เมื่อวันที่ 15 ก.ค. นายสรวิศ ลิมปรังษี โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวถึงกรณีที่ทางตำรวจมีแนวคิดที่จะใช้มาตรการขอศาลจับผู้ที่ถูกใบสั่งจราจรจำนวนมาก แต่ไม่ยอมชำระค่าปรับตามกฎหมาย ว่า ตาม พ.ร.บ.จราจร ฉบับที่ 13 ไม่ได้พูดเรื่องนี้ไว้ (การออกหมายจับ) ฉะนั้นการออกหมายจับเป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม.66 วรรคสองกำหนด โดยวรรคหนึ่งบอกว่าถ้าเป็นความผิดโทษจำคุกเกิน 3 ปี เป็นเหตุให้ออกหมายจับได้ ถ้าไม่ถึง 3 ปี แต่มีพฤติการณ์หลบหนีก็เป็นอีกเหตุหนึ่งที่สามารถออกหมายจับได้ ส่วนวรรคสอง บอกว่ามีหมายเรียกแล้วไม่มาถือว่ามีพฤติการณ์หลบหนี ที่ตำรวจจะใช้น่าจะเป็นวรรคสองมีการออกหมายเรียกแล้วไม่มาถือว่ามีพฤติการณ์หลบหนี

โฆษกศาลยุติธรรม บอกว่า เรื่องการพิจารณาออกหมายจับของศาล ถ้าสังเกตวิธีการที่ศาลใช้อย่างคดีนักการเมืองบางคนที่ตกเป็นผู้ต้องหาก็มีการออกหมายเรียกแล้วไม่มา แต่ศาลก็ไม่ได้ใช้วิธีการออกหมายจับทุกครั้ง ฉะนั้นไม่ว่าคดีใหญ่คดีเล็กก็ต้องดูพฤติการณ์แต่ละเรื่องแต่ละคดีไป ศาลก็ต้องพิจารณาข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ดูข้อมูลที่ตำรวจอธิบายมาว่าเคยทำผิดมาแล้วกี่ครั้ง เหมือนกรณีการอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวแต่ละคดี

นายสรวิศ กล่าวว่า การออกหมายเรียกหมายจับผู้เกี่ยวข้องมีทั้งผู้ต้องหากับผู้ที่บังคับใช้กฎหมาย ทางผู้ต้องหาอาจมองว่าเป็นความผิดเล็กน้อยที่ส่วนใหญ่อาจมีเพียงโทษปรับไม่น่าเป็นเหตุถึงขนาดต้องมีการออกหมายจับที่ทำให้เกิดความเดือดร้อนและกระทบต่อสิทธิเสรีภาพ แต่ในขณะเดียวกันทางฝั่งเจ้าหน้าที่ที่บังคับใช้กฎหมายก็มองว่าเมื่อบังคับใช้กฎหมายแล้วไม่ได้รับความเคารพ มีพฤติการณ์ที่ฝ่าฝืนกฎหมายอยู่เป็นนิจ เป็นประจำๆ กฎหมายก็ไม่มีความศักดิ์สิทธิ์และอาจเป็นเหตุให้เกิดอันตรายต่อผู้ใช้รถใช้ถนนคนอื่น หากไม่มีมาตรการที่เข้มงวดจะยิ่งทำให้คนที่กระทำผิดไม่ตระหนักและให้ความสำคัญกับการปฏิบัติตามกฎหมายอันจะนำมา ซึ่งปัญหาการเกิดอุบัติเหตุในท้องถนนที่ทำให้เกิดการบาดเจ็บหรือเสียชีวิตของคนที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่อีกมากมาย การที่มีการออก พ.ร.บ.จราจรฯ ฉบับที่ 13 ก็เพื่อทำให้มีการบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพขึ้น

“ส่วนศาลทำหน้าที่อยู่ตรงกลางระหว่างสองฝ่าย ศาลก็ต้องชั่งน้ำหนักพฤติการณ์เป็นเรื่องๆ ไป ซึ่งเป็นการทำหน้าที่ตามปกติที่ต้องพิจารณาเหตุผลและความจำเป็นในทุกๆ เรื่องอยู่แล้ว” โฆษกศาลยุติธรรม กล่าว