เมื่อวันอังคารที่ 5 ก.ค. 2565 วารสารการแพทย์ ‘BMJ Case Reports’ ตีพิมพ์กรณีศึกษาของผู้ป่วยรายหนึ่งที่ต้องเข้ารับการรักษาอาการป่วยเนื่องจากรับประทานวิตามินดีเกินขนาด

ผู้ป่วยชายวัยกลางคนที่ไม่มีการระบุชื่อรายนี้ รับประทานอาหารเสริมประเภทวิตามินดีเกินปริมาณที่เหมาะสมต่อวัน (600 มิลลิกรัม) ถึง 80 เท่า โดยรับประทานร่วมกับอาหารเสริมอื่น ๆ ซึ่งเป็นไปตามคำแนะนำของนักโภชนาการส่วนตัวของเขา

หลังจากรับประทานอาหารเสริมตามคำแนะนำได้ 1 เดือน ผู้ป่วยก็มีอาการปวดท้อง อาเจียน เป็นตะคริวที่ขา ได้ยินเสียงดังในหู ปากแห้ง กระหายน้ำบ่อยและท้องเสีย ซึ่งอาการเหล่านี้ไม่ยอมหายไป หลังจากที่เขาหยุดรับประทานอาหารเสริมดังกล่าวแล้ว

เมื่อเขาเข้ารับการตรวจเลือดก็พบว่าระดับวิตามินดีในเลือดของเขาสูงกว่าปริมาณที่เหมาะสมถึง 7 เท่า และเนื่องจากวิตามินดีเป็นตัวช่วยในการดูดซึมแคลเซียม ระดับแคลเซียมในร่างกายของเขาจึงสูงมากจนถึงขั้นที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ นอกจากนี้ ผลการตรวจยังระบุว่ามีความเสี่ยงที่ไตของเขาจะเสียหาย

ผู้เขียนรายงานกรณีศึกษานี้ระบุว่า กรณีของผู้ป่วยดังกล่าวถือว่าหาได้ยาก วิตามินดีที่อยู่ในระดับสูงเกินควรอาจทำให้ร่างกายอ่อนแอลง การรับประทานวิตามินดีมากเกินไปมักเกิดจากการรับประทานอาหารเสริม ทำให้มีปริมาณวิตามินดีในร่างกายสูงมาก ซึ่งอาจเป็นพิษต่อหัวใจ ลำไส้และไต นอกจากนี้ยังทำให้ร่างกายมีปริมาณแคลเซียมสูงเกินไป ซึ่งจะทำให้มีอาการผิดปกติทางระบบประสาทต่าง ๆ เช่น รู้สึกซึม ง่วง อารมณ์แปรปรวน

ร่างกายอาจต้องใช้เวลานานถึง 2 เดือน เพื่อขับวิตามินดีออกจากร่างกายได้เพียงครึ่งเดียวของปริมาณที่รับเข้าไป ดังนั้น อาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเมื่อได้รับวิตามินดีเกินขนาด อาจคงอยู่เป็นเวลานานหลายสัปดาห์

ในระหว่างการรักษาตัวที่โรงพยาบาลทั้ง 8 วันของผู้ป่วยชายรายนี้ เขาต้องรับน้ำและสารอาหารในรูปของเหลวพร้อมกับยารักษาโรคกระดูกพรุนผ่านทางสายน้ำเกลือ เพื่อหยุดยั้งการสลายตัวของมวลกระดูก และช่วยลดระดับแคลเซียมในร่างกาย

เมื่อเขาออกจากโรงพยาบาลแล้ว ก็ยังต้องรับประทานยารักษาโรคกระดูกพรุนและยาแก้อาการเมา หรือภาวะป่วยอันเนื่องมาจากการเคลื่อนไหว หลังจากผ่านไป 2 เดือน ระดับแคลเซียมของเขาจึงกลับสู่ภาวะปกติ แต่ระดับวิตามินดีในร่างกายยังคงสูงอยู่ ซึ่งในรายงานไม่ได้ระบุว่าเขายังคงมีอาการผิดปกติต่าง ๆ ต่อไปหรือไม่

ในรายงานกรณีศึกษาฉบับนี้ได้ให้คำแนะนำไว้ว่า ประชาชนควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้งที่เข้ารับการรักษาแบบแพทย์ทางเลือกหรือรับประทานยาที่หาซื้อได้ทั่วไป ส่วนอาหารเสริมต่าง ๆ นั้น ไม่ควรรับประทานเกินปริมาณที่แนะนำ และไม่ควรรับประทานอาหารเสริมหลายประเภทร่วมกัน

แหล่งข่าว : insider.com

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES