เมื่อวันที่ 10 ก.ค. นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.มาตราการป้องกันการกระทำผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ. … กล่าวว่า ในการประชุมวุฒิสภาวันที่ 11 ก.ค.65 จะมีการพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้ในวาระ 2 และ 3 หลังจากคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาเสร็จแล้ว โดยเชื่อว่า ส.ว.จะโหวตเห็นชอบให้ออกมาบังคับใช้ได้ อันจะเป็นการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมครั้งใหญ่

“ร่างกฎหมายมี 43 มาตรา กรรมาธิการแก้ไขเพิ่มเติม 12 มาตรา มีกรรมาธิการสงวนความเห็น 5 มาตรา ไม่มีสมาชิกวุฒิสภายื่นคำแปรญัตติ หากสภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบด้วยก็จะไม่มีการตั้งกรรมาธิการร่วม 2 สภา กฎหมายก็จะมีผลบังคับใช้ได้ในไม่ช้า”

สำหรับสาระสำคัญของร่างกฎหมายฉบับนี้คือ เพิ่มมาตรการดำเนินการแก่ผู้กระทำผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรงตามที่ระบุไว้ ทั้งระหว่างที่เป็นนักโทษเด็ดขาด และที่พ้นโทษออกมาแล้ว รวมทั้งสิ้น 4 มาตรการ คือ 1.มาตรการแก้ไขฟื้นฟูฯ 2.มาตรการเฝ้าระวังฯ 3. มาตรการคุมขัง และ 4.มาตรการคุมขังฉุกเฉิน ทั้งนี้ มาตรการแรกใช้กับนักโทษเด็ดขาดที่ต้องคำพิพากษาอยู่ในเรือนจำ ส่วนอีก 3 มาตรการต่อมาใช้กับนักเรียนเด็ดขาดที่พ้นโทษออกมาแล้ว โดยใช้ได้รวมกันไม่เกิน 10 ปี

“หนึ่งในมาตรการแก้ไขฟื้นฟูฯคือมาตรการทางการแพทย์ รวมถึงการใช้ยา ซึ่งหมายความถึงการใข้ยาเพื่อกดฮอร์โมนเพศชายด้วย ทำใหมีการเรียกร่างกฎหมายฉบับนี้ว่ากฎหมายฉีดไข่ฝ่อหรือกฎหมายฉีดจู๋ฝ่อด้วย แต่จะใช้ได้ต้องเป็คคำสั่งศาล และผู้กระทำความผิดต้องยินยอม จึงไม่ใช่จะใช้กันง่าย ๆ”

นายคำนูณ ยังได้สรุปภาพรวมของการใช้มาครการต่าง ๆ ในร่างกฎหมายไว้โดยย่อ ดังนี้ 1.อัยการยื่นศาลขอใช้ ‘มาตรการทางการแพทย์’ พร้อมคำฟ้องต่อผู้ทำผิดได้เลย 2.ศาลออกคำสั่งใช้มาตรการในคำพิพากษาและระบุในหมายจำคุก 3.กรมราชทัณฑ์เป็นผู้ดำเนินการ 4.แพทย์อย่างน้อย 2 คนต้องเห็นพ้องต้องกัน 5.ถ้าจะใช้ยา นักโทษเด็ดขาดต้องยินยอม 6.ผลของการใช้มาตรการฯจะนำมาใช้พิจารณาลดโทษ/พักโทษ/ปล่อยตัวก่อนกำหนดตามคำพิพากษา 7.ทั้งนี้ยังมีมาครการเฝ้าระวัง คุมขัง และคุมขังฉุกเฉิน หลังพ้นโทษออกมารวมแล้วไม่เกิน 10 ปี 8.มีผลย้อนหลังครอบคลุมคดีที่เกิดขึ้นก่อนกฎหมายนี้มีผลใช้บังคับ

กมธ.ของวุฒิสภาได้กลั่นกรองร่างกฎหมายฉบับนี้อย่างรอบคอบ โดยยึดหลักสร้างดุลยภาพระหว่างวิธีการเพื่อความปลอดภัยของสังคมและหลักสิทธิมนุษยชนตามรัฐธรรมนูญและตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนที่สหประชาชาติยึดถือ

“หลักการที่ให้มีผลย้อนหลัง เพราะผู้ร่างไม่ถือว่ามาตรการทางการแพทย์หรือมาตรการแก้ไขฟื้นฟูอื่นๆ เป็นโทษทางอาญา แต่ถือเป็นมาตรการที่เป็นคุณต่อผู้กระทำความผิดทางเพศหรือความผิดรุนแรงที่ระบุไว้จนติดเป็นนิสัย ควบคุมตัวเองไม่ได้ จะเรียกว่าเป็นการุณยมาตรการก็ได้” นายคำนูณ กล่าว