เมื่อวันที่ 6 ก.ค. พล.ต.ท.กรไชย คล้ายคลึง ผบช.สอท. นางสายชล ทรัพย์มากอุดม หัวหน้าฝ่ายประชาสัมพันธ์บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS นายปรัธนา ลีลพนัง หัวหน้าคณะผู้บริหาร กลุ่มลูกค้าทั่วไป AIS นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทนเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ร่วมกันแถลงข่าวกรณีจับกุมผู้ต้องหาแก็งคอลเซ็นเตอร์ที่ได้โทรศัพท์หลอกลวงข่มขู่ให้ผู้เสียหายโอนเงิน หลังเปิดยุทธการดินแดง บางนา internet protocal ปิดล้อมตรวจค้น 8 จุด ในพื้นที่เขตบางนา ห้วยขวาง และลาดพร้าว

พล.ต.ท.กรไชย กล่าวว่า สืบเนื่องจากผู้เสียหายถูกคนร้ายอ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่หน่วยงานต่างๆ โทรศัพท์เข้ามาแจ้งว่าผู้เสียหายมีใบสั่งค้างชำระค่าปรับจราจร แจ้งว่าส่งพัสดุที่ผิดกฎหมาย ต้องทำการโอนเงินไปชำระ หรือต้องโอนเงินไปตรวจสอบแล้วแต่กรณี ผู้เสียหายหลงเชื่อจึงโอนไปให้มิจฉาชีพ ต่อมาทราบว่าถูกหลอกลวงจึงดำเนินการแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน ผ่านระบบรับแจ้งความออนไลน์ และได้ทำการร้องเรียนผ่านศูนย์รับเรื่องร้องเรียนสายด่วน 1185 AIS Spam Report Center ต่อมา บช.สอท. ตรวจสอบ และวิเคราะห์ข้อมูลในระบบรับแจ้งความออนไลน์พบว่า กรณีดังกล่าวมีความเชื่อมโยงเชื่อมกันกับผู้เสียหายอีกหลายราย เชื่อว่าเป็นกลุ่มคนร้ายกลุ่มเดียวกัน เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้ทำการสืบสวนสอบสวน รวมถึงประสานงานกับฝ่ายเทคนิคผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ ที่คนร้ายใช้หาเบาะแสเพิ่มเติม กระทั่งทราบว่าผู้ก่อเหตุคือนายสุรชาติ แซ่โจ จึงได้ทำการขอศาลออกหมายจับ

กระทั่งวันนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจ บช.สอท. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันเข้าตรวจค้นสถานที่ต่างๆ ผลการปฏิบัติสามารถจับกุมนายสุรชาติ แซ่โจ ผู้ต้องหาตามหมายจับของศาลอาญา ในข้อหา “ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน และนําเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จสู่ระบบคอมพิวเตอร์ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชนได้ที่พีอาร์แมนชั่น ซอยบางนา-ตราด 21 แขวงและเขตบางนา โดยขณะตรวจค้นยังพบผู้ต้องสงสัยอีก 4 ราย และตรวจยึดของกลางเครื่องสัญญาณ IP PBX จำนวน 43 เครื่อง เครื่องส่งสัญญาณไร้สาย wireless router จำนวน 30 เครื่อง และของกลางอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอีกหลายรายการ เช่น สมุดบัญชีธนาคาร โทรศัพท์มือถือ นำตัวผู้ต้องหา และของกลางส่งพนักงานสอบสวน บช.สอท. ดำเนินคดีตามกฎหมาย สอบสวนขยายผลไปยังผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่อไป

จากแนวทางสืบสวนพบนายสุชาติมีหน้าที่เป็นผู้ดูแลเครือข่าย โดยได้รับค่าจ้างโอนเข้าบัญชาจากต่างประเทศ เดือนละ 20,000 บาท และสามารถตรวจยึดอุปกรณ์เราท์เตอร์ได้รวม 43 เครื่อง แต่ละเครื่องสามารถบรรจุซิมได้ 32 ซิมโทรฯ ได้ซิมละ 500 ครั้งต่อวัน ดังนั้น ใน 1 วัน ใช้โทรฯ หาเหยื่อตกวันละ 688,000 หมายเลข และจะสามารถโทรฯ ได้ถึง 20 ล้านครั้ง คิดเป็น 1 ใน 4 ของประชากรในประเทศไทย ที่จะถูกมิจฉาชีพโทรไปหลอกลวง โดยเครือข่ายดังกล่าวได้เริ่มทำมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีหัวหน้าผู้บงการเป็นชาวต่างชาติ ขณะนี้ทราบสัญชาติแล้ว อยู่ระหว่างขยายผลเพื่อจับกุมต่อไป

ผบช.สอท. กล่าวว่า การจับคุมครั้งนี้อาศัยความร่วมมือจากระบบ AIS Spam Report Center และร่วมกับ กสทช. ในการหาพิกัดของเครื่องส่งสัญญาณ ซึ่งวิธีการนี้ทำให้มิจฉาชีพในปัจจุบัน สามารถใช้เบอร์ประเทศไทยโทรศัพท์มาได้แม้ผู้ที่โทรฯ จะอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน โดยก่อนหน้านี้ที่มิจฉาชีพใช้เบอร์ +697 โทรฯ มา แต่คนเริ่มรู้ทันไม่รับสาย จึงเปลี่ยนมาใช้วิธีนี้ โดยวิธีการคือการนำซิมเบอร์โทรศัพท์ปกติใส่เข้าไปในเครื่องนี้ และส่งสัญญาณ 4จี หรือ 5จี ออกไปนอกประเทศ ให้ผู้ที่เป็นคอลเซ็นเตอร์ที่ทำงานอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านใช้โทรฯ มาคุยกับประชาชนในประเทศไทยโดยไม่ต้องเสียค่าโทรศัพท์ในการโทรฯ ข้ามประเทศ จากนี้จะตรวจสอบว่า เหตุใดจึงมีการนำเข้าเครื่องส่งสัญญาณได้และจะนำซิมโทรศัพท์มือถือที่ตรวจยึดได้ทั้งหมด ไปตรวจสอบชื่อผู้จดทะเบียนต่อไป ซึ่งจะมีความผิดด้วยคล้ายกับบัญชีม้า

