เมื่อวันที่ 4 ก.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาโพสต์ถึงเรื่องราวการออกมาเปิดเผยของ “ฤทธิ์ ลือชา” นักแสดงรุ่นใหญ่ ได้ออกมา โพสต์ภาพราคาน้ำมัน ที่ประเทศมาเลเซีย เบนซิน 95 คิดเป็นเงินไทยลิตรละ 16.4 บาท จนเป็นที่พูดถึงไปทั่วทั้งสังคมออนไลน์ โดย “อ.เจษฎ์” ระบุว่า “เรื่องสาเหตุของราคาน้ำมันในบ้านเรา ว่ามีปัจจัยจากอะไรบ้าง เลยขอเอามารีโพสต์ให้อ่านกันนะครับ”

“สรุปสั้นๆ คือ ราคาน้ำมันในมาเลเซียถูกกว่าราคาบ้านเรา เพราะเป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมัน ไม่มีการเก็บค่าภาษีสรรพสามิตและเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน แถมอุดหนุนราคาขายปลีกด้วย” ขณะที่ไทยเรา มีทั้งต้นทุนเนื้อน้ำมัน บวกภาษี (ค่อนข้างสูง) เงินเก็บเข้ากองทุนน้ำมัน (มักจะเก็บเบนซินแพง ไปอุดหนุนให้ดีเซล) และค่าการตลาด (ที่ก็ไม่ได้สูงมากนัก)

ดังนั้น ถ้าไทยเราจะลดราคาน้ำมันขายปลีกลง ก็คงต้องไปลดพวกภาษีสรรพสามิตนี่แหละครับ … ซึ่งคงยากเพราะเป็นรายได้สำคัญของรัฐบาล ป.ล. ถ้าการเมืองดี เศรษฐกิจก็จะดี .. ถ้าเศรษฐกิจดี ภาษีก็ไม่ต้องเก็บแพง

“ราคาน้ำมันในไทย ถูกแพง มีปัจจัยอะไรบ้าง?”
ช่วงนี้เขียนโพสต์ประเด็นที่เกี่ยวกับปัญหาราคาเชื้อเพลิงแบบต่างๆ ที่สูงขึ้นจนกระทบเศรษฐกิจของคนไทยไปหลายเรื่องแล้ว เลยน่าจะลองแตะเรื่องเกี่ยวกับ “ราคาน้ำมัน” หน่อย เพราะดูเหมือนคนจะยังเข้าใจไม่เคลียร์กันว่า ที่น้ำมันจำหน่ายในไทยเรา มีราคาถูก ราคาแพง เกิดจากสาเหตุปัจจัยอะไรบ้าง

สรุปสั้นๆ ก็ได้เป็น 5 ประเด็น ได้แก่
1.ไทยยังต้องนำเข้าน้ำมันดิบ แม้จะผลิตเองได้บ้าง : ปริมาณน้ำมันดิบที่ไทยเราผลิตเองได้บ้างนั้น แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ในประเทศ โดยเฉพาะเมื่อเศรษฐกิจและการขนส่งฟื้นตัวหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย

2.ราคาน้ำมันของไทย สูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านจริงหรือ: ราคาขายปลีกน้ำมันนั้นขึ้นอยู่กับโครงสร้างราคาน้ำมันของแต่ละประเทศ อย่างเช่น ราคาน้ำมันในมาเลเซีย บรูไน ถูกกว่าราคาบ้านเรา เพราะนอกจากจะเป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมันแล้ว ยังไม่มีการเก็บค่าภาษีและกองทุนน้ำมัน แถมมีการอุดหนุนราคาขายปลีกด้วย ขณะที่โครงสร้างราคาน้ำมันของไทยเรา มีทั้งต้นทุนเนื้อน้ำมัน บวกกับภาษี เงินเข้ากองทุนน้ำมัน และค่าการตลาด

3.ถึงราคาน้ำมันในไทยจะสูง แต่บริษัทผู้ค้าน้ำมันได้ “ค่าการตลาด” ค่อนข้างคงที่ : บริษัทที่ทำปั๊มน้ำมันขายกันนั้น จะได้ส่วนแบ่งกำไรที่เรียกว่า “ค่าการตลาด” ซึ่งมักจะอยู่ที่ราวๆ 1.50-2 บาทต่อลิตร ไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงไปจากนี้ โดยกำไรสุทธิของเขา จะได้มากน้อยขึ้นกับว่าขายน้ำมันไปได้เท่าไหร่ ซึ่งจะต้องไปหักลบค่าใช้จ่ายอื่นๆ ของบริษัทในการจัดจำหน่าย ขนส่ง เก็บรักษาน้ำมันอีกด้วย

4.ราคาน้ำมันสำเร็จรูปในไทย จำเป็นต้องอ้างอิงราคาจากสิงคโปร์ : แม้ว่าไทยเราจะนำเข้าน้ำมันดิบมากลั่นเป็นน้ำมันสำเร็จรูป แต่เราจำเป็นที่จะต้องกำหนดราคาน้ำมันสำเร็จรูปให้ใกล้เคียงกับตลาดโลก (เช่น ใช้ราคาของสิงคโปร์ ซึ่งเป็นตลาดกลางน้ำมันของเอเชีย) ถ้าไทยกำหนดราคาน้ำมันเองจนต่ำเกินไป ผู้ค้าน้ำมันก็จะส่งออกน้ำมันไปต่างประเทศมากขึ้น ทำให้น้ำมันภายในประเทศขาดแคลนได้

5.น้ำมันสำเร็จรูปที่ส่งออก มีราคาถูกกว่าที่ขายในไทย เพราะไม่โดนบวกเงินเพิ่ม : น้ำมันสำเร็จรูปที่กลั่นผลิตในประเทศไทยนั้น ส่วนหนึ่งมีการส่งออกไปยังต่างประเทศด้วย ซึ่งพบว่ามีราคาถูกกว่าที่ขายในประเทศ เพราะว่าเป็นการคิดราคาจากแค่เนื้อน้ำมันจากโรงกลั่น ไม่ได้คิดเพิ่มค่าภาษี และค่าเงินเข้ากองทุนน้ำมัน (แต่เมื่อไปถึงประเทศปลายทางแล้ว ก็จะไปโดนบวก ตามแต่อัตราภาษีของประเทศนั้น คนชาตินั้นๆ ก็จ่ายแพงอยู่ดี)

สรุปรวมๆ คือ ราคาน้ำมันที่จำหน่ายในประเทศไทยเรานั้น ส่วนหนึ่งก็ต้องทำใจที่มันจะขึ้นลง ถูกแพงตามกลไกราคาน้ำมันในตลาดโลก .. ในขณะที่ค่าการตลาด ค่าภาษี ค่ากองทุนน้ำมันเป็นส่วนที่เสริมเข้ามาในราคา แต่มักจะมีค่าค่อนข้างคงที่ตลอด (ซึ่งถ้ารัฐลดการจัดเก็บภาษีลง หรือลดการหักเงินเข้ากองทุนน้ำมันลง หรือเพิ่มการอุดหนุนราคาบ้าง ก็อาจจะช่วยพยุงราคาได้เมื่อถึงคราวจำเป็น) … เราๆ ท่านๆ ก็คงจะได้แต่ช่วยกันประหยัดการใช้น้ำมัน และภาวนาให้ราคาน้ำมันตลาดโลกมันลดลงบ้างนะครับ..

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก @Jessada Denduangboripant