เมื่อวันที่ 7 ก.ค. ภก.วีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวถึงกรณีมีรายงานข่าวพบผู้ได้รับผลกระทบจากการรับประทานพริกทอดของ “พิมรี่พาย” หรือ น.ส.พิมรดาภรณ์ เบญจวัฒนะพัชร์ แม่ค้าออนไลน์ เน็ตไอดอลชื่อดัง ซึ่งต่อมาพบว่าผลิตภัณฑ์มีการระบุวันที่การผลิตล่วงหน้าเป็นปี ค.ศ. 2023 ว่า การตรวจสอบเบื้องต้น พบพิมรี่พาย มีความเกี่ยวข้องในโรงงานผลิต 2 แห่ง คือ สมุทรสาคร และกรุงเทพมหานคร ซึ่งวันนี้ (7 ก.ค.) เจ้าหน้าที่ อย.ส่วนกลาง ได้ลงพื้นที่ไปตรวจสอบโรงงานในกรุงเทพฯ เพื่อเก็บหลักฐานว่า พริกทอดที่อยู่ในสถานที่ผลิต หรือโกดังสินค้านั้นๆ มีลักษณะเป็นไปตามที่ปรากฏในข่าวหรือไม่ ขณะเดียวกันก็ได้ประสานกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร ให้ตรวจสอบสถานที่ผลิตในพื้นที่แล้ว

“กรณีที่มีผู้บริโภคพริกทอดคุณพิมรี่พายแล้วท้องเสีย จริงๆ แล้วต้องเรียนตามหลักวิชาการว่าการที่เรากินอาหารรสจัดก็มีโอกาสเกิดการระคายเคืองระบบทางเดินอาหารได้ ก็อาจทำให้ท้องเสียได้ โดยเฉพาะพริกที่มีแคปไซซิน (capsaicin) ดังนั้นการที่ท้องเสีย เกิดได้จากการกินอาหารที่ระคายเคือง อาจไม่เกี่ยวข้องกับความสกปรกอย่างเดียว” ภก.วีระชัย กล่าว

เมื่อถามว่ากรณีสินค้าของพิมรี่พายมีผู้บริโภคแจ้งข้อผิดพลาดมามาก ทาง อย.จะต้องดำเนินการอย่างไรเพิ่มเติมหรือไม่ ภก.วีระชัย กล่าวว่าการขายออนไลน์ ที่เป็นการไลฟ์สดในบ้าน หรือโกดังซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนบุคคล จะต่างจากการตั้งร้านขายในที่สาธารณะซึ่งการขายในพื้นที่ส่วนบุคคล อย.ไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบได้จนกว่าจะมีหมายศาลที่มาจากผู้เสียหายจริงๆ มีข้อมูลและหลักฐานความผิดจริงๆ ไม่ใช่บัตรสนเท่ห์ เช่น ผู้ที่กินอาหารนั้นๆ แล้วมีอาการป่วยแล้วแพทย์ชี้ชัดว่าเกิดจากอาหารนั้นๆ

เมื่อถามว่าขั้นตอนต่อไป ต้องเรียกพิมรี่พายมาให้ข้อมูลหรือไม่ ภก.วีระชัย กล่าวว่า ต้องรอเจ้าหน้าที่ส่วนกลางลงไปตรวจสอบ รวบรวมพยานหลักฐานพื้นที่จริงๆ เพราะเราไม่สามารถใช้เพียงภาพในข่าวมาดำเนินคดีกับใครได้ ซึ่งวันนี้เจ้าหน้าที่ได้ลงไปแล้ว ซึ่งหากมีห่อพริกทอดตามข่าวจริงจะประมวลหลักฐานแล้วแจ้งความดำเนินคดี ซึ่งเป็นโทษปรับสถานเดียว ทาง อย.มีอำนาจในการดำเนินคดีได้เลย

รองเลขาธิการ อย. กล่าวว่า การผลิตอาหารจะประกอบขึ้นจาก 2 ส่วนคือ ผู้ผลิต และผู้จัดจำหน่าย ซึ่งอาจเป็นบริษัทเดียวกันก็ได้ หรือจะเป็นคนละบริษัทก็ได้ แต่ไม่ได้หมายรวมถึงพ่อค้าแม่ค้าที่ไปรับของมาขายต่ออีกที กรณีดังกล่าวตนมีความเห็นเบื้องต้นว่าอาจไม่ได้ขึ้นโดยเจตนา แต่เกิดจากความเลินเล่อและไม่มีระบบตรวจสอบ (QC) ของบริษัท หรือโรงงานผลิตเพราะหากคนจะติดฉลากวันที่ผลิตล่วงหน้าจริง เต็มที่ก็ล่วงหน้า 1 เดือน ซึ่งคงไม่มีใครตั้งใจติดวันผลิตล่วงหน้าเป็นปี เจตนาก็จะเป็น human error ในการผลิต

“หากจะเป็นความผิดก็จะเป็นมาตรา 6 (10) ของ พ.ร.บ.อาหาร ซึ่งเป็นโทษปรับสถานเดียว โทษปรับไม่เกิน 3 หมื่นบาท ทั้งนี้ หากคุณพิมรี่พายเป็นคนขายสินค้าแต่ไม่ใช่เจ้าของโรงงานผลิต เท่ากับว่าคุณพิมรี่พายเป็นผู้เสียหาย กรณีหากซื้อสินค้าคนอื่นมาขาย ก็จะไม่เกี่ยวกับคนขาย แต่ถ้าคุณพิมรี่พายไปจ้างโรงงานหนึ่ง ผลิตสินค้าให้เป็นแบรนด์ของตัวเอง ตรงนี้คุณพิมรี่พายจะต้องมีส่วนรับผิดชอบในฐานะผู้จัดจำหน่าย” ภก.วีรชัย กล่าว