ขณะที่ นายไตรรัตน์ กล่าวว่า พฤติการณ์ของเครือข่ายคอบเซ็นเตอร์นี้ จะมาเช่าห้องพัก และใช้อุปกรณ์คล้ายตัวจ่ายไฟ เป็นเราท์เตอร์สำหรับใส่ซิมและส่งสัญญาณออกไป ซึ่งเครื่องส่งสัญญาณดังกล่าว หากจะมีการนำเข้ามาใช้ ต้องขออนุญาตตาม พ.ร.บ.วิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498 และการลักลอบนำเข้าประเทศมา ก็ถือเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากร ด้วย

ด้าน นางสายชล กล่าวว่า ที่ผ่านมา ทางเอไอเอสพยายามมาที่จะสื่อสารให้ความรู้กับประชาชนในการตรวจสอบแยกแยะสายโทรศัพท์ของมิจฉาชีพ แต่มิจฉาชีพยังคงมีกลไก เปลี่ยนรูปแบบไปเรื่อยๆ จึงได้เปิดศูนย์ 1185 Spam Report Center ขึ้นมา โดยทำงานใกล้ชิดกับตำรวจไซเบอร์ ให้ประชาชนแจ้งเบาะแสเบอร์โทรของมิจฉาชีพ ซึ่งมีประชาชนแจ้งเข้ามาเป็นจำนวนมาก ทีมเทคโนโลยีจึงตรวจสอบหมายเลขที่ได้รับแจ้ง และส่งต่อข้อมูลให้ตำรวจไซเบอร์และ กสทช. ขยายผล จนสามารถจับพิกัดของเครือข่ายที่เป็นแหล่งกำเนิดสัญญาณได้ อย่างไรก็ตามจากกรณีปัญหามิจฉาชีพละเมิดการใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่ของประชาชน ที่สร้างความเดือดร้อน รำคาญ ไปจนถึงความเสียหายต่อทรัพย์สินและข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งปัจจุบันเกิดเพิ่มขึ้นตามลำดับ ดังนั้นในฐานะผู้ให้บริการดิจิทัล ที่มีเป้าหมายสูงสุดคือ การปกป้องข้อมูลและการใช้งานระบบสื่อสารของลูกค้า

นางสายชล กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมานอกเหนือจากการพัฒนาดิจิทัลเซอร์วิส เพื่อช่วยป้องกันภัยไซเบอร์ อาทิ AIS Secure Net , Google Family Link ที่สามารถดูแลการใช้งานโทรศัพท์มือถือให้อยู่บนความปลอดภัยจากสแปม, ฟิชชิ่ง, ไวรัสแล้ว เรายังได้ร่วมทำงานกับภาครัฐ อย่าง กสทช.และฝ่ายความมั่นคงอย่างสำนักงานตำรวจแห่งชาติ, กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือตำรวจไซเบอร์ ผ่านบริการสายด่วน 1185 AIS Spam Report Center ตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามจากการที่จับกุมมิจฉาชีพแก๊งคอลเซ็นเตอร์ได้อย่างรวดเร็ว ถือเป็นผลจากการร่วมทำงานระหว่างภาครัฐและเอกชน ที่สามารถเชื่อมโยงกันได้อย่างไร้รอยต่อ โดยเอไอเอส ยินดีที่จะสนับสนุนและร่วมทำงานกับภาครัฐอย่างต่อเนื่อง เพื่อปกป้องลูกค้าและประชาชนจากมิจฉาชีพที่จะถูกดำเนินการทางกฎหมาย อย่างไรก็ตามบริการสายด่วน 1185 AIS Spam Report Center ทำหน้าที่เป็นสายด่วน รับเรื่องร้องเรียนจากลูกค้าเอไอเอส ในกรณีถูกมิจฉาชีพโทรฯ เข้ามารบกวน หรือได้รับ SMS Spam ให้สามารถโทรฯ เข้ามาแจ้งได้ฟรี ผ่าน IVR Self Service และ AI Chatbot เพื่อให้ข้อมูลเบอร์โทรฯ หรือ SMS ที่คาดว่าเป็นกลุ่มมิจฉาชีพ โดยเอไอเอสจะดำเนินการตรวจสอบถึงที่มารายละเอียดการจดแจ้งลงทะเบียน รูปแบบการโทรฯ ของเบอร์ดังกล่าว ซึ่งจะบ่งชี้ได้ว่าเป็นเบอร์หรือ SMS ของกลุ่มมิจฉาชีพหรือไม่ หลังจากนั้นจะดำเนินการบล็อกเบอร์และ SMS นั้นๆ โดยทันที พร้อมแจ้งกลับไปยังลูกค้าภายใน 72 ชั่วโมง.