หน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทยเดินมาถึงช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญท่ามกลางวิกฤติโควิด-19  ที่สะท้อนให้เห็นศักยภาพการบริหารจัดการแก้ปัญหาของคณะผู้มีอำนาจ

อารมณ์สังคมไทยตอนนี้ผู้คนค่อนประเทศกินไม่อิ่ม-นอนไม่หลับ-ไม่มีรายได้-โศกเศร้าจากการ สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก จากพิษโควิด

ในช่วงสถานการณ์เปราะบางพบ 2 ตัวแปรสำคัญที่พร้อมจุดชนวน ความขัดแย้งรอบใหม่ ในสังคมไทย

(1) ตัวแปรแรก​ เรื่อง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี​ ยืนยันเดินหน้าให้หน่วยงานเกี่ยวข้องโดยเฉพาะกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ​ บังคับใช้ข้อกำหนดฉบับที่ 29 ที่ออกตาม มาตรา 9 พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฯ

โดยอ้างเพื่อจัดการข่าวปลอมหรือ “เฟคนิวส์”  (Fake News) ที่สร้างความปั่นป่วนในสังคมไทย

ข้อกำหนดฉบับที่ 29 ลอกมาจาก มาตรา 9 (3)  พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ​ เขียนแบบครอบจักรวาล “ห้ามการเสนอข่าวหรือการทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใดที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนทั่วราชอาณาจักร”

บรรยากาศสังคมไทยตอนนี้ คล้ายสมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่พยายามควบคุมข้อมูลข่าวสาร โดยออกกฎเหล็กผ่านประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 17 (ปว.17)

ท้ายที่สุด ปว.17 สร้างแรงกดดันมหาศาลในสังคมก่อนเกิดเหตุการณ์วันมหาวิปโยค 14 ต.ค. 2516 และ 6 ต.ค.​ 2519

(2) ตัวแปรที่สอง เรื่องกลุ่มเยาวชนปลดแอกและภาคีเครือข่าย​ ประกาศชุมนุมใหญ่วันที่ 7 ส.ค. ที่ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เวลา 14.00 น.​ เพื่อเคลื่อนขบวนไปพระบรมมหาราชวัง

โดยหวังมีแนวร่วมจากคนที่ไม่พอใจการบริหารงานของรัฐบาลเข้าร่วมจำนวนมาก!!

ขณะที่ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศจากหัวหน้าผู้รับผิดชอบแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง เน้นย้ำเรื่อง ห้ามชุมนุม มั่วสุม ทั่วประเทศ โดยอ้างสถานการณ์ โควิด–19  หากฝ่าฝืนต้องรับโทษตามมาตรา 18 พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ​ จำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน  40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

การออกประกาศฉบับนี้ เพื่อเน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่มีความมั่นใจจะได้รับความคุ้มครอง ตาม มาตรา 17 

พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญาและทางวินัยหากปฏิบัติหน้าที่ในการระงับหรือป้องกันการทำผิดตามกฎหมาย

นาทีนี้ ประเมินล่วงหน้าได้เลย วันที่ 7 ส.ค. หากม็อบ เคลื่อนขบวนไปสนามหลวง เกิดเหตุปะทะแน่นอน

อ้างอิงจากสถิติปี 2564 ม็อบพยายามเคลื่อนขบวนไปที่สนามหลวง 2 ครั้ง และเกิดเหตุปะทะทุกครั้ง (1) วันที่​ 13 ก.พ. “ม็อบราษฎร” ปะทะตำรวจ ใกล้ศาลหลักเมือง ทั้งสองฝ่ายบาดเจ็บหลายคน (2) วันที่​20 มี.ค. “ม็อบรีเดม” บุกรื้อลวดหนามเข้าสนามหลวง ตำรวจตอบโต้ด้วยการระดมยิงกระสุนยาง–ฉีดน้ำแรงดันสูง ขณะที่ม็อบจุดไฟเผากลางถนนราชดำเนิน

สถานการณ์บ้านเมืองตอนนี้ อยู่ในช่วงที่เปราะบาง อ่อนไหวอย่างมาก หลายตัวแปร กำลังเป็นไฟลามทุ่ง พร้อมเป็นระเบิด ทำลายล้าง สร้างความเสียหาย ชนิดที่ยากจะประเมิน.