เมื่อวันที่ 7 ก.ค. นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคสร้างอนาคตไทย โพสต์เฟซบุ๊ก “นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ” ภายหลังที่ประชุมร่วมรัฐสภามีมติวาระที่สอง โหวตใช้สูตรคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์แบบหาร 500 มีรายละเอียดดังนี้

อันตรายของระบอบประชาธิปไตย
-อันตรายของระบอบประชาธิปไตย อย่างน้อยอาจเกิดขึ้นได้ใน 2 เรื่อง
1.เกิดเผด็จการเสียงข้างมาก
2.เกิดเผด็จการที่มีผู้นิยมอย่างล้นหลาม

-ปรากฎการณ์ การลงมติในรัฐสภาที่กลับมติของเสียงข้างมาก (กลับมติของฝ่ายรัฐบาล) ในการคิดสัดส่วน ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ จาก 100 หาร เป็น 500 หาร เกิดขึ้นชั่วข้ามคืน แสดงให้เห็นว่า

1.สมาชิกรัฐสภา ไม่ตกผลึกในความคิดเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะเรื่องรัฐธรรมนูญ กว่าจะแก้ไข จะมีการคิดอย่างรอบคอบ จนตกผลึกแล้ว มิใช่มาคิดกันชั่วข้ามคืน
2.การที่ฝ่ายรัฐบาล ยืนยันมาตลอดว่า การคิดสัดส่วน ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อต้องเอา 100 หาร แต่วันสุดท้ายมากลับมติเป็นเอา 500 หาร ไม่มีเหตุผลใดรองรับ นอกจากต้องบอกว่า นี่คือมติของ”เผด็จการเสียงข้างมาก” อย่างแท้จริงเกิดขึ้นแล้ว
3.ในอดีต ผมเป็นคนใช้คำว่า “เผด็จการเสียงข้างมาก” ในการออก ก.ม.นิรโทษกรรม และผมใช้คำว่าเผด็จการเสียงข้างมากตอนจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพิ่มเติมวาระของ ส.ว.จาก 1 สมัย เป็น 2 สมัย การออก ก.ม.นิรโทษกรรม และแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก่อให้เกิดการประท้วงใหญ่ จนรัฐสภาไม่สามารถผ่านกฎหมายนั้นตามเสียงข้างมากได้

-การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ก็เหมือนปรากฏการณ์ “เผด็จการเสียงข้างมาก” ในอดีตไม่ผิดเพี้ยนกันเลย เพียงแต่ครั้งนี้ คงไม่มีการชุมนุมประท้วงเผด็จการเสียงข้างมาก เพราะครั้งก่อนมวลชนส่วนใหญ่เป็นคนวัยกลางคนและสูงอายุ ตกผลึกความคิดพอสมควร แต่ครั้งนี้ผู้ชุมนุมส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่นตอนต้นและวัยรุ่นตอนปลาย ยังไม่ตกผลึกในความคิดทางการเมืองและอุดมการณ์ เพียงแต่ต่อสู้ในบางเรื่องของตัวเอง เช่น จะตัดผมสั้นหรือจะเอาผมยาว, จะหมอบกราบหรือเพียงยกมือไหว้, จะเปลี่ยนเพลงสถาบันใหม่หรือใช้เพลงเดิม, จะยืนเคารพเพลงชาติหรือไม่ยืน ฯลฯ ประเด็นเหล่านี้ ไม่สามารถปกป้องหลักการใหญ่ของประเทศไว้ได้

-หากครั้งหนึ่ง เราเคยต่อต้านเผด็จการเสียงข้างมาก แต่มาครั้งนี้ เราไม่ต่อต้านเหมือนในอดีต เราก็แปลงร่างเป็นเผด็จการเสียงข้างมากไปแล้ว.

ขอบคุณข้อมูลจากเฟซบุ๊ก “นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ”