จากกรณีที่กระทรวงสาธารณสุข ประกาศยกเว้นกัญชาเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 9 มิ.ย. 2565 ต่อมาหลังจากที่กัญชาเสรีมักจะเห็นข่าวเด็กและวัยรุ่น มีโอกาสเข้าถึงกัญชาเพิ่มขึ้น ทั้งรูปแบบอาหาร ขนม เครื่องดื่ม จึงทำให้เรามักจะเห็นข่าวที่เด็กๆ เกิดอาการป่วยจากกัญชา และยังไม่มีมาตรการคุ้มครองเด็กและเยาวชนเลย ซึ่งทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ห่วงเรื่องความปลอดภัยที่เด็กเข้าถึงง่ายขึ้น และอาจจะต่อให้เกิดอันตรายด้านสุขภาพ

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : หมอทำงานหนักขึ้น! สุดอึ้งพบเด็ก 3 ขวบกินคุกกี้ผสมกัญชาไม่รู้ตัว

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : อึ้ง! ‘นร.มัธยม’ เมากัญชาจะชกหน้าครู หลังเข้าไปห้ามล็อกห้องสูบกัญชา

ซึ่งต่อมาเมื่อวันที่ 4 ก.ค.2565  ศ.เกียรติคุณ นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา ประธานราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ลงนามออกแถลงการณ์ที่ รวกท 2/2565 แถลงการณ์ ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ฉบับที่ 2 เรื่อง ผลกระทบของกฎหมายกัญชาเสรีต่อสุขภาพเด็กและวัยรุ่น โดยมีข้อความระบุว่า

สืบเนื่องจากประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ประกาศยกเว้นจากการเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 โดยเฉพาะกัญชา ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 9 มิ.ย. 2565 เป็นเหตุให้เด็กและวัยรุ่นมีโอกาสเข้าถึงกัญชาและผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกัญชาจากการบริโภคอาหาร ขนมและเครื่องดื่มโดยความตั้งใจและไม่ตั้งใจ สะท้อนให้เห็นว่าเด็กและเยาวชน ซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบางและเป็นอนาคตของประเทศชาติ ไม่ได้รับความคุ้มครองตามสิทธิที่พึงจะได้รับ จากรายงานพบว่ามีผู้ป่วยเด็กได้รับผลกระทบจนมีอาการป่วยจากกัญชาทั้งทางกายและทางจิต ในบางรายอาการรุนแรงจนต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล

ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทยร่วมกับ สมาคมกุมารประสาทวิทยา (ประเทศไทย) ชมรมจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นแห่งประเทศไทย ชมรมพัฒนาการและพฤติกรรมเด็กแห่งประเทศไทย ได้ติดตามผลกระทบของกัญชาต่อเด็กและเยาวชนอย่างใกล้ชิด มีความห่วงใยและตระหนักถึงอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชน เพื่อให้สอดคล้องตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่อง สมุนไพรควบคุม (กัญชา) พ.ศ. 2565 ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทยขอเสนอให้มีมาตรการควบคุม ดังนี้

1. เห็นควรให้กำหนดการใช้กัญชาเฉพาะกรณีมีความจำเป็นทางการแพทย์เท่านั้น อาทิเช่น โรคลมชักชนิดดื้อยา ใช้ประกอบการรักษาประคับประคองผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย โดยอยู่ภายใต้การดูแลรักษาของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างใกล้ชิด

2. ต้องมีมาตรการห้ามมิให้มีการใช้กัญชา และสารสกัดจากกัญชา เป็นส่วนประกอบในอาหาร ขนม และเครื่องดื่มทุกชนิด เนื่องจากประชาชน รวมทั้งเด็ก หญิงตั้งครรภ์ และหญิงให้นมบุตรอาจเข้าถึงได้โดยไม่ตั้งใจ และไม่สามารถควบคุมปริมาณกัญชาในส่วนประกอบที่บริโภคได้

3. ในระยะเร่งด่วน ระหว่างรอร่างกฎหมาย เสนอให้มีมาตรการควบคุม ดังนี้

3.1 ให้มีมาตรการควบคุม การผลิต และขายอาหารหรือผลิตภัณฑ์ที่มีกัญชาผสม กำหนดให้มีเครื่องหมาย/ข้อความเตือนอย่างชัดเจน เพื่อป้องกันการใช้ในเด็กและวัยรุ่น โดยระบุ “กัญชามีผลทำลายสมองเด็กงดจำหน่ายให้เด็กและเยาวชนที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี หญิงมีครรภ์และหญิงให้นมบุตร” และงดวางผลิตภัณฑ์ที่มีกัญชาเป็นส่วนผสมในที่เปิดเผย

3.2 ห้ามโฆษณา จัดกิจกรรมส่งเสริมการขายรวมถึงนำเด็กและเยาวชนมามีส่วนร่วม และจัดจำหน่าย อาหาร ขนมเครื่องดื่มทุกชนิดที่มีส่วนผสมของกัญชาและสารสกัดจากกัญชาต่อเด็กและเยาวชนที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี หญิงมีครรภ์และหญิงให้นมบุตร

3.3 ให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับประชาชนเรื่องโทษของกัญชากับสมองเด็กและวัยรุ่น เพื่อให้เกิดความตระหนักรับรู้ว่ากัญชาเป็นสารที่มีฤทธิ์เสพติด ส่งผลต่อสุขภาพกายและจิตในระยะเฉียบพลัน และอาจรุนแรงถึงกับชีวิตได้ รวมถึงมีผลกระทบในระยะยาวต่อสมอง ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างและการทำงานของสมองที่กำลังพัฒนา

4. ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามผลกระทบของกัญชาต่อเด็กอย่างต่อเนื่องและจริงจังและนำมาเปิดเผยสู่สาธารณชน

ทั้งนี้ ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย พร้อมเสมอที่จะให้ข้อมูลที่เที่ยงตรงและถูกต้องบนพื้นฐานของวิทยาศาสตร์การแพทย์รวมถึงให้ข้อแนะนำที่เหมาะสมแก่บุคคลากรทางการแพทย์และประชาชนเกี่ยวกับผลกระทบของกัญชาต่อเด็กและวัยรุ่น

ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพ @ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย