แต่การประกาศปรับลดราคาน้ำมันกลุ่มเบนซิน และกลุ่มแก๊สโซฮอล์ เมื่อวาน (7 ก.ค.) ซึ่งมีผลวันนี้ (8 ก.ค.) ถือเป็นปรากฏการณ์ไม่ค่อยเกิดขึ้น ที่ราคาขายปลีกหน้าปั๊มปรับลงครั้งเดียวลิตรละ 3 บาท ถ้ามานับรวมภาครัฐมีมาตรการพิเศษช่วยประกาศออกมา

จึงมีคำถามของหลายคนว่า สาเหตุที่แท้จริงเกิดจากอะไรกันแน่! “โดนกดดัน” จากนักการเมืองบางรายหรือไม่ หรือจากกลุ่มที่เรียกร้องหรือไม่ ต่างคนต่างเคลมผลงานกันขนาดใหญ่ แต่ถ้าไปสอบถามทางผู้ค้าน้ำมัน ก็จะได้คำตอบว่า ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่ได้เกิดจากกการกดดันของใครแต่อย่างใด แต่เกิดจากราคาน้ำมันตลาดสิงคโปร์ ที่ไทยใช้อ้างอิงน้ำมันสำเร็จรูป ปรับลดลง “อย่างแรง” วันที่ 6 ก.ค. ถึง 17.68 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ทำให้ไทยประกาศปรับลดราคาลงลิตรละ 3 บาท ในกลุ่มเบนซิน แก๊สโซฮอล์ ตามโครงสร้างราคาน้ำมันที่เหมาะสม ส่วนดีเซล ยังไม่สามารถปรับลงได้ เพราะมีเรื่องเงินชดเชยกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเกี่ยวข้องอยู่

วันนี้ (8 ก.ค.) ก็ต้องจับตาราคาน้ำมันอีกครั้ง หลังจากราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสล่วงหน้า พุ่งขึ้นมาอีกครั้ง หลังจากสหรัฐเปิดสต๊อกน้ำมันลดลงกว่าที่คาดการณ์ เพราะฉะนั้นระดับการผันผวนของราคาน้ำมันขึ้น ๆ ลง ๆ จะยังได้เห็นต่อไปอีกนาน ตราบใดที่ความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน ยังไม่ได้ข้อยุติ และเศรษฐกิจโลกยังผันผวนหนักอยู่ จะได้ไม่เกิดอาการ “ดีใจได้แป๊บเดียว”

มาร่วมไขคำตอบ…คำถามคาใจใครหลาย ๆ คนว่า ราคาน้ำมันหน้าปั๊มของไทยมีวิธีการคิดอย่างไรกันแน่? สรุปเป็นข้อ ๆ ให้เข้าใจง่าย ๆ

1.ประเทศไทยต้องนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศ ทำให้ปัจจัยหลัก ๆ ที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงราคาในประเทศคือ “ราคาน้ำมันในตลาดโลก”

2.ราคาในการซื้อขายอ้างอิงราคาตลาดโลก และเพื่อให้ได้น้ำมันที่ราคาถูกที่สุด ประเทศไทยจึงต้องอ้างอิง “ราคาตลาดสิงคโปร์” เพราะเป็นตลาดน้ำมันที่ใกล้ประเทศไทยที่สุด โดยเป็นราคาที่ผู้ค้าจากประเทศต่าง ๆ ตกลงซื้อขายกันตามกลไกตลาด เป็นศูนย์กลางการค้าน้ำมันในภูมิภาคเอเชีย และทุกประเทศในภูมิภาคนี้ก็อ้างอิงราคาเดียวกัน

3.นอกจากนี้ เนื่องจากการซื้อขายน้ำมันใช้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ “อัตราแลกเปลี่ยน” จึงเป็นอีกปัจจัยที่ส่งผลต่อราคาน้ำมัน ยิ่งช่วงนี้เงินบาทอ่อน ทำให้ต้นทุนน้ำมันสูงขึ้นอีก

4.ราคาหน้าปั๊มน้ำมันไม่ได้คิดจากราคาน้ำมันดิบโดยตรง แต่จะอ้างอิงจาก “ราคาน้ำมันสำเร็จรูป” เราไม่ได้เอาน้ำมันดิบมาเติมรถยนต์ แต่เดิมน้ำมันเบนซินและดีเซล ซึ่งเรียกว่าน้ำมันสำเร็จรูป ซึ่งในกระบวนการกลั่นน้ำมันจะได้น้ำมันสำเร็จรูปตามสัดส่วนการผลิต ที่แต่ละโรงกลั่นผลิต

5.เมื่อต้นทุนราคาน้ำมันในตลาดโลกเพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบต่อค่าการตลาด ผู้ค้าก็จะพิจารณาปรับขึ้นราคาน้ำมันหน้าปั๊ม และเมื่อราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับลดลง ผู้ค้าก็จะพิจารณาปรับลดราคา เพื่อให้เกิดการแข่งขันได้

6.ราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่ซื้อขายกันที่ตลาดสิงคโปร์นั้น เป็นข้อมูลที่ต้องซื้อขาย ไม่ได้เป็นข้อมูลที่เปิดเผยทั่วไปในสื่อต่าง ๆ (ต้องจ่ายเงินเพื่อซื้อข้อมูล ไม่ได้มีให้ดูฟรี ๆ) ทำให้เรามักได้ยินข้อมูลราคาน้ำมันจากตลาดโลกที่อื่น ๆ  เช่น น้ำมันดิบเวสต์เทกซัส หรือ WTI จากตลาดนิวยอร์ก บ่อยครั้งกว่า (เปิดเผยฟรี ๆ ตามสื่อทั่วไป)

7.การเคลื่อนไหวของราคาน้ำมันในแต่ละตลาด สามารถดูแนวโน้มหรือทิศทางการเคลื่อนไหวได้ โดยราคาน้ำมันดิบ WTI ตลาดนิวยอร์กจะรายงานในตอนเช้าของประเทศไทย ส่วนราคาน้ำมันสำเร็จรูปตลาดสิงคโปร์จะต้องรอตลาดปิดตอนเย็น (เหมือนตลาดหุ้นที่ต้องรอราคาปิดวัน) ซึ่งกว่าจะทราบราคาก็คือตอนค่ำ ๆ ของประเทศไทย

8.ทำให้อาจเกิดความเข้าใจผิดเพราะผู้บริโภคทราบราคา WTI ตั้งแต่เช้า เห็นว่าราคาลงเลยคาดหวังว่าราคาขายปลีกจะประกาศลงตามภายในวันนั้นเลย แต่ในความเป็นจริง ราคาหน้าปั๊มอ้างอิงน้ำมันสำเร็จรูปตลาดสิงคโปร์ซึ่งจะออกตอนค่ำ กว่าราคาหน้าปั๊มจะปรับลงก็ช้าไปอีกวัน

9.นอกจากนี้ โครงสร้างราคาน้ำมันหน้าปั๊มในประเทศไทยนอกจากต้นทุนเนื้อน้ำมันจากโรงกลั่น (อ้างอิงราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่ตลาดสิงคโปร์) ยังมี “ภาษีและกองทุน” ซึ่งบางครั้งภาครัฐมีการใช้กลไกของกองทุนน้ำมันในการชะลอการปรับราคาน้ำมันอีกด้วย