ภายหลัง ‘ชัชชาติ สิทธิพันธุ์’ เจ้าของฉายาบุรุษที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพีชนะศึกเลือกตั้งชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม. ด้วยคะแนน สูงสุดในประวัติศาสตร์ เฉียด 1.4 ล้านคะแนน ก่อนโชว์ศักยภาพลุยงานหนักแบบถึงลูกถึงคน ไม่มีวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ เล่นกับกระแส โชว์วิสัยทัศน์ผู้นำและใส่กึ๋นในการแก้ปัญหาต่างๆ

ส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์ “ชัชชาติฟีเวอร์” เกิดภาพเปรียบเทียบ เชื่อมโยง ระหว่างผู้ว่าฯ กทม. ที่ชนะการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยอายุงาน 7 สัปดาห์กับรัฐบาล ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่บริหารประเทศนาน 8 ปีเต็ม

จุดที่ถูกนำไปเปรียบเทียบมากที่สุดคือเรื่อง ภาวะผู้นำ (Leadership) ที่เปิดใจกว้าง ยอมรับความคิดเห็นแตกต่าง, ยอมรับการเปลี่ยนแปลง, มีจิตวิทยา, มีมนุษยสัมพันธ์, จูงใจผู้คนได้ดี, มีความรับผิดชอบสูง, มีความยืดหยุ่นคู่กับความเด็ดขาด, มีความรอบรู้, ประสานงานเก่ง, กระตือรือร้น, ทำงานกับลูกน้องได้ และที่สำคัญคือเป็นผู้นำที่น่านับถือ

นักวิเคราะห์การเมืองประเมินถ้า กระแส “ชัชชาติฟีเวอร์” ลากยาวไปถึงต้นปี 2566 คนซึ่งชนกับช่วงที่รัฐนาวาประยุทธ์ หมดอายุขัยครบวาระบริหารประเทศ 4 ปี มีสิทธิเกิดปรากฏการณ์แลนด์สไลด์ คะแนนไหลไปที่พรรคเพื่อไทย

เนื่องด้วย ผลงานบริหารของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ทำคะแนนไม่เข้าตาเท่าที่ควร ขณะที่ “ชัชชาติ” ยังมีภาพจำเป็นทั้งอดีต รมว.คมนาคม และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ประทับยี่ห้อ พรรคเพื่อไทย

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี วิเคราะห์ไว้ว่าใน 2 ปีข้างหน้า จะเป็นช่วงการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่สำคัญประเทศไทยจำเป็นต้องปรับและปฏิรูปเชิงโครงสร้างในหลายมิติและเชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จะอยู่ครบเทอมครบวาระ เพราะกระแสความนิยมของรัฐบาลมีไม่มาก จึงยังไม่มีความจำเป็นต้องรีบเลือกตั้ง อีกทั้งความนิยมของประชาชนยิ่งเทไปที่ฝ่ายค้านเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

“ผมเชื่อว่าการเลือกตั้งครั้งหน้า ฝ่ายค้าน เช่น พรรคแกนนำพรรคเพื่อไทย จะมีชัยชนะอย่างแน่นอน แต่จะจัดตั้งรัฐบาลได้หรือไม่ ถือว่ามีปัญหา และหากให้ ส.ว.เลือกนายกฯ อีก ก็ยิ่งมีปัญหาไม่จบ” นายอภิสิทธิ์ ประเมิน

ทั้งหมดทั้งมวลจึงเป็นที่มาของกระแสข่าวในห้องประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดล่าสุดที่ทำเนียบรัฐบาล

ที่ พล.อ.ประยุทธ์ เรียกแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล เข้าหารือแนวทางการลงมติกฎหมายลูก 2 ฉบับคือ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง

ในวงหารือท่านผู้นำหยั่งเชิง สอบถามแนวทาง และความคิดเห็นในวงว่าหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลแต่ละพรรคจะเอาอย่างไรจะใช้สูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หาร 100 หรือหาร 500 ก่อนประกาศจุดยืน “ผมเอาสูตรหาร 500 ใครเห็นอย่างไร” ก่อนที่แกนนำพรรคภูมิใจไทย และแกนนำพรรคประชาธิปัตย์ จะเออออห่อหมก สนับสนุนใช้สูตรหาร 500

ในเรื่องนี้ นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เอาสถิติเลือกตั้ง ปี 2554 มากาง (ไม่ใช้ของปี 2562 เนื่องจากปี 2562 เป็นบัตรใบเดียว และเพื่อไทยส่งผู้สมัครเพียง 238 เขตจาก 350 เขต)

สถิติเลือกตั้งปี 2554 พรรคเพื่อไทยได้คะแนน 15.7 ล้านเสียง คิดเป็นร้อยละ 48.41 โดยมีตัวเลข ส.ส. ทั้งเขตและบัญชีรายชื่อรวม 265 คนจาก 500 คน คิดเป็นร้อยละ 53 ของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนทั้งสภา

หากคิดในระบบหาร 500 และจัดสรรปันส่วนผสม จากคะแนนที่ได้รับในบัตรใบที่สอง คือร้อยละ 48.41 จำนวน ส.ส. พึงมีของพรรคเพื่อไทย จะเป็น 240 คน จาก 500 คน หรือ หายไป 25 เสียง

สูตรหารห้าร้อยได้ 240 หารร้อยได้ 265 เสียง เกินครึ่งสภาแล้ว ไม่ให้ลุงปอดได้อย่างไร!.