ยังคงเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างต่อเนื่อง สำหรับกรณีมติที่ประชุมรัฐสภาเมื่อวันที่ 6 ก.ค. เห็นชอบการคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อแบบหาร 500 ตามที่ได้นำเสนอไปแล้วนั้น

ล่าสุดเมื่อวันที่ 7 ก.ค. ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ออกมาแสดงความเห็นถึงเรื่องดังกล่าว ระบุว่า “สูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ #หาร500 กับ #หาร100 #แตกต่างกันอย่างไร และ #ทำไมเป็นเรื่องใหญ่” ถ้าจะสรุปแบบสั้นที่สุด การคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อด้วยการหาร 500 คือการหารด้วยจำนวน ส.ส.#ทั้งหมด (คือ 500 คน) ขณะที่หาร 100 คือการหารด้วยจำนวน ส.ส.#แบบบัญชีรายชื่อ เท่านั้น (คือ 100 คนจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญในปี 2564) ซึ่งผลลัพธ์จะแตกต่างกันมาก

ถ้าใช้จำนวนคะแนนเสียงในการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว (24 มีนาคม 2562) คือ 35,561,556 คะแนน มาคำนวณ ถ้าหารด้วย 100 จะเท่ากับ 355,615 คะแนน ขณะที่หารด้วย 500 จะเท่ากับ 71,123 คะแนนเท่านั้น ดังนั้นพรรคเล็กที่เคยได้เฉพาะ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อในการเลือกตั้งครั้งที่แล้วจึงต้องการสูตรหาร 500 เพราะเพียงแค่ได้ 71,123 คะแนนจะได้ ส.ส. หนึ่งคน ขณะที่หารด้วย 100 ต้องได้คะแนนถึง 355,615 คะแนน จึงจะได้ ส.ส.หนึ่งคน ซึ่งมากกว่าถึง 5 เท่า

คำถามคือ #ทำไมฝั่งรัฐบาล (ยกเว้นพรรคภูมิใจไทยและชาติไทยพัฒนาที่อาจจะได้ ส.ส.ลดลงจากสูตรนี้) จึงอยากจะเปลี่ยนสูตรจากหาร 100 มาเป็นหาร 500? คือเดิมพรรคพลังประชารัฐคาดว่าตนเองจะได้เปรียบ แต่พอไม่มี ร.อ.ธรรมนัส และพรรคอยู่ในสถานการณ์แพแตก จึงรู้ว่าตนเองไม่ได้เปรียบอีกต่อไปแล้ว แต่พรรคที่จะได้เปรียบคือพรรคเพื่อไทย (ซึ่งชนะการเลือกตั้งในระบบนี้มาแล้ว 4 ครั้ง โดยเป็นแลนด์สไลด์คือเกินครึ่งถึง 2 ครั้ง) ดังนั้นการเปลี่ยนใจมาหาร 500 จึงวิเคราะห์ได้ว่า #เพื่อลดความได้เปรียบของพรรคเพื่อไทย หรือถ้าใช้คำแบบสื่อคือเพื่อสกัดแลนด์สไลด์นั่นเอง

ความจริงแล้ว การคำนวณจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ โดยหารด้วยจำนวน ส.ส.ทั้งหมด ก็คือหลักการของระบบเลือกตั้งแบบเยอรมัน ซึ่งมีเจตนารมณ์คือให้พรรคการเมืองแต่ละพรรคมี ส.ส.ในสภาตรงตามเจตนารมณ์ของประชาชน ตามคะแนนเสียงปาร์ตี้ลิสต์ซึ่งเป็นคะแนนที่เลือกพรรคนั่นเอง แต่ปัญหาของเราในขณะนี้คือไม่ได้ตั้งใจจะหารด้วย 500 มาตั้งแต่แรก เพราะถ้าจะใช้ระบบแบบเยอรมัน จำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อควรต้องมีมากกว่า 100 คน อย่างน้อยก็ควรต้องมีสัก 150 คนเท่าในตอนเลือกตั้งครั้งที่แล้ว

แต่ปัญหาใหญ่กว่านั้นคือ การใช้จำนวน 500 หาร แต่มีจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อให้จัดสรรเพียง 100 จะเกิดปัญหาว่าจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคจะรวมกัน #เกิน 100 ที่นั่งแน่นอน แล้วจะทำอย่างไรเมื่อรัฐธรรมนูญให้มี ส.ส.บัญชีรายชื่อแค่ 100 ที่นั่งเท่านั้น?

เพราะขนาดในการเลือกตั้งปี 2554 ที่มี ส.ส.บัญชีรายชื่อมากกว่านี้คือมี 125 ที่นั่ง โดยมี ส.ส.เขต 375 ที่นั่ง ผมลองทำแบบจำลองโดยใช้สูตรหาร 500 ปรากฏว่า จำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อทั้งหมดเท่ากับ 138 คน เกิน 125 ไปตั้ง 13 คน แล้วตอนนี้มีแค่ 100 คน จะไม่ยิ่งเกินเข้าไปใหญ่หรือ?

ดังนั้น ถ้าจะใช้สูตรหาร 500 กันจริงๆ ก็ต้องเขียนเพิ่มลงไปด้วยว่า ในกรณีที่คำนวณแล้วจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อที่แต่ละพรรคจะได้รับ มียอดรวมเกิน 100 ให้ปรับลดลงตามสัดส่วนให้เหลือไม่เกิน 100 ที่นั่ง ไม่งั้นยุ่งแน่นอนครับ แค่ผู้สมัครแบบแบ่งเขตกับบัญชีรายชื่อเป็นคนละหมายเลขกัน ก็ยุ่งจะแย่อยู่แล้วครับ..

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก @Prinya Thaewanarumitkul