เมื่อวันที่ 5 ก.ค. ที่รัฐสภา นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว. กล่าวถึงการพิจารณา ร่างกฎหมายลูกว่าด้วยการเลือกตั้ง 2 ฉบับ โดยเฉพาะการโหวตสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ จะหารด้วย 100 หรือ 500 ว่าขึ้นอยู่กับการประชุมและการโหวตของรัฐสภา โดยร่างของกรรมาธิการมีเนื้อหาตรงกับทุกร่างที่เสนอเข้ามาในวาระแรกคือการหารด้วย 100 และความเชื่อส่วนตัวเข้าใจว่าไม่สามารถตอบคำถามได้ว่าจะเอาหารด้วย 100 หรือหารด้วย 500 นั่นเพราะนับตั้งแต่การเปลี่ยนระบบเลือกตั้งมาเป็นบัตรเลือกตั้งบัตร 2 ใบ ส.ส.เขต 400 กับ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 ตามข้อความในรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติม เข้าใจได้ว่าการคิดคำนวณสัดส่วน ส.ส.บัญชีรายชื่อ ให้คำนวณเป็นสัดส่วนโดยตรงเฉพาะ จึงเห็นว่าไม่น่านำมาเป็นข้อถกเถียงในตอนนี้ได้ว่าจะหาร 100 หรือ 500 และจากการพิจารณาร่างกฎหมายที่ผ่านมามีอุบัติเหตุทางการเมือง ทำให้มีเพียงเฉพาะร่างฉบับของพรรคประชาธิปัตย์ผ่านวาระแรก จึงไม่สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างหมดจด ทำให้มีคำว่า ส.ส.พึงมี กำหนดอยู่ในบางมาตรา เช่น มาตรา 93 มุมมองส่วนตัวเห็นว่าไม่เกี่ยวข้องกับการคำนวณ แต่จะเป็นส่วนเกินไม่มีที่ใช้ของรัฐธรรมนูญ

สำหรับระบบ ส.ส.พึงมีในรัฐธรรมนูญปี 60 ที่เป็นการเลือกตั้งระบบสัดส่วนผสมบัตรใบเดียว แต่ก่อนหน้านั้นที่ประเทศไทยมี ส.ส.บัญชีรายชื่อ ไทยใช้ระบบเลือกตั้งที่เรียกว่าคู่ขนาน คือแยกกัน ส.ส.เขต ส่วน ส.ส.บัญชีรายชื่อ คิดคำนวณเฉพาะกลุ่ม ส.ส.บัญชีรายชื่อ ซึ่งในชั้นกรรมาธิการได้มีการพูดถึงประเด็นนี้มาตลอด เพราะว่าไม่น่าจะมีประเด็นอะไรในวิธีคิดคำนวณ หากมีประเด็นขึ้นมาก็ต้องติดตามว่าสถานการณ์การเมืองจะเป็นอย่างไรต่อไป ทั้งนี้ตนไม่ทราบว่าเสียงกรรมาธิการในสัดส่วน ส.ว.ที่โหวตหนุนสูตรคำนวณหาร 500 จะสะท้อนเสียง ส.ว.ทั้งหมดหรือไม่ และเท่าที่พูดคุยมีแนวคิดของ ส.ว.ทั้ง 2 ทาง ในการคิดคำนวณ

ขณะที่ นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่าตนขอย้ำว่า การที่มีส.ส.แสดงความเห็นลักษณะดังกล่าวเท่ากับกล่าวหาคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งมีหน้าที่กำกับดูแลเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ เช่น รัฐธรรมนูญมาตรา 132 บัญญัติชัดเจนว่า หลังจากรัฐสภาพิจารณาเสร็จแล้ว ภายใน 15 วัน จะต้องนำส่งไปยังองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้อง ในกรณีนี้คือ กกต.ให้ดำเนินการตรวจสอบ ดังนั้น เมื่อ กกต.เป็นผู้เสนอร่างกฎหมายดังกล่าว ซึ่งให้หารด้วย 100 และเสนอต่อยัง ครม. โดย ครม.ได้ส่งให้กฤษฎีกาตรวจสอบความถูกต้อง ก่อนส่งกลับมายัง ครม.แล้วอนุมัติก่อนส่งมาสภา ทำให้การที่สมาชิกรัฐสภาบางท่านกล่าวหาว่าการหาร 100 จะขัดรัฐธรรมนูญ เท่ากับกล่าวหา กกต.โดยตรง และอาจทำให้กฤษฎีกา รวมถึง ครม.ซึ่งมีส่วนร่วมในการรับรองได้รับผลกระทบด้วย

“ความเห็นของบางท่านกับองค์กรอิสระที่มีหน้าที่โดยตรงอย่าง กกต. ใครมีน้ำหนักน่าเชื่อถือกว่ากัน ที่ต้องพูดเพราะจะเกิดความสับสน ทั้งนี้ ไม่มีที่ไหนเขาทำกัน เมื่อประชาชนหย่อนบัตร 2 ใบ ใบหนึ่งเลือก ส.ส.แบบแบ่งเขต อีกใบเลือก ส.ส.บัญชีรายชื่อ กลับเอาคะแนนรวม ส.ส.บัญชีรายชื่อไปหารด้วย ส.ส.ทั้งสภา คือ 500 เพื่อให้ได้ ส.ส.พึงมี เป็นการคิดเองเออเอง โดยที่ไม่มีหลักการ ไม่มีกฎหมายรองรับ การเสนอแก้ก็อยู่ในรัฐธรรมนูญมาตรา 91 คือยกเลิกการหาร 500 ไปแล้ว โดยแก้ให้สัมพันธ์โดยตรงกับจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ ไม่ใช่การด้วย ส.ส.ทั้งสภา ซึ่งวานนี้ (4 ก.ค.) วิปรัฐบาลมีมติเห็นชอบกับมติคณะ กมธ.ฯ ที่เห็นชอบกับร่างของ กกต. ที่ให้หารด้วย 100 ซึ่งพรรคพลังประชารัฐ ยึดหลักการตามคณะ กมธ.ฯ” 

เมื่อถามว่าหากหาร 100 ไม่กลัวว่าพรรคเพื่อไทยจะแลนด์สไลด์หรือ นายไพบูลย์ กล่าวว่า จะเป็นไปได้อย่างไรที่พรรคเพื่อไทยจะแลนด์สไลด์ ไปถามพรรคก้าวไกล กับ พรรคเสรีรวมไทยหรือยัง ว่าเขาจะยอมหรือไม่ โดยเฉพาะพรรคก้าวไกล บอกจะชนะพรรคเพื่อไทยด้วยซ้ำ ก็ให้ไปตกลงกันเองก่อน 3 พรรค ส่วนทางเราไม่ห่วงอยู่แล้ว

ส่วนนายนิโรธ สุนทรเลขา ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะประธานวิปรัฐบาล กล่าวถึงกระแสข่าวที่พรรคพลังประชารัฐเตรียมโหวตร่างกฎหมายลูกเลือกตั้ง ให้การคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ใช้หาร 500 ว่า พรรคพลังประชารัฐ ยังไม่ได้หารือกันเรื่องนี้ และมองเป็นเรื่องของสมาชิกรัฐสภา ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการพิจารณาชั้นกรรมาธิการ ซึ่งกรรมาธิการเสียงข้างน้อยและเสียงข้างมากยังคงมีข้อถกเถียงเรื่องของสูตรการคำนวณอยู่ ดังนั้น เมื่อกลับมาสู่การพิจารณาในวาระ 2 ก็เป็นหน้าที่ของสมาชิกที่จะต้องร่วมกันพิจารณา ทั้งนี้เห็นว่า การใช้สูตรหาร 100 หรือ 500 ต้องยอมรับว่ามีผลต่อการเลือกตั้งของ ส.ส. จึงเชื่อว่าทุกคนจะพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจ
 
เมื่อถามว่า มีโอกาสที่พรรคพลังประชารัฐ จะโหวตแนวทางหาร 500 เพื่อพลิกเกมสกัดแลนสไลด์พรรคเพื่อไทยใช่หรือไม่ นายนิโรธ กล่าวว่า พรรคพลังประชารัฐไม่ได้มองประเด็นนี้ พรรคพลังประชารัฐพร้อมหมด ไม่ว่าจะหาร 500 หรือ หาร 100 มั่นใจว่าพรรคพลังประชารัฐ กลับมาได้อยู่แล้วในการเลือกตั้งครั้งหน้า ไม่ว่าจะใช้สูตรคำนวณใดก็ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลแน่นอน 
 
ขณะที่ นายพนิต วิกิตเศรษฐ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัวถึงสูตรคำนวณจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ ว่าหลายคนอยากใช้สูตรเลือกตั้งที่หารด้วย 500 แทนหารด้วย 100 โดยให้เหตุผลว่าต้องป้องกันเผด็จการรัฐสภา แต่ตนอยากโต้เถียงว่าไม่ว่าจะหารด้วย 500 หาร 100 หรือหารด้วย 0 รัฐบาลก็ต้องได้เสียงข้างมาก ซึ่งเสียงข้างมากในรัฐสภาไม่ใช่เผด็จการรัฐสภา แต่เป็นกลไกของประชาธิปไตย เป็นการปกครองโดยเสียงข้างมาก และสิทธิของเสียงข้างน้อย  หากคนเถียงว่าหารด้วยสูตร 100 พรรคเล็กๆจะไม่ได้เกิด แต่ก็เข้าใจมุมมองของประชาชน เพราะในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา พรรคเล็กเกิดขึ้นกว่า 10 พรรค แต่ก็เข้าไปยกมือไปให้มีการสืบทอดเผด็จการ

“ในฐานะที่เป็น ส.ส.ประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นพรรคอยู่ฝั่งรัฐบาล ด้วยสถานะ ส.ส.ผมมีสิทธิที่จะเลือกสูตร 500 หรือ 100 ก็ได้ แต่อยากจะขออนุญาตพูด และยืนยันว่าในฐานะคนไทยคนหนึ่งที่อยากเห็นปรากฏการณ์ที่คนรุ่นใหม่และพรรคใหม่ๆ เข้ามาเปลี่ยนแปลงการเมืองไทยว่า เราควรใช้สูตรหารด้วย 500 ไม่ใช่เพราะให้พรรคเล็กเกิด แต่เป็นเพราะว่าเราต้องเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้นบนเส้นทางประชาธิปไตย” นายพนิต ระบุ