เมื่อวันที่ 6 ก.ค. ที่กระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข เป็นประธานพิธีลงนามสัญญาจัดหาแอนติบอดีสำเร็จรูป แบบ Long Acting Antibodies (LAAB) เพื่อการป้องกันโควิด 19 ระหว่าง นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค และนายเจมส์ ทีก ประธานบริษัท แอสตราเซเนกา (ประเทศไทย) จำกัด โดยมี นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และผู้บริหารทั้ง 2 หน่วยงานเข้าร่วมเป็นสักขีพยาน

นายอนุทิน ชี้แจงว่า ที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุข จัดหาวัคซีนโควิดมาฉีดสร้างภูมิคุ้มกันแก่คนไทย แต่มีประชากรบางกลุ่มที่รับวัคซีนแล้ว ร่างกายไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้ดีหรือภูมิคุ้มกันตกลงอย่างรวดเร็ว ทำให้มีความเสี่ยงติดเชื้อโควิดแล้วป่วยอาการหนักและเสียชีวิตได้แก่ กลุ่มผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง ปลูกถ่ายอวัยวะ หรือปลูกถ่ายไขกระดูกและได้รับยากดภูมิคุ้มกัน โดยเฉพาะผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง

ดังนั้น ศบค.จึงมอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุขดำเนินการจัดหาแอนตีบอดีสำเร็จรูปแบบ Long Acting Antibodies (LAAB) มาใช้ในการดูแลกลุ่มเสี่ยงดังกล่าว เพื่อป้องกันการป่วยหนักและเสียชีวิตจากโควิดจึงเป็นที่มาของการลงนามความร่วมมือกับบริษัทของแอสตราเซเนกาในวันนี้ เพื่อปรับสัญญาเดิมเปลี่ยนวัคซีนแอสตร้าฯ บางส่วนมาเป็นยา LAAB จำนวน 2.5 แสนโด๊ส ภายในกรอบวงเงินงบประมาณเดิมที่ ครม.อนุมัติ โดยลอตแรกจำนวน 7 พันโด๊ส จะเข้ามาปลายเดือนก.ค. และจะส่งครบ 2.5 แสนโด๊ส ภายในสิ้นปี 2565 ประหยัดงบ 125 ล้านบาท ส่วนอนาคตหากจำเป็นต้องใช้เพิ่มแล้วจะสามารถปรับสัญญาได้อีกหรือไม่นั้นก็ขึ้นอยู่กับการเจรจาต่อรอง

สำหรับ LAAB เป็นแอนติบอดีที่ออกฤทธิ์ยาว มีส่วนประกอบ 2 ชนิด คือ Tixagemab 150 มิลลิกรัม และ Cilgavimab 150 มิลลิกรัม ผ่านการรับรองใช้แบบในภาวะฉุกเฉินที่สหรัฐอเมริกาและอังกฤษแล้ว ล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ของประเทศไทยได้อนุมัติให้ใช้ในภาวะฉุกเฉินเช่นกันเมื่อวันที่ 27 มิ.ย. 2565 มีข้อบ่งใช้ในผู้ที่ภูมิคุ้มกันต่ำ ตั้งแต่อายุ 12 ปีขึ้นไป มีน้ำหนักตัวไม่น้อยกว่า 40 กิโลกรัม โดยให้ก่อนการสัมผัสโรค ด้วยการฉีดเข้ากล้ามเนื้อทุก 6 เดือน มีประสิทธิผลร้อยละ 83 ในการลดความเสี่ยงอาการรุนแรงของโควิด และจากการศึกษาพบว่ามีความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์

ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงแนวทางการกระจายและการเข้าถึงบริการของภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป LAAB ว่า ใช้ในกลุ่มที่เป็นโรคไตเรื้อรัง, กลุ่มปลูกถ่ายอวัยวะ ซึ่งกลุ่มเป้าหมายสามารถเพิ่มได้ตามความเห็นของผู้เชี่ยวชาญส่วนจำนวนตัวเลขชัดๆ ว่าจะกระจายเท่าไร น่าจะเสร็จภายใน 2 สัปดาห์

ถามว่าการฉีดในกลุ่มเป้าหมายต่างๆ ต้องฉีดทุก 6 เดือนเหมือนกันหรือไม่ นพ.โอภาส กล่าวว่า ฉีด 1 ครั้งฤทธิ์จะอยู่ได้นาน 6 เดือนแต่จากนั้นต้องฉีดต่อหรือไม่ต้องดูอีกครั้งช่วงนี้เหมาะที่สุดเพราะโรคกำลังระบาด ส่วนประเด็นสัดส่วน LAAB 2.5 แสนโด๊ส แลกเปลี่ยนกับวัคซีนแอสตราฯ จำนวนเท่าไรนั้น นพ.โอภาสกล่าวว่า LAAB จำนวน 2.5 แสนโด๊ส ประมาณ 6 พันกว่าล้านบาท เปลี่ยนกับวัคซีนเป็นจำนวนเท่าไรนั้น ตัวเลขชัดๆ ยังไม่แน่ใจ แต่หากเป็นราคาพบว่าทำให้การจ่ายเงินลดลงหรือประหยัดไปมากกว่า 100 ล้านบาท ไม่ต้องขอ ครม.ในงบประมาณเพิ่มเติม.