เมื่อวันที่ 6 ก.ค. ที่ศูนย์รับแจ้งความกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง กรุงเทพฯ นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม เข้าพบ พ.ต.ต.ชัยรัตน์ กิจงาม สว.สอบสวน บก.ปปป. เพื่อขอให้ตรวจสอบการกระทำของตำรวจในคณะสืบสวนสอบสวน กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 เกี่ยวกับคดีการเสียชีวิตของ น.ส.ภัทรธิดา พัชรวีระพงษ์ หรือ แตงโม ดาราสาวที่เสียชีวิตจากการตกเรือสปีดโบ๊ตในแม่น้ำเจ้าพระยา จ.นนทบุรี

นายอัจฉริยะ เผยว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดดังกล่าวไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานอัยการจังหวัดนนทบุรี และคณะพนักงานอัยการภาค 1 ที่ใช้คำสั่งตามมาตรา 169 ให้ผู้ต้องหาบนเรือนำโทรศัพท์มือถือส่งให้สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม ตรวจสอบ แต่เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจมีหมายเรียกให้มาสอบเพิ่ม และขอตรวจสอบข้อมูลในโทรศัพท์ของผู้ต้องหา ช่วงวันที่ 22-28 ก.พ.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงก่อนและหลังเกิดเหตุ ประเด็นนี้ผู้ต้องหาทั้ง 2 คน กลับไม่อนุญาต ให้นำโทรศัพท์มือถือไปตรวจสอบ โดยผู้ต้องหาอ้างว่า เคยส่งมอบโทรศัพท์ให้พนักงานสอบสวนนำไปตรวจสอบที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีหรือ บก.ปอท.ไปแล้ว โดยทั้ง 2 คนยืนยันว่า ให้ไม่ได้ เป็นเรื่องขัดต่อรัฐธรรมนูญ สิทธิเสรีภาพของผู้ต้องหา จึงขอใช้สิทธินี้ไม่ส่งมอบให้ เรื่องนี้มองว่าเป็นเรื่องที่ตำรวจทำไม่ถูกต้อง ที่ยินยอมให้ผู้ต้องหาไม่ส่งมอบโทรศัพท์มือถือให้ และไม่ได้มีการดำเนินคดีใดๆกับผู้ต้องหาฐานขัดขืนคำสั่งเจ้าพนักงานซึ่งมีโทษ จำคุกไม่เกิน 3 เดือนปรับไม่เกิน 500 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ และเจ้าหน้าที่ตำรวจในคดีนี้อาจเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 157 ละเว้นหรือปฏิบัติหน้าที่ จึงต้องเข้ามาร้องขอให้ บก.ปปป.ดำเนินการกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เกี่ยวข้องและผู้ต้องหาทั้งสองคน อีกครั้งยังไม่ควรปล่อยมือถือของทุกคนไปตั้งแต่แรกอยู่แล้ว

นายอัจฉริยะ กล่าวด้วยว่า ส่วนตัวคิดว่าสาเหตุที่อัยการจังหวัดนนทบุรี สั่งให้ตรวจสอบโทรศัพท์มือถือของผู้ต้องหาอีกครั้ง โดยให้ส่งไปตรวจที่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ อาจมองเห็นเรื่องความน่าเชื่อถือในพยานหลักฐานที่ตำรวจตรวจไปก่อนหน้านี้ หรืออาจมีแง่มุมทางคดีใดๆ ที่เชื่อได้ว่าคดีดังกล่าวอาจไม่ใช่การกระทำจากความประมาท แต่อาจเกิดจากการฆาตกรรม จึงทำให้ข้อมูลดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานที่สำคัญต่อการพิจารณาสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้อง ส่วนอุปกรณ์และขั้นตอนกระบวนการในการตรวจสอบนั้น พบว่าทั้งของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม และ บก.ปอท. เป็นอุปกรณ์และกระบวนการตรวจสอบแบบเดียวกันแต่ความน่าเชื่อถือและความกระจ่างต่อสังคมในคดีนี้อาจจะต่างกัน

ผู้สื่อข่าวถามว่าหากมองกรณีนี้เป็นคดีฆาตกรรมไม่ใช่ความประมาท จึงหมายความว่าผู้ต้องหา 2 คนที่ไม่ยอมให้โทรศัพท์มือถือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจไปตรวจสอบจะเป็นผู้ก่อเหตุตัวจริงหรือไม่นั้น นายอัจฉริยะปฏิเสธไม่ตอบคำถามดังกล่าวเพราะเกรงว่าจะถูกฟ้องร้องกลับมาในภายหลังแต่ขอให้สังคมไปดูพฤติการณ์ของผู้ต้องหาทุกคนรวมถึงรอคำสั่งฟ้องของอัยการและการพิพากษาในชั้นศาลทั้งคดีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจทำและคดีที่ตนเองได้ยื่นฟ้องไป