า กทม. ปริมณฑล, จังหวัดใหญ่ จังหวัดท่องเที่ยว ต้องพิจารณาควบคุมการระบาดบางส่วน อาจจะต้องเพิ่มมาตรการป้องกันโรค เช่น การสวมหน้ากากอนามัย โดยเฉพาะพื้นที่รวมกลุ่มคนมาก ๆ ขนส่งสาธารณะทุกประเภท ทั้งนี้สถานที่เสี่ยง พบระบาดกลุ่มก้อนในจังหวัดเหล่านี้รวมถึง 3 จังหวัดชายแดนใต้ คือ โรงเรียน สถาบันการศึกษาหลายจังหวัด โดยพบเป็นคลัสเตอร์เล็กๆ ซึ่งคุมได้ แต่อาจจะแพร่สู่ครอบครัว กลุ่ม 608 ได้

คาดว่าหลังวันที่ 1 ก.ค. เป็นต้นไป – ปี66 คาดว่าตั้งแต่สัปดาห์นี้เป็นต้นไปจนถึง 10 สัปดาห์ข้างหน้า จะมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้น และเข้ารับการรักษาในรพ.มากขึ้น แต่อาจจะเข้ารับการรักษาในรพ.ไม่มากเท่าช่วงต้นของโอมิคอน มีหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องวัคซีนที่ฉีดจำนวนมาก และอีกปัจจัยสำคัญคือการป้องกันโรคส่วนบุคคล หากยังป้องกันกันใกล้เคียงก่อนผ่อนคลายมาตรการกราฟจะไม่สูงมาก แต่หากผ่อนคลายหมด คนไม่สวมหน้ากากเลย เส้นกราฟจะสูงมาก คาดว่าเดือนก.ย.65 สูงสุดวันละ 4 พันคน

นพ.จักรรัฐ อธิบายเพิ่มเติมว่า สถานการณ์ในประเทศไทยขณะนี้ มีผู้ป่วยอาการหนัก 677 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 293 ราย พบว่าปอดอักเสบเริ่มเพิ่มขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สอดคล้องกับที่มีรายผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น แต่ผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายไม่ได้เพิ่มขึ้นมาก ยังทรงตัว สำหรับผู้ป่วยเสียชีวิตทรงตัว ลดลงเล็กน้อย ขณะที่ผู้ป่วยรายใหม่ที่เข้ารักษาตัวในรพ.ยังทรงตัว แต่ผู้ป่วยอาการไม่รุนแรงเพิ่มขึ้น จากข้อมูล HI เคยมีผู้ป่วยเข้าระบบหลักหมื่นคน ตอนนี้เพิ่มมาเป็น 1.4 หมื่นคน อาจจะเป็นไปได้ว่ามีการระบาดเล็กๆ ในครอบครัว จึงรักษาด้วยเองและลงทะเบียบรับยากับสปสช. ทำให้ OPSI เพิ่มขึ้นจากประมาณ 191,000 เป็นประมาณ 207,000 ราย เพิ่มขึ้นค่อนข้างเยอะในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา

สรุปเสียชีวิตรอบสัปดาห์ ที่เกิดจากโรคโควิด – 19 โดยตรง 106 ราย เป็นผู้ป่วย 608 ทั้งหมด ในจำนวนนี้เกือบ 50 % ไม่ฉีดเลยสักเข็ม บางคนฉีดเข็มเดียว พออาการรุนแรงก็ไม่สามารถป้องกันได้ บางส่วนฉีด 2 เข็ม นานเกิน 3 เดือน ทั้งนี้ 608 เมื่อมีการติดเชื้ออาการป่วยจะค่อนข้างเยอะ เพราะภูมิคุ้มกันมีไม่มาก หลายโรคแม้ฉีด 2 เข็ม แต่ป้องกันไม่ได้ โดยเฉพาะโอมิครอน ต้องฉีดเข็มกระตุ้น ทั้งนี้กลุ่มที่เสียชีวิตเยอะเป็นกลุ่มผู้ป่วยไตเรื้อรัง หลอดเลือดสมอง โรคหลอดเลือดหัวใจ มะเร็ง

สรุปผู้ป่วยปอดอักเสบเข้ารพ. และครองเตียง ภาพรวมทั้งระเทศราวๆ 10.9 % บางจังหวัดมีการปรับเตียงไปใช้ดูแลผู้ป่วยโรคอื่นๆ แล้ว เหลือเตียงสำหรับโควิดไว้บางส่วน จึงทำให้ดูเหมือนว่าสัดส่วนอัตราการครองเตียงสูงขึ้น เช่น กทม.ปริมณฑล จังหวัดท่องเที่ยวอื่นๆ แต่การครองเตียงที่ระดับ 20-30 % ยังสามารถรองรับได้ เพราะเกณฑ์การรองรับคือ 50 % หากเกินนี้จึงจะมีมาตรการเพิ่มเตียงได้.