น.ส.กาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า เงินบาทอ่อนค่าไปทดสอบระดับ 36.35 บาทต่อดอลลาร์ (อ่อนค่าสุดในรอบเกือบ 6 ปี ครึ่ง นับตั้งแต่กลางเดือน ม.ค. 2559) ในช่วงเช้าวันนี้ 7 ก.ค.65 ก่อนจะกลับมาเคลื่อนไหวที่ระดับประมาณ 36.15-36.20 บาทต่อดอลลาร์ (09.40 น.) เทียบกับระดับปิดตลาดวานนี้ที่ 36.09 บาทต่อดอลลาร์ โดยเงินบาทยังคงมีแรงกดดันด้านอ่อนค่า

ขณะที่เงินดอลลาร์ มีแรงหนุนเพิ่มเติมจากรายงานการประชุมเฟดเมื่อ 14-15 มิ.ย. ซึ่งยังคงสะท้อนมุมมองของคณะกรรมการเฟดที่เห็นว่า เฟดจะดำเนินนโยบายการเงินแบบคุมเข้ม โดยมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยพร้อมๆ กับลดงบดุลต่อไปเพื่อสกัดแรงกดดันเงินเฟ้อในสหรัฐ อย่างไรก็ดี คงต้องติดตามสัญญาณหรือท่าทีต่อสถานการณ์ค่าเงินจากทางการอย่างใกล้ชิดด้วยเช่นกัน

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ คาดไว้ที่ 36.10-36.40 บาทต่อดอลลาร์ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สัญญาณฟันด์โฟลว์ของนักลงทุนต่างชาติ ตัวเลขการจ้างงานภาคเอกชนเดือน มิ.ย. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐ

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ 7 ก.ค. ที่ระดับ 36.23 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 36.10 บาทต่อดอลลาร์ โดยมองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.15-36.40 บาทต่อดอลลาร์ โดยมีความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจหลัก อย่าง สหรัฐ และ ยุโรป อาจชะลอตัวลงหนักจนเข้าสู่สภาวะถดถอย ยังคงเป็นปัจจัยที่กดดันตลาดการเงิน

ส่วนแนวโน้มค่าเงินบาท การแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องของเงินดอลลาร์ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่กดดันให้เงินบาทอ่อนค่ามากกว่าที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งมองว่า หากตลาดยังคงกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจหลักถดถอย โดยเฉพาะในฝั่งยุโรป อีกทั้ง ECB ก็ไม่ได้ส่งสัญญาณพร้อมเร่งขึ้นดอกเบี้ยคล้ายกับเฟด ก็อาจจะยังเป็นปัจจัยที่หนุนเงินดอลลาร์และกดดันเงินบาทให้อ่อนค่าต่อได้ในระยะนี้ได้ แต่คงมุมมองเดิมว่า จุดกลับตัวของเงินดอลลาร์อาจเกิดขึ้นในช่วงการประชุมเฟดปลายเดือนนี้ หากเฟดไม่ได้ส่งสัญญาณพร้อมเร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรง

อย่างไรก็ดี แม้จะยังมองว่ามีโอกาสที่เงินบาทจะเริ่มกลับตัวมาแข็งค่าได้ แต่ต้องระวังความเสี่ยงที่ทางการจีนกลับมาใช้มาตรการล็อกดาวน์อีกครั้ง หลังเริ่มมีรายงานยอดผู้ติดเชื้อในจีนเพิ่มขึ้น ซึ่งหากภาพดังกล่าวเกิดขึ้นจริงก็อาจยิ่งทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างเทขายสินทรัพย์ฝั่ง EM Asia กดดันให้เงินบาทอ่อนค่าแตะแนวต้านถัดไปที่ 36.50 บาทต่อดอลลาร์ได้

“ความผันผวนสูงของเงินบาทในช่วงนี้ เงินบาทอ่อนค่าเร็ว อาจทำให้ทาง ธนาคารแห่งประเทศไทยเข้ามาช่วยลดความผันผวนลงได้ เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถปรับกลยุทธ์ปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้ทัน โดยประเมินว่า ผู้ส่งออกอาจเริ่มกลับมาทยอยขายเงินดอลลาร์ได้ หลังเงินบาทอ่อนค่าแตะโซน 36 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งอาจช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทได้เช่นกัน”

ด้าน Markets Research & Advisory ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย คาดว่า ค่าเงินบาทในวันนี้จะเคลื่อนไหวในกรอบ 36.20-36.40 บาทต่อดอลลาร์ โดยค่าเงินบาทเช้านี้ยังอ่อนค่าต่อเนื่องที่ระดับ 36.31 บาทต่อดอลลาร์ จากระดับ 36.25 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงเมื่อคืนที่ผ่านมา และเป็นการอ่อนค่าที่มากที่สุดในรอบเกือบ 7 ปี โดยค่าเงินบาทยังเป็นค่าเงินที่อ่อนค่าที่สุดในภูมิภาคในเดือน ก.ค. โดยเงินบาทอ่อนค่าลง -2.64% MTD (Month-to-date) ทั้งนี้ค่าเงินบาทยังถูกกดดันจากอัตราดอกเบี้ยไทยที่ยังอยู่ในระดับที่ต่ำเพียง 0.50% ซึ่งทำให้เกิดกระแสเงินไหลออกไปยังประเทศที่ดอกเบี้ยสูงกว่าอย่างเช่นสหรัฐ (อัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐอยู่ที่ระดับ 1.50-1.75%)

ขณะที่ กลุ่มงานตลาดการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB Financial Market) ประเมินค่าเงินบาทวันนี้เคลื่อนไหวในกรอบ 36.15-36.35 บาทต่อดอลลาร์ โดยเงินบาทยังคงอ่อนค่าหลังเบรกยืนเหนือ 36.00 ตามทิศทางดัชนีดอลลาร์ที่แตะจุดสูงสุดในรอบ 20 ปีที่ 107 ในขณะที่ตลาดกังวลเรื่องเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบล่วงหน้าสหรัฐปรับตัวย่อลงมาที่ 95 ดอลลาร์ สอดคล้องกับบทวิเคราะห์ที่มองว่าน้ำมันอาจลงไปอยู่ที่ 65 ดอลลาร์ ส่วนรายงานการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เมื่อคืนที่ผ่านมา ย้ำภาพว่าเฟดต้องการที่จะควบคุมเงินเฟ้อ แต่ยังกังวลต่อผลกระทบเศรษฐกิจที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ความคาดหวังของการขึ้นดอกเบี้ยเดือนนี้ยังอยู่ที่ 0.50-0.75%