จากกรณี ทนพ.ภาคภูมิ เดชหัสดิน นักเทคนิคการแพทย์ชื่อดัง เจ้าของแฟนเพจ “หมอแล็บแพนด้า” แชร์โพสต์ภาพจากกลุ่มเฟซบุ๊กรายหนึ่ง (ปิดชื่อเฟซบุ๊ก) พร้อมข้อความระบุว่า “วงการทำนาต้องสั่นสะเทือน ใช้น้ำยาล้างห้องน้ำผสมฉีดข้าวครับ” โดยภาพดังกล่าวเป็นภาพถ่ายขวดน้ำยาล้างห้องน้ำ กลางทุ่งนา มีข้อความระบุว่า “ใช้แล้วได้ผลจริง ประหยัดต้นทุน นาแปลงเดียวกันแต่แตกต่างกัน ยาทุกตัวใช้เหมือนกัน ยกเว้นใส่XX (ยี่ห้อน้ำยาล้างห้องน้ำ) กับไม่ได้ใส่XX ภาพ 2 ใส่XX ภาพ 3 ไม่ได้ใส่ ลืมคิดว่าผสมลงไปในถังแล้ว” จนเกิดคำถามตามมามากมายตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น

ความคืบหน้าล่าสุด รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก เกี่ยวกับกรณีดังกล่าว ระบุว่า “ไม่น่าเอาน้ำยาล้างห้องน้ำ ไปฉีดพ่นนาข้าว นะครับ” เช้านี้ เห็นโพสต์ภาพเหล่านี้ ในเพจของ หมอแล็บแพนด้า ที่หมอแล็บระบุว่า “วงการทำนาต้องสั่นสะเทือน ใช้น้ำยาล้างห้องน้ำผสมฉีดข้าวครับ” ก็ยังงงว่า เขาทำกันแบบนี้จริงเหรอ ที่เอาน้ำยาล้างห้องน้ำไปฉีดพ่นในนาข้าว เค้าจะทำไปทำไมกัน?

ซึ่งดูตามคำบรรยายในภาพ ก็เหมือนกับเกษตรกรเขาจะคิดว่าใส่ไปแล้ว นาจะได้ผลผลิตดีแตกต่างออกไป หรือเท่าที่อ่านในคอมเมนต์ บางคนก็อธิบายว่า เกษตรกรคงเข้าใจผิดว่าน้ำยาล้างห้องน้ำ จะไปช่วยฆ่าเชื้อโรค ฆ่าเชื้อรา ให้กับแปลงนาได้ ถ้าดูในเรื่ององค์ประกอบของน้ำยาล้างห้องน้ำนั้น จะพบว่ามีหลายสูตรมากๆ ได้แก่

– สูตรกรดเกลือ (Hydrochloric acid ) และสารลดแรงตึงผิว (Surfactant) ชนิดต่างๆ เช่น Ethoxylate Alcohol ; Ethoxylate Alcohol ; Linear Alkylbenzene Sulfonate, Sodium Salt ; Lauryl Dimethyl Amine Oxide ; Alkyl Dimethyl Benzyl Ammonium chloride ; Alkyl Dimethyl Ethylbenzyl Ammonium chloride

– สูตรกรดเกลือ, กรดมะนาว (Citric acid) และสารลดแรงตึงผิว

– สูตรกรดมะนาว และ สารลดแรงตึงผิว

– สูตรใช้ตัวทำละลายอินทรีย์ (Organic Solvent) กับสารลดแรงตึงผิว

– สูตรสารลดแรงตึงผิว หลายชนิด ผสมกัน

– สูตรโซเดียมไฮโปคลอไรท์ (Sodium hypochlorite) และสารลดแรงตึงผิว

– สูตรสารลดแรงตึงผิว ผสมกับ Trichloroisocyanuric acid (TCCA) และ ผงหินปูน (Calcium carbonate )

ถ้าดูตามรายชื่อของสารเคมีที่ปรากฏนี้แล้ว ก็ไม่น่าจะมีตัวไหนที่จะมีประสิทธิภาพดี ในการช่วยเพิ่มผลผลิต หรือช่วยฆ่าเชื้อโรคเชื้อราได้ประสิทธิภาพดีด้วย เมื่อเทียบกับการใช้สารเคมีทางการเกษตรที่เหมาะสมโดยตรง ไม่ว่าจะเริ่มเพิ่มผลผลิตด้วยปุ๋ยด้วยฮอร์โมน หรือแก้ไขป้องกันเรื่องโรคพืชด้วยยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ยาฆ่าเชื้อรา ยากำจัดศัตรูพืช ฯลฯ (ถึงน้ำยาล้างห้องน้ำ จะเคลมบนขวดว่าฆ่าเชื้อโรคได้ 99.9% แต่ก็ต้องมีความเข้มข้นมากเพียงพอ สำหรับพื้นที่แคบๆ อย่างห้องน้ำ)

ที่พอจะคิดว่า อาจจะช่วยได้ทางอ้อม คือการที่น้ำยาล้างห้องน้ำมีการผสมสารลดแรงตึงผิว (surfactants) ลงไปด้วย อันนี้ ก็พอจะกลายเป็นสารเสริมประสิทธิภาพ (Adjuvants) ช่วยให้สารเคมีการเกษตรอื่นๆ ที่ผสมฉีดพ่นไปพร้อมกันนั้น จับกับใบพืชได้ดีขึ้น โดยไปปรับสภาพทางกายภาพของตัวสารออกฤทธิ์ ให้ละลายหรือแผ่กระจายในน้ำ มีผลให้สารเคมีเคลื่อนที่เข้าสู่ปากใบและเนื้อเยื่อหรือเซลพืชได้ง่าย โดยเฉพาะสารกำจัดวัชพืช หรือสารควบคุมการเจริญเติบโตของพืช

ในทางกลับกัน จะเห็นได้ว่าในน้ำยาล้างห้องน้ำนั้น อาจจะมีส่วนผสมหลายตัวที่เป็นอันตรายต่อใบและต้นพืชได้ โดยเฉพาะพวกกรด และพวกด่าง ที่ใช้กำจัดคราบสกปรก จึงไม่น่าจะนำมาฉีดพ่นพืชที่ปลูกไว้ อย่างที่เชื่อตามกัน

อ่อ สำหรับหลายคนที่กังวลเรื่องสารเคมีตกค้าง อันตรายมาถึงผู้บริโภคนั้น เข้าใจว่า น่าจะไม่ต้องกังวลนัก เพราะสารส่วนใหญ่ที่เป็นส่วนผสมของน้ำยาล้างห้องน้ำสามารถสลายได้ในธรรมชาติ

ป.ล. เอาคำเตือนและคำอธิบายเพิ่มเติม จากเพจ ควายดำทำเกษตร มาให้อ่านด้วยนะครับ “ชาวนาบางคน บางกลุ่ม ได้เอาน้ำยาล้างห้องน้ำมาฉีดข้าว โดยหลักๆเลยเพื่อรักษา โรคแบคทีเรีย ใบส้ม โรคที่มาจากความชื้น ซึ่งเอาจริงๆ เชื่อว่าชาวนาไม่รู้ด้วยซ้ำว่าในน้ำยาล้างห้องน้ำนั้นมีส่วนประกอบของสารอะไร เหมือนที่หนอนข้าวโพดระบาดก็มีชาวไร่ข้าวโพดเอาผงซักฟอกไปหยอดตามยอดข้าวโพดนั่นแหละ

คือใช้น้ำยาล้างห้องน้ำจังหวะดีพ่นไปอาจจะหายเลยทำให้ชาวนาเชื่อว่าใช้น้ำยาล้างห้องน้ำพ่นทำให้รักษาโรคข้าวได้ ข้าวกลับมาเขียวเลยเอามาโพสอวดโซเชียลว่าใช้น้ำยาล้างห้องน้ำทำให้ข้าวเขียว โรคหาย แต่ไม่พูดถึง ปุ๋ย ยา ฮอร์โมน ต่างๆ ที่ผสมรวมไปฉีดว่าพวกนี้ก็ทำให้ข้าวเขียว ไม่ใช่แค่ใช้น้ำยาล้างห้องน้ำแต่เพียงอย่างเดียว

ทีนี้หากเรามองในมุมผู้บริโภค ถ้าเห็นชาวนาเอาน้ำยาล้างห้องน้ำไปฉีดข้าว ถ้าไม่ตกใจ ไม่ดรามาก็แปลกละ เพราะเราใช้น้ำยาล้างห้องน้ำ เราเห็นคราบสกปรกหลุดออกมาจนพื้นสะอาด เรายังกลัวเลย แล้วนี่เห็นชาวนาเอาไปฉีดต้นข้าว ไม่กลัวก็ใจแข็งไปหน่อย

และขออธิบายเพิ่มว่าการใช้น้ำยาล้างห้องน้ำของชาวนาผสมฉีดลงไปในนาข้าว จะมีการผสมน้ำเจือจางลงมาอีก ไม่ใช่เทราดโดยตรงเหมือนเราใช้ขัดพื้นห้องน้ำ บางคนอาจจะใช้อัตรา 200-300 ซีซี ผสมน้ำ 200 ลิตร พ่นในนาข้าวเป็น 5-10 ไร่ แถมลงไปในนาเจอน้ำในนาจางลงไปอีก บางทีพ่นไปแทบจะไม่ได้ผลอะไรเลย แต่ถามว่ามันรักษาโรคข้าวได้ไหม จังหวะดีตรงโรคก็หาย แต่ใช้แล้วไม่หายก็มีเยอะแยะ

สิ่งสำคัญคือ น้ำยาล้างห้องน้ำ ไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อใช้ในทางการเกษตร ต่างจากสารเคมีที่ใช้ในการเกษตร จะมีค่าต่างๆ ที่วิเคราะห์มาแล้ว เช่น ค่าการสลายตัว ค่าการตกค้างในผลผลิต ซึ่งการใช้จะมีความปลอดภัยกับผู้บริโภคมากกว่า”..

ขอบคุณภาพประกอบ : อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